นายกฯ สั่งอัดแพคเก็จกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี

นายกฯ สั่งอัดแพคเก็จกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี

ครม.เศรษฐกิจ ยอมรับเศรษฐกิจไตรมาส 3 แผ่ว การบริโภคภายใน สินค้าคงทนชะลอตัวกดตัวเลขต่ำกว่าคาด จับตา สศช.แถลงจีดีพี 18 พ.ย.นี้ ก่อนเคาะกระตุ้นอีกรอบ

ครม.เศรษฐกิจ ยอมรับเศรษฐกิจไตรมาส 3 แผ่ว การบริโภคภายใน สินค้าคงทนชะลอตัวกดตัวเลขต่ำกว่าคาด จับตาสศช.แถลงจีดีพี 18 พ.ย.นี้ ก่อนเคาะกระตุ้นอีกรอบ “บีโอไอ” เผยมูลค่าลงทุน 9 เดือน ลดลง 11% “คลัง” เล็งอุ้มอสังหาฯ ราคาสูงหลังเคลียร์สต็อกบ้านต่ำ 3 ล้าน หมด ตั้งเป้าดันตลาดอสังหาฯโต 5-7% ปีหน้า

คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวานนี้ (1 พ.ย.) ได้นำข้อมูลภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3 มาพิจารณาอย่างใกล้ชิด หลังจากมีแนวโน้มที่ดัชนีชี้วัดบางตัวต่ำกว่าคาดการณ์

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะเลขานุการครม.เศรษฐกิจ เปิดเผยว่าครม.เศรษฐกิจได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมาพบว่าภาคการส่งออก การท่องเที่ยวและการเบิกจ่ายภาครัฐมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง โดยเฉพาะการซื้อสินค้าคงทนที่ชะลอตัวลงมากอย่างมีนัยยะสำคัญเช่นรถยนต์ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 มีสัญญาณที่แผ่วลง

ทั้งนี้ สอดคล้องกับข้อมูลเศรษฐกิจหลายประเทศที่เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่3 จะขยายตัวลดลงจากไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 เช่น สหรัฐเศรษฐกิจไตรมาส 3 ขยายตัวได้ 2% จากที่ขยายตัวได้ 2.7% และ2.3% ในไตรมาสที่ 1 และ 2 ขณะที่เศรษฐกิจของจีนก็ขยายตัวได้ 6% จากที่ขยายตัวได้ 6.4% และ6.2% ในไตรมาสที่ 1 และ2 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ครม.เศรษฐกิจจะติดตามสถานการณ์และข้อมูลเศรษฐกิจรวมทั้งผลิตภัณฑ์มวลในประเทศ (จีดีพี) ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะแถลงจีดีพีไตรมาส 3 ในวันที่ 18 พ.ย.ว่าเป็นอย่างไร จากนั้นวันที่ 22 พ.ย.นี้ ครม.เศรษฐกิจจะนำข้อมูลมาประเมินอีกครั้งว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวในกรอบ 2.7-3.2% ตามที่ ครม.เศรษฐกิจคาดการณ์ไว้หรือไม่ โดยหากตัวเลขไม่น่าพอใจก็ต้องมาดูว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะมีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติมหรือไม่

“การประชุม ครม.เศรษฐกิจในวันที่ 22 พ.ย.นี้ รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงเตรียมมาตรการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจมาเสนอได้เลยหากจำเป็น” นายกอบศักดิ์ กล่าว

คลอดแผนหนุนเอสเอ็มอี

นอกจากนี้ ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบมาตรการส่งเสริมและช่วยเหลือเอสเอ็มอีครบวงจร 13 มาตรการ หรือ มาตรการ MSME 2020 ซึ่งเป็นส่วนเสริมโครงการกองทุนส่งเสริมเอสเอ็มอี 1 หมื่นล้านบาท ที่รัฐบาลเห็นชอบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพัฒนาระบบการให้ความรู้ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร 

การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการ การส่งเสริมด้านการตลาด การฟื้นฟูธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยให้เอสเอ็มอีเริ่มต้นธุรกิจใหม่ได้เร็วหากธุรกิจมีปัญหา โดยมีกระบวนการฟื้นฟูธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ

นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อํานวยการรักษาการแทนผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สถานการณ์เอสเอ็มอีขณะนี้ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าที่กระทบการส่งออก แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเอสเอ็มอีเติบโตเพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนเอสเอ็มอีต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจาก 37% เป็น 43% ขนาดรายได้ของเอสเอ็มอีเติบโตจาก 5 ล้านล้านบาทเป็น 7 ล้านล้านบาท 

สำหรับมาตรการที่ผ่าน ครม.เศรษฐกิจ จะช่วยให้เอสเอ็มอีได้รับการช่วยเหลือมากขึ้น โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจภายในและภายนอก

