บอร์ดบีโอไอ เห็นชอบเพิ่ม 'เมืองนวัตกรรมอาหาร' อีก 5 แห่ง

บอร์ดบีโอไอ เห็นชอบเพิ่ม 'เมืองนวัตกรรมอาหาร' อีก 5 แห่ง

บอร์ดบีโอไอ เห็นชอบเพิ่ม “เมืองนวัตกรรมอาหาร” อีก 5 แห่ง รวมเป็น 13 แห่ง ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของโลก

วานนี้ (1 พ.ย.62) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 2/2562 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เข้าร่วมด้วย



 นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำเรื่องการดูแลและบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบในอนาคต รวมทั้งย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่เด็กเยาวชน นักเรียน และนักศึกษา ได้รับทราบถึงการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนในประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญในการศึกษาและเรียนรู้ในสาขาวิชาที่ตรงกับความต้องการของตลาดตลอดจนการพัฒนาประเทศในอนาคต



ภายหลังการประชุม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่าที่ประชุมได้เห็นชอบให้พื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ Food Innopolis อีก 5 แห่งตามโครงการของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน  โดยเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร  โดยก่อนหน้านี้ บอร์ดบีโอไอได้ให้ความเห็นชอบพื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหารไปแล้วจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ เมืองนวัตกรรมอาหารในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

สำหรับโครงการในกิจการเป้าหมายที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ Food Innopolis ดังกล่าว นอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 - 10 ปี ตามเกณฑ์พื้นฐานของแต่ละประเภทกิจการแล้ว ยังจะได้รับสิทธิการลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี หรือได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติ บุคคลเพิ่มเติมอีก 2 ปี แล้วแต่กรณี  ตัวอย่างกิจการเป้าหมาย เช่น กิจการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ กิจการวิจัยและพัฒนา และกิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น มาตรการนี้จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของโลก และสนับสนุนโครงการเมืองนวัตกรรมอาหารของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้เปิดประเภทกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า หลังจากที่ส่งเสริม “กิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า” ซึ่งเดิมได้สิ้นสุดไปแล้ว เมื่อสิ้นปี 2561 ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการให้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะรองรับยานพาหนะไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าให้ครอบคลุมสำหรับยานพาหนะที่หลากหลายทั้งทางบกและทางน้ำ ไม่จำกัดเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้ง ยังกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมจากเดิม คือ จะต้องมีหัวจ่ายรวมไม่น้อยกว่า  40 หัวจ่าย โดยเป็นประเภท Quick Charge ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนหัวจ่ายประจุไฟฟ้าทั้งหมดภายใต้โครงการ เพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ในการติดตั้งหัวจ่ายประจุไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการมากขึ้น โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี

รวมทั้งที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับปรุงประเภทกิจการ เงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ในหมวดอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และเพื่อชักจูงบริษัทเป้าหมายและช่วงชิงโอกาสในการสร้างให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะมีส่วนทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสินค้าส่งออกหลักของไทย และสร้างการจ้างงานทักษะสูงมากขึ้นในประเทศไทย โดยเปิดให้การส่งเสริมกิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะและกิจการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 - 8 ปี  พร้อมทั้งที่ประชุมอนุมัติให้การส่งเสริมโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ จำนวน 1 โครงการ  มูลค่าเงินลงทุน 22,268 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา มีขนาดกำลังผลิต 560 เมกะวัตต์

พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้รับทราบภาวะการส่งเสริมการลงทุนช่วง 9 เดือนของปี 2562 (มกราคม-กันยายน) ซึ่งมียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,165 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 1,048 โครงการ ขณะที่มีมูลค่าการลงทุนรวม 314,130 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในปี 2561 มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในกิจการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป โดยโครงการลงทุนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนของปีนี้ อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 585 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 50 ของจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งหมด มีมูลค่ารวม 185,710 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 59 ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมทั้งหมด ซึ่งหากพิจารณาในด้านจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมมากที่สุดจะอยู่ในอุตสาหกรรมดิจิทัล ขณะที่ในด้านมูลค่าเงินลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ โครงการที่ยื่นคำขอรับส่งเสริมเป็นโครงการต่างชาติถือหุ้นทั้งสิ้น ร้อยละ 38 คนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น ร้อยละ 36 และโครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ ร้อยละ 26

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. – ก.ย. 2562) บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนแล้วรวม 1,074 โครงการ มูลค่ารวม 274,340 ล้านบาท ซึ่งช่วยสร้างงานให้คนไทย 59,052 ตำแหน่ง ส่งเสริมให้เกิดการใช้วัตถุดิบในประเทศ มูลค่า 454,322 ล้านบาทต่อปี และคิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่สร้างรายได้เข้าประเทศ 507,368 ล้านบาทต่อปี