โบรกโชว์กำไรไตรมาส3ฟื้น รายได้ค่าฟีหนุน ค่าคอมมิชชั่นยังวูบ

โบรกโชว์กำไรไตรมาส3ฟื้น รายได้ค่าฟีหนุน ค่าคอมมิชชั่นยังวูบ

3 โบรก โชว์กำไรไตรมาส 3 ฟื้น ได้แรงหนุนจากค่าธรรมเนียมจำหน่ายหลักทรัพย์ ขณะที่ค่านายหน้ายังวูบต่อ แม้มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยพุ่ง 25% จากครึ่งปีแรก แตะ 6.13 หมื่นล้านบาทต่อวัน

ช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ (SET) อยู่ที่ 61,385.3 ล้านบาทต่อวัน เพิ่มขึ้น 25% จากค่าเฉลี่ยครึ่งปีแรก โดยกรอบดัชนีต่ำสุดและสูงสุดอยู่ที่ 1,604.03 จุด และ 1,740.91 จุด ทั้งนี้ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในช่วงไตรมาส 3 สูงกว่าค่าเฉลี่ยตลอดทั้งปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 53,042.11 ล้านบาท โดยไตรมาส 1 ปี 2562 มีค่าเฉลี่ยที่ 44,998.91 ล้านบาท และไตรมาส 2 ปี 2562 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 53,143.09 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผลประกอบการของหุ้นในกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ 3 แห่ง ได้แก่ บล.เอเซียพลัส (ASP) บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (MBKET) และบล.โนมูระ พัฒนสิน (CNS) ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ต่างปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน

สำหรับ บล.เอเซียพลัส มีกำไรสุทธิ 90.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% โดยหลักหนุนจากรายได้ค่าธรรมเนียมการจัดจำหน่าย ค่านายหน้าจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้า รวมถึงดอกเบี้ยและเงินปันผล ส่วนภาพรวม 9 เดือน มีกำไรสุทธิ 275.74 ล้านบาท ลดลง 32% จากปีก่อน เป็นผลจากค่านายหน้าการซื้อขายหลักทรัพย์ และค่าธรรมเนียมการจัดจำหน่ายที่ลดลง แต่ขณะเดียวกันก็มีกำไรจากการซื้อขายเงินลงทุนและตราสารอนุพันธ์ที่เพิ่มขึ้นจาก 96.94 ล้านบาท เป็น 167.08 ล้านบาท

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ช่วงไตรมาส 3 มีกำไรสุทธิ 109.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 102% จากปีก่อน อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการ 9 เดือน กำไรสุทธิทำได้ 149.04 ล้านบาท ลดลง 52.87% จากปีก่อน โดยหลักเป็นผลจากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง 21.28% เป็นผลจากมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงจาก 6.14 หมื่นล้านบาท เป็น 5.39 หมื่นล้านบาท ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนบุคคลซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัทลดลงจาก 41.04% เป็น 34.47% ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจาก 52.82 ล้านบาท เป็น 64.88 ล้านบาท หรือ 22.82% จากการเป็นที่ปรึกษาการเงิน

ขณะที่ บล.โนมูระ พัฒนสิน มีกำไรช่วงไตรมาส 3 เท่ากับ 60.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อน แม้รายได้รวมจะยังลดลง 3.38% เป็น 348.34 ล้านบาท แต่ค่าใช้จ่ายลดลงในอัตราที่มากกว่า คือ 7.56% ทั้งนี้ รายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้ายังลดลง 3.97% ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้น 10.89%

นายเผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ ประธานสายธุรกิจรายย่อย บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในอนาคตบริษัทหลักทรัพย์จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์และติดตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดบ่อยมากขึ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีความหลากหลายมากขึ้น แต่ความต้องการในแต่ละผลิตภัณฑ์ก็แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา ในบางช่วงนักลงทุนอาจต้องการซื้อขายหุ้นเพิ่มขึ้น บางช่วงเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้า บางช่วงอาจจะเป็นการลงทุนต่างประเทศ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดบริษัทหลักทรัพย์จำเป็นจะต้องพัฒนาผู้แนะนำการลงทุนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

“สำหรับ บล.หยวนต้า จะยังคงโฟกัสที่การพัฒนาผู้แนะนำการลงทุนให้ดีที่สุด ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบที่ดีที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนให้ดีที่สุด เช่น ระบบออโต้เทรด รวมถึงระบบในการส่งข้อมูลต่างๆ ส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อสร้างทางเลือกให้กับนักลงทุนในแต่ละช่วงเวลา” นายเผดิมภพ กล่าว

ด้าน นายวิชัย วชิรพงศ์ หรือ เสี่ยยักษ์ นักลงทุนรายใหญ่ เปิดเผยว่า ในปัจจุบันคิดว่าสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยที่ซื้อขายอยู่ในตลาดคิดเป็นเพียงประมาณ 30% จากก่อนหน้านี้ที่น่าจะอยู่ประมาณ 60% โดยส่วนตัวมองว่าการลดลงของสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยมีสาเหตุจาก 3 ส่วนหลัก ประการแรก คือ การเพิ่มขึ้นของ DW ซึ่งออกโดยบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วนักลงทุนที่เข้าไปซื้อขาย DW มักจะขาดทุนกลับมา

ประการที่สอง คือ ภาวะตลาดที่เป็นขาลงมาตั้งแต่ต้นปี ทำให้เงินทุนของนักลงทุนรายย่อยลดลง รวมถึงการติดหุ้นอยู่และไม่ได้ขายออกไป และประการสุดท้าย คือ การเข้ามาของระบบซื้อขายอัตโนมัติ ทำให้นักลงทุนรายย่อย รวมถึงรรายใหญ่เองเจอการแข่งขันที่สูงมากยิ่งขึ้น

“ในเวลานี้นักลงทุนรายย่อย รวมถึงนักลงทุนที่อยู่ในตลาดมานานอย่างตัวผมเอง ก็ถูกดิสรัปจากทั้งเทคโนโลยีและนักลงทุนรุ่นใหม่ๆ อย่างการเข้ามาของเอไอก็ทำให้รูปแบบการลงทุนเดิมๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่งก็เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยส่วนตัวก็คงต้องยอมรับความจริง หากไม่พัฒนาให้ทัน ก็ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการลงทุน ส่วนตัวคงจะต้องเน้นลงทุนระยะยาว หาหุ้นที่มีเหตุผลดีหน่อย รอรับเงินปันผล” นายวิชัย กล่าว