'ครม.' สรุปผลชงเวทีผู้นำ ลุ้นอีก 1 ปี บังคับใช้ 'อาร์เซ็ป'

'ครม.' สรุปผลชงเวทีผู้นำ ลุ้นอีก 1 ปี บังคับใช้ 'อาร์เซ็ป'

เปิดบทสรุปก่อนปิดดีลประวัติศาสตร์ จับตาถ้อยแถลง "ประยุทธ์" 4 พ.ย.ต่อเวทีผู้นำ 16 ชาติอาร์เซ็ป ย้ำไทยให้ความสำคัญการค้ากับภูมิภาค ขณะที่แถลงการร่วมของผู้นำลั่น "ความตกลงอาร์เซ็ป" ได้ข้อสรุปแล้ว

การเจราจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2556 กำลังจะสิ้นสุดลงในการประชุมระดับผู้นำที่กรุงเทพในวันที่ 4 พ.ย.นี้ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ร่วมกับผู้นำอาร์เซ็ปจากสมาชิก 16 ประเทศ ประกอบด้วย อาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในการประชุมที่เกี่ยวข้องระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย.นี้ ที่กรุงเทพ 

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 ต.ค. กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานหลักเจรจาอาร์เซ็ปจะนำผลการเจรจาเสนอต่อที่ประชุม เบื้องต้นคาดว่าจะได้รับความเห็นชอบ เพื่อนำไปสู่การจัดทำถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีที่มีกำหนดขึ้นกล่าวต่อที่ประชุมอาร์เซ็ปซัมมิท เป็นเวลา 2 นาที จากนั้นจะเป็นคิวของประธานคนต่อไป คือ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ในฐานะหัวหน้าคณะกรรมการเจรจา หรือทีเอ็นซี และสิงคโปร์ ในฐานะประธานปี 2561 ที่ผ่านมา ก่อนส่งต่อให้ผู้นำจากประเทศต่างๆ จะขึ้นกล่าวถ้อยแถลงจนครบทั้ง 16 ประเทศในเวลาเท่ากัน 

จากนั้นเลขาธิการอาร์เซ็ปจะกล่าวแถลงการณ์ร่วมผู้นำ หรือ Joint Leaders 'Statement ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องมีคำว่า "สามารถสรุปการเจรจาได้" หรือ Conclusion จึงจะถือว่าการเจรจาอาร์เซ็ปประสบความสำเร็จ 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีไทย คาดว่าจะระบุถึงความมั่นใจและประโยชน์ความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกันในภาวะเศรษฐกิจการค้าปัจจุบัน 

  • เจราจาคืบอีก 3 ข้อบท

       สำหรับความคืบหน้าล่าสุดการเจรจาอาร์เซ็ป ขณะนี้ถือว่าประสบความสำเร็จสูงถึง 99% ในช่วง 21-25 ต.ค. สามารถสรุปได้แล้วทั้งสิ้น 17 ข้อบท จากเดิม 14 ข้อบท (เมื่อ 11-12 ต.ค.ที่ผ่านมา) อย่างไรก็ตามยังเหลืออีก 3 ข้อบท ได้แก่ แหล่งกำเนิดสินค้า บริการ และการลงทุน ซึ่งมีเพียงข้อติดขัดเพียงเล็กน้อย คาดว่าจะสามารถหาข้อสรุปได้และส่งให้ ครม.พิจารณาได้โดยสมบูรณ์ 

ส่วนรายละเอียดข้อตกลง ยอมรับว่าไม่ได้สุดโต่งแบบความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) หรือทีพีพี เก่าที่สหรัฐเป็นผู้ริเริ่มที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการค้า ขณะที่อาร์เซ็ปเน้นการสร้างข้อตกลงแนวใหม่ว่าด้วยการใช้งานได้อย่างทันสมัยกับรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่พันธะการเปิดตลาดก็ให้ครอบคลุมต่อกฎหมายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การคุ้มครองการลงทุน แหล่งกำเนิดนสินค้า ถือเป็นการออกแบบข้อตกลงระดับภูมิภาคที่ม่ีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกขณะนี้ ให้สามารถตอบโจทย์การค้าในอนาคตได้ 

สำหรับไทม์ไลน์การเจรจาอาร์เซ็ปในช่วง 7 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่เริ่มเจรจาเมื่อ พ.ค.2556 กรอบการเจรจาทั้งหมด 20 ข้อบท 4 ภาคผนวก เริ่มตั้งแต่ ต.ค.2559 ข้อบทว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ ต่อมา ธ.ค.2559 ข้อบทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 

จากนั้น ก.ค.2561 ข้อบทพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า, ก.ค.2561 ข้อบทจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ, พ.ย.2561 ข้อบทมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช, พ.ย.2561 ข้อบทมาตรฐานกฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรอง, พ.ย.2561 ข้อบทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน, ส.ค.2562 ข้อบทบริการโทรคมนาคม

