เพราะไม่ควรมีใครถูกทำร้ายด้วย “คำพูด” กับมุมมอง "รัศมีแข"

เพราะไม่ควรมีใครถูกทำร้ายด้วย “คำพูด” กับมุมมอง "รัศมีแข"

สถิติกระทรวงสาธารณสุขปี 2562 พบว่า มีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 6 แสนคน ประเทศไทย มีสัดส่วนนักเรียนถูกรังแกจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันสูงถึงร้อยละ 40 ซึ่งปัจจุบันไทย ติดอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น ที่มีการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนมากที่สุด

ว่ากันว่าคำพูดของมนุษย์ เปรียบเสมือนพรอันประเสริฐของพระเจ้า หลายครั้งสามารถสร้างโลกให้น่าอยู่ และในขณะเดียวกันก็เปรียบเสมือนอาวุธที่ทรงอานุภาพและร้ายแรง คำพูดบางคำสามารถทำลายโลก และเช่นเดียวกัน คำพูดสั้นๆ อาจเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้ในพริบตา ดังนั้น คำพูดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรใช้อย่างระมัดระวังมากที่สุด

รัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น ดารานักแสดงชื่อดัง วัย 33 ปี เป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างที่มีประสบการณ์ถูกทำร้ายจิตใจผ่านคำพูด ที่พบเจอก่อนและหลังเข้าวงการ ได้ร่วมเปิดมุมมอง แชร์ประสบการณ์ ในงานเสวนา Dek Talk by BDMS หัวข้อ Shared Kindness - คำพูดสร้างสรรค์ สร้างสังคมน่าอยู่” จัดโดย บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนและร่วมสนับสนุนการส่งต่อคำพูดที่สร้างสรรค์สู่สังคมไทย ลดการทำร้ายกันผ่านคำพูด

157286258882

สร้างความตระหนักรู้ในข้อเท็จจริงที่ว่าเราทุกคนควรได้รับการปฎิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่ควรมีบุคคลใด หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถูกตัดสินและได้รับถ้อยคำวิจารณ์ รูปลักษณ์ภายนอก เพศสภาพหรือเชื้อชาติที่แตกต่างในเชิงลบ รณรงค์ ลด ละ เลิก การใช้คำพูดทำร้ายจิตใจซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งในสังคม

รัศมีแข เล่าว่า จากประสบการณ์ตั้งแต่เด็กจนโต เรื่องแรกที่โดนล้อบ่อยที่สุด คือ “สีผิว” ตอนเป็นเด็กเราไม่เข้าใจ เราเกิดในเมืองไทย แต่พ่อเราเป็นแอฟโฟรอเมริกัน ซึ่งเราโดนว่ามาตลอดว่า “ขวานฟ้าหน้าดำ” หรือ “ข้าวนอกนา” จนกระทั้ง ล่าสุด เป็นรัศมีแขแล้ว เป็นที่รู้จักแล้ว เราได้ไปออกรายการเด็ก น้องคนหนึ่งเอามือมาโดนขาเราแล้วบอกว่า “อี๊ ดำ ! ตอนนั้นเราช็อค เพราะนั้นคือเด็ก 5 ขวบ

“เรารีบประมวลผลว่า โอเค เราอยู่ในประเทศไทย ประเทศที่คนขาว คือ คนสวย และน้องเป็นคนที่ผิวขาวมาก น้องจึงอยู่ในสถานการณ์ที่ว่าไปไหนก็มีแต่คนบอกว่า ขาว สวย พอเราประมวลผลได้ทั้งหมด เราก็กลืนน้ำลาย อดทน และทำงานกับน้องต่อไป”

157268536680

แม้ทุกวันนี้คนจะรู้จักรัศมีแข แต่เดินไปเรายังได้ยินคำพูดว่า “ทำไมดำจัง” แม้แต่ตอนที่เราไปวิ่งกับพี่ตูน ที่เชียงราย มีคนพูดว่า “เฮ้ย กระเทย” และสิ่งที่พวกเขาได้รับคือ การที่เราหันไปมองแบบนิ่งเฉย ไม่พูดอะไร แต่เขาจะสัมผัสได้ว่าเราไม่โอเค คนที่พูดก็จะเริ่มหน้าเสีย หลายคนอินบ็อกเข้ามาปรึกษา ระบายเรื่องการถูกล้อ และส่วนใหญ่เป็นเรื่องสีผิว ซึ่งเป็นเรื่องที่โบราณมาก แต่ยุคนี้ยังมีอยู่

สิ่งที่เราบอกกับน้องๆ ที่ปรึกษา คือ เราอยู่ในประเทศที่มีรสนิยม ขาว เท่ากับ สวย เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบบียอนเซ่ หรือ รีฮานนา  ผู้ชายบางคนชอบนักฟุตบอลผิวสีด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องคิดอะไร สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ทำความเข้าใจตัวเอง