ยอดลงทุน9เดือนลดลง11%

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รับทราบภาวะการส่งเสริมการลงทุนช่วง 9 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ก.ย.) ว่ามียอดขอส่งเสริมการลงทุนรวม 1,165 โครงการ เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการลงทุน 3.14 แสนล้านบาท ลดลง 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปีที่ผ่านมามีโครงการขนาด 1.5 แสนล้านบาทมาขอส่งเสริมการลงทุน

สำหรับการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มี 689 โครงการเงินลงทุนรวม 2.03 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 69% โดยญี่ปุ่นลงทุนในไทยสูงสุด 5.9 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยอันดับ 2 คือ จีนมีคำขอส่งเสริมการลงทุน 4.5 หมื่นล้านบาท และอันดับ 3 สวิสเซอร์แลนด์ 1.1 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการที่ขอส่งเสริมการลงทุนช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 50% มูลค่ารวม 1.85 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในสาขาอุตสาหกรรมดิจิทัล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มี 360 โครงการ เพิ่มขึ้น 37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวก่อน มีวงเงินลงทุน 1.67 แสนล้านบาท

กระตุ้นลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ บีโอไอเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ การปรับปรุงประเภทกิจการเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยปรับปรุงสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขในสินค้าส่วนนี้ให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอนาคต เพื่อชักจูงบริษัทเป้าหมายและช่วยให้ไทยเป็นฐานการผลิตเทคโนโลยีที่สูงขึ้น จะได้รับสิทธิประโยชน์เว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 5-8 ปี ขึ้นกับเทคโนโลยีขั้นสูง โดยการวิจัยและพัฒนาได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงสุด 8 ปี

ส่วนนโยบายการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ได้เห็นชอบสูตรการกำหนดเงื่อนไขการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าแบบนำเข้าทั้งคัน (CBU) ในไทยเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเริ่มการผลิต ซ่ึงกำหนดจำนวนการนำเข้าโดยคำณวนจากเงื่อนไข 4 ข้อ คือ ปีที่เริ่มการผลิต ขนาดและมูลค่าการลงทุน ปริมาณการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย และชิ้นส่วนสำคัญที่มีการผลิตในประเทศไทย 

ขณะเดียวกันได้เปิดส่งเสริมกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า โดยขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจากเดิมที่สิ้นสุดปลายปี 2561 โดยขยายระยะเวลาและปรับปรุงให้ครอบคลุมยานพาหนะไฟฟ้าทุกประเภท โดยมีเงื่อนไขการขอส่งเสริมต้องมีหัวจ่ายไฟฟ้ารวมไม่น้อยกว่า 40 หัวจ่าย และเป็นประเภท Quick Charge ไม่น้อยกว่า 25% ของจำนวนหัวจ่ายรวม โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี

คลังจ่ออุ้มบ้านราคา‘เกิน3ล้าน’เพิ่ม

นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติหน้าที่กระทรวงการคลัง) กล่าวหลังหารือผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์วานนี้ (1พ.ย.) ว่า ได้หารือแนวทางกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยนอกจากมาตรการกระตุ้นผ่านการลดค่าจดจำนองและค่าโอนเหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท รวมถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 5 หมื่นล้านบาทแล้ว ส่วนผู้ประกอบการจะจัดแคมเปญลดราคาเพื่อกระตุ้นยอดขายปลายปี

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้แจ้งว่า ขณะนี้ มีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จพรัอมโอนราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท 3.5 หมื่นยูนิต ดังนั้น จึงมีเป้าหมายที่จะลดสต๊อกภายในไตรมาส 4 ปีนี้ หากระบายได้จะกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯได้

ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังแจ้งผู้ประกอบการว่า เมื่อระบายสต็อกได้แล้ว ระยะต่อไปจะกระตุ้นที่อยู่อาศัยราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป จะช่วยให้อสังหาริมทรัพย์ปีหน้าขยายตัว 5-7%

“เรามีแผนจะเข้ามาช่วยกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯต่อเนื่อง เพราะหากธุรกิจนี้ซบเซา จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เป็นซัพพลายเชนทั้งหมด”

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขอให้กระทรวงการคลัง ประสานกระทรวงมหาดไทย เร่งออกประกาศลดค่าโอนและจดจำนอง ซึ่งนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เร่งให้กระทรวงมหาดไทยออกประกาศดังกล่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา

รวมทั้ง ผู้ประกอบการเสนอให้กระทรวงการคลังเร่งหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แก้ไขหลักเกณฑ์มาตรการกำกับดูแลสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (LTV) โดยเสนอให้กู้ได้ 100% โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นบ้านหลังแรกเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของผู้ประกอบการ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-กรุงศรีชี้เศรษฐกิจไทยอ่อนแรง โอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยต่ำ หั่นจีดีพีเหลือ2.9%ส่งออกติดลบ2.8%
-เศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติปี 2540
-จับตาประกาศจีดีพี เศรษฐกิจไทยไตรมาส2 ชะลอโตแค่2.7%
-อาเซียนจะอยู่อย่างไรในเศรษฐกิจโลกแบบนี้