ธปท.ผุดโครงการฟื้นฟู‘เอสเอ็มอี’ ดึง‘บสส.-บสก.’ปล่อยกู้หวังช่วยผู้ประกอบการ

ธปท.ผุดโครงการฟื้นฟู‘เอสเอ็มอี’ ดึง‘บสส.-บสก.’ปล่อยกู้หวังช่วยผู้ประกอบการ

บสย.ลั่นอยู่ระหว่างผนึกกำลัง 5 หน่วยงานรัฐ-เอกชน ผุดโครงการช่วยเอสเอ็มอีที่เคยล้มและผ่านการเป็นหนี้เสีย ให้กลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้ง โดยให้บสส.และบสก.เข้าไปปล่อยกู้ก้อนใหม่

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกัน สินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า ทั้ง 5 หน่วยงาน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.),บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด มหาชน (BAM), และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง(สศค.)อยู่ระหว่างการจัดตั้งโครงการ เพื่อเข้าไปปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี ที่เคยล้มละลาย และเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)มาในอดีต แต่ปัจจุบันได้มีการปรับโครงสร้างทางการเงินเสร็จสิ้นมาแล้ว อย่างน้อย 18 เดือน

โดยจุดประสงค์ในการเข้าไปปล่อยสินเชื่อคนที่เคยเป็นเอ็นพีแอลกลุ่มนี้ เพื่อให้สามารถกลับมาเข้าสู่ระบบการเงินและเข้าสู่สินเชื่อได้อีกครั้ง เนื่องจากปัจจุบัน เอสเอ็มอีกลุ่มนี้ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อใหม่ได้ ธปท.จึงอยากให้ทั้งบสย.บสส.และบสก.เข้าไปช่วยเหลือ กลุ่มนี้ โดยการเข้าไปปล่อยสินเชื่อ ประเภทเงินทุนหมุนเวียน ให้เอสเอ็มอีกลับมาเดินหน้าธุรกิจได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การริเริ่มโครงการนี้ เป็นการเข้าไปปล่อยสินเชื่อ เฉพาะลูกหนี้ของ 2แห่งเท่านั้นในเบื้องต้น คือ บสส.,และบสก. ในขณะที่ บสย.จะเข้าไปช่วยค้ำประกันให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้

“ตอนนี้รอธปท.ไฟเขียวเรื่องนี้ หลังมีการหารือร่วมกันไปแล้ว ระหว่าง 5 หน่วยงานไปแล้วก่อนหน้านี้ โครงการนี้ธปท.เป็นคนเสนอ เพื่ออยากให้ทั้ง 3 แห่ง ทั้งบสย. บสส.บสก. เข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มนี้ที่อยู่ในพอร์ตของตัวเอง ก่อนให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้ มันเหมือนฉุบชีวิตคนที่เคยติดคุก คนที่เคยตายให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง”

ทั้งนี้ หากดูลูกหนี้ ในพอร์ตของ บสส. และบสก. ที่เคยผ่านการปรับโครงสร้างหนี้เสร็จสิ้นมาแล้วอย่างน้อย 18 เดือน มีกว่า 10,000 รายในปัจจุบัน

ส่วนรูปแบบการเข้าไปปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มนี้ เบื้องต้น จะมีการควบคุมการเบิกใช้จ่ายสินเชื่อ โดยลูกหนี้ต้องโอนสิทธิการรับเงินมาที่ บสส.และบสก. เพื่อนำไปชำระค่าต่างๆเช่น ชำระค่าสินค้า การซื้อของขาย การจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานต่างๆ เพื่อไม่ให้มีการนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ และสามารถควบคุมการใช้จ่ายสินเชื่อก้อนใหม่ได้ง่ายขึ้น และสามารถลดความเสี่ยงในด้านการปล่อยสินเชื่อในอนาคตด้วย ส่วนวงเงินการปล่อยกู้คาดไม่เกิน 2ล้าน หรือ 5 ล้านบาท

โดยคาดว่า โครงการนี้ เบื้องต้นจะเสร็จสิ้นภายใต้สิ้นปีนี้ และสามารถนำโครงการออกมาใช้ได้ประมาณต้นปี 2563

“ด้านการเบิกใช้เงินสินเชื่อก้อนใหม่ ทั้งบสส.และบสก.จะคุมการใช้เงินทั้งหมด โดยให้การจ่ายเงินค่าสินค้า ค่าพนักงานต่างๆผ่านทั้งสองแห่ง เพราะเพราะคนที่ได้ชื่อว่าตายไปแล้ว จำเป็นที่ต้องอยู่ในการควบคุมของหมอ เบื้องต้นอยู่ระหว่างการหารือวงเงินการปล่อยกู้ คาดไม่เกิน 2 หรือ 5 ล้านบาท”

นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (บสส.) กล่าวว่า เบื้องต้นได้มีการหารือโครงการนี้ไปบ้างแล้ว แต่อยู่ระหว่างการสรุปเป็นทางการ โดยเมื่อมีความชัดเจนจะมีนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด)ของบริษัทเพื่ออนุมัติด้วย

“เราสามารถเข้าไปปล่อยกู้กลุ่มนี้ได้ โดยลักษณะเป็นเงินทุนหมุนเวียน ให้กับเอสเอ็มอีที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ให้อยู่รอดและมีเงินทุนกลับมาหมุนกิจการ แต่จะเดินหน้าได้ก็ต้องขอนโยบายจากบอร์ดธนาคารด้วย”