“แขจะยืนมองกระจก มองตัวเอง และบอกตัวเองเสมอว่า พ่อเราเป็นแอฟโฟรอเมริกัน พ่อเราสูง 190 ซม. หลายคนบอกเราว่า กระเทยควาย แต่หากเราสูง 150 ซม. เราจะมีปัญหาหรือเปล่า อะไรที่ทำให้เราผิดปกติ พ่อเราสูง 190 และเราตัวใหญ่ด้วยโครงสร้างของเรา เพราะฉะนั้น มันโอเค”

สีผิวเหมือนกัน พ่อเราเป็นคนผิวสี แม้ว่าแม่จะเป็นคนเหนือแต่ไม่ได้ขาว หากเราเกิดขาวขึ้นมา อันนี้ก็แน่นอนว่าอาจจะเป็นโรคก็ได้ ดังนั้น ตอนนี้เราจึงมองว่าผิวเราสวยมาก เพราะฉะนั้น ต้องทำความเข้าใจตัวเอง ว่าเราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ เราไม่ผิด ผิวสีแทนก็สวยได้ มีอีกหลายคนที่มีรสนิยมแตกต่างชอบคนผิวแทน คนที่ยอมรับในตัวเรามีแน่นอน อย่าไปรับมาเป็นปัญหาของเรา เพราะนั้นเป็นปัญหาเขา

แขมีพี่สาวลูกครึ่งสวิสฯ คนละพ่อ แต่เขาถูกดูแลจากครอบครัว ญาติ คนละแบบกับแขตั้งแต่เด็กเพราะเขาผิวขาว ดังนั้น ครอบครัวก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ยาก แม้กระทั้งเรื่องเพศ ปัจจุบัน เราทำทุกสิ่ง ทุกอย่าง จนตอนนี้เรามีหน้าที่การงานที่ดีที่สุด เราเอาสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาตัวเอง พิสูจน์ให้ได้ว่า วันหนึ่งเราจะประสบความสำเร็จ

รัศมีแข กล่าวต่อไปว่า ทุกคนมีพรสวรรค์ ครั้งหนึ่งคนที่เคยถูกเรียกว่า ข้าวนอกนา นิโกร ขวานฟ้าหน้าดำ คนไม่อยากจับ รังเกียจ ญาติบอกว่าเป็นเกย์ ทำไมไม่ชอบผู้หญิง แต่วันหนึ่งคนๆ นั้นเขาสามารถเป็นที่รักของคนทั้งประเทศได้ สำหรับคนที่ถูกบูลลี่ ให้พยายามค้นหาว่าเราถนัดอะไร และใช้สิ่งที่เขาบูลลี่มาเป็นแรงผลักดัน เป็นอาวุธที่ดี ต่อสู้ให้เขาเห็น ทุกสิ่งเกิดขึ้นได้ ทุกคนมีค่า

“แขเชื่อว่าเราทุกคนนั้นแตกต่างกัน ไม่มีใครควรได้รับคำพูดเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถ้อยคำวิจารณ์ รูปลักษณ์ภายนอก หรือเพศสภาพของผู้อื่น” รัศมีแข กล่าว

157268536791

ทั้งนี้ จาก สถิติของกระทรวงสาธารณสุขปี 2562 พบว่า สถานการณ์การรังแกกันในโรงเรียนมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น โดยพบว่ามีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณหกแสนคน ประเทศไทย มีสัดส่วนนักเรียนถูกรังแกจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันสูงถึงร้อยละ 40 ซึ่งปัจจุบันไทย ติดอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นปัญหาที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน

นายแพทย์กมล แสงทองศรีกมล ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพ อธิบายว่า การกลั่นแกล้งในโรงเรียนมีหลายรูปแบบและหลายระดับ ตัวอย่างที่ 1 นักเรียนชั้น ป.2 ฟันน้ำนมหลุด โดนเพื่อนล้อ “อีฟันหล่อ” ขั้นที่ 1 เติมสรรพนาม “อี” นำหน้า ขั้นที่ 2 คือ ล้อบ่อยๆ และขั้นที่ 3 ล้อกันเป็นกลุ่ม เป็นเทคนิคของการบูลลี่ในโรงเรียน หรือใช้เสียงหัวเราะ มองโดยสายตาเหยียดหยาม บอยคอด หนักขึ้นไปอีก ก็คือ ถ่ายรูปไปโพสในโซเชียลมีเดีย คำถามคือ “ฟันหล่อผิดตรงไหน”

ตัวอย่างที่ 2 เด็กนักเรียนชั้น ม. 1 อยู่สายวิทย์คณิตห้องคิง แต่เลือกชมรมภาษาฝรั่งเศส โดนเพื่อนล้อว่า “แกอยากมีแฟนเป็นคนฝรั่งเศสใช่ไหมล่ะ” จากเพื่อนล้อ 2-3 คน กลายเป็นทั้งห้อง และทั้งระดับชั้น คิดดูว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น และ ตัวอย่างที่ 3 เด็กผู้ชายชั้น ม.3 โดนล้อชื่อพ่อชื่อแม่ แต่คนนี้หนักเพราะมาด้วยภาวะซึมเศร้า ไม่ยอมเล่าให้แม่ฟัง บังเอิญว่าแม่เป็นแพทย์ที่หลายคนรู้จัก เค้นอยู่นานกว่าเด็กจะยอมเล่าให้ฟัง

สิ่งที่เราจะทำคือ ส่งจดหมายไปหาครู ด้วยข้อความที่ให้เกียรติ คือ ขอความร่วมมือครู ช่วยดูแลควบคุม หลายเคสสำเร็จ จากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือหากไม่สำเร็จค่อยส่งจดหมายไปหาผู้อำนวยการโรงเรียน เพราะโรงเรียนสำคัญมาก โรงเรียนอินเตอร์หลายแห่ง มีนโยบายต่อต้านการรังแกกันในโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนอื่นๆ ควรจะมี

"ในโรงเรียนไม่ควรมีการบูลลี่ ไม่ว่าประเภทใดก็ตาม คนที่ถูกบูลลี่น่าสงสาร หลายคนอัดอั้น บอกใครไม่ได้ ครูบางคนก็ไม่เข้าใจ ดังนั้น พ่อแม่ควรมีบทบาท ทำให้เขาหายเจ็บ และต่อสู้กับการบูลลี่ได้ นอกจากนี้ เด็กบางคนไม่กล้าฟ้องพ่อแม่ แนะนำว่า เราอย่าเพิกเฉย และอย่าคิดว่าเป็นความผิดของตัวเอง ตรงนี้สำคัญ สุดท้ายคือ ต้องให้คนอื่นรู้ โดยเฉพาะในไซเบอร์บูลลี่ ต้องแคปเจอร์และบอกให้คนรอบข้างรู้จะได้หาทางช่วยกัน และคนรอบข้างต้องมองว่ามันคือเรื่องใหญ่" นายแพทย์กมล กล่าว

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า หลายคนคิดว่าการบูลลี่ไม่ใช่เรื่องใกล้ตัว เกิดขึ้นแค่ในโรงเรียน ในชุมชน แต่ความจริงเกิดขึ้นทุกสังคมแม้แต่ในรัฐสภา แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เมื่อเจอหน้ากัน แล้วทักกันว่า “อ้วนไปแล้วนะ” หรือ “ทำผมอะไรมา” บางครั้งอาจไม่คิดอะไรจนกลายเป็นความเคยตัว เราไม่ได้ตระหนักว่ามันกระทบความรู้สึกคนฟัง และบางทีเราก็ยอมรับเหมือนเป็นวัฒนธรรม

157268536763

แม้แต่ในมหาวิทยาลัย มีเด็กมาเล่าให้ฟังว่า “อาจารย์บอกว่า เข้าใจว่าเธอขยัน มีความพยายาม แต่หากสติปัญญาไม่ได้ แต่พยายามทั้งๆ ที่โง่ๆ ก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จ” นี่คือ คำพูดของอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่หากเรานิ่งเฉยเป็นสัญญานว่าเรายอมรับ ส่วนหนึ่งการที่เราไปบอกเขาว่า “ไม่ควรทำ” มักไม่เวิร์ค หลักการ คือ ให้บอกความรู้สึก เช่น “อาจารย์ทราบไหมว่าที่อาจารย์พูดวันนั้นหนูเสียใจ หนูรู้ว่าอาจารย์อยากจะให้กำลังใจ แต่อาจารย์ควรจะ...” ควรบอกความรู้สึกมากกว่า การห้ามไม่ให้เขาพูด

ในคอนเซปต์ของความรุนแรงมีทั้งเรื่องของ “คำพูด” แต่กว่า 70% ที่กระทบความรู้สึก คือ “การกระทำ” สีหน้าท่าทาง แววตา น้ำเสียง และบางที “ความเงียบ” ก็กระทบได้เหมือนกัน เช่น หากคนในบ้าน คนรอบตัว สังคม มีความเย็นชา ห่างเหิน ต่างคนต่างอยู่ ทำให้ไม่มีตัวตน ในทางจิตวิทยา เรียกว่า ความรุนแรงได้

“หากเราย้อนถามตัวเองว่า เราก็เคยอยู่ในประสบการณ์เหล่านี้ แล้วเราทำอะไร  การที่เราเห็นความรุนแรงไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง แล้วเราเงียบ ในเชิงจิตวิทยา หมายความว่าเราอนุญาต”

“ดังนั้น การรับมือ คือ ต้องเข้าใจว่าความรุนแรงเกิดได้ทุกที่ เราต้องเป็นหูเป็นตา อย่าคิดว่าความรุนแรงที่เกิดในสังคมนั้นเป็นเรื่องของพื้นฐานของชุมชน ไม่เกี่ยว สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทุกที่ เห็นแล้วต้องช่วยกันเป็นปากเป็นเสียง อย่าอนุญาตให้พฤติกรรม หรือ คำพูดเหล่านั้นดำเนินต่อไป และต้องพูด โดยไม่ใช้ความโกรธ เพราะคนเหล่านั้นจะยิ่งได้ใจ” แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าว