ส่วน ส.ค.2562 ข้อบทการค้าบริการ ว่าด้วยเรื่องบริการการเงิน บริการวิชาชีพ จากนั้นตั้งแต่ช่วง ก.ย.-ต.ค.2562 สามารถเจรจาได้อย่างคืบหน้าโดยเร็วทั้งข้อบทการค้าสินค้า, ข้อบทการเคลื่อนย้ายบุคคล,ข้อบททรัพย์สินทางปัญญา, ข้อบทบัญญัติทั่วไปและข้อยกเว้น, ข้อบทการระงับข้อพิพาท, ข้อบทบัญญัติสุดท้ายและภาคผนวกแหล่ง กำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า

  • เหลืออีก 3 ข้อบทเช่ือสรุปได้

โดยช่วง 20-25 ต.ค.ที่ผ่านมา สามารถหาข้อสรุปได้อีก 3 ข้อบท ได้แก่ ข้อบทการเยียวยาทางการค้า, ข้อบทการแข่งขัน และที่สำคัญคือ ข้อบทพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คงเหลือ ข้อบทการค้าบริการ, กฎถิ่นกำเนิดสินค้า และการลงทุน

นางอรมน ทรัยพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลก การใช้เวลาเจรจา 7 ปี ยืนยันประกาศจบได้ปีนี้ที่ประเทศไทย เนื่องจากบรรยากาศการประชุมไม่มีใครถอดใจ ทุกคนยังตั้งมั่นเป้าหมายให้ได้ข้อสรุปปีนี้

"ทุกคนพร้อมที่จะประกาศ 16 ประเทศพร้อมใจกัน อย่างไรก็ตาม เป็นที่เข้าใจคือการประกาศผลสำเร็จอาจมีบางประเด็นต้องผ่านการขัดเกลาถ้อยคำ ซึ่งเป็นเรื่องทั่วไปของการเจรจาเราเรียกว่าการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย"

สำหรับประเทศที่ไทยเป็นความตั้งใจตั้งแต่แรกแล้วว่าปีนี้จะสรุปการเจรจาจากนั้นส่งให้ปีหน้าเพื่อให้เวียดนามรับไม้ต่อในฐานะประธานการประชุม ทั้งนี้ เมื่อคำนวนเวลาการขัดเกลาถ้อยคำในข้อตกลง และสมาชิกทั้งหมดดำเนินการตามกระบวนการภายในเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะใช้เวลาไม่เกินครึ่งปี ซึ่งจะมีขั้นตอนตรงนี้คือให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบเพื่อไปลงนามที่เวียดนามช่วงกลางปีหน้า จากนั้นแต่ละประเทศจะผ่านขั้นตอนสำคัญที่จะนำไปสู่การนำไปปฏิบัติตามข้อตกลง คือการให้สัตยาบัน (Ratify) สำหรับประเทศไทย ต้องผ่านขั้นตอนความเห็นชอบของรัฐสภาพ ดังนั้นคาดว่าอาร์เซ็ปจะสามารถมีผลบังคับใช้ได้ราวต้นปี 2564 

157261368415

  • อีก 1 ปี "อาร์เซ็ป" บังคับใช้ได้

"หลังประกาศความสำเร็จที่กรุงเทพแล้วก็จะใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี ก็จะนำไปใช้ปฏิบัติได้ เรื่องนี้กรมได้เตรียมแผนทั้งการชี้แจงรายละเอียดข้อตกลงและการใช้ประโยชน์ให้เป็นการทั่วไปแล้ว"

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ปัจจุบันแม้วงการเจรจาจะไม่ได้นำข้อตกลงจากภูมิภาคอื่นมาพูดคุย เนื่องจากสมาชิกเห็นตรงกันว่าอาร์เซ็ปจะช่วยให้เศรษฐกิจของสมาชิกดีขึ้น เป็นการผลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส

"ความไม่แน่นนอนที่เกิดขึ้นอาเซ็ปจะช่วยตอบโจทย์ว่าจะมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น มีโอกาสขยายการค้าการลงทุนมากขึ้น ให้ความสำคัญโกบอลซับพลายเชนให้สมาชิก ทั้งหมดนี้เป็นระยะเวลาที่เหมาะพอดี เจราจามา 7 ปีถือว่ากำลังดีแล้วเหมาะสมแล้ว"

สำหรับบทบาทของไทยที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ และพยายามที่จะแสดงบทบาทนำของประธานเพื่อให้หาข้อสรุปการเจรจาให้ได้ บทบาทของไทยคือเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการประชุมที่จำเป็นและแม้จะบ่อยครั้งขึ้นก็ยินดี แม้ปกติประเทศที่สวมหมวกประธานอาจไม่ต้องเสนอความถี่มากขนาดนี้ 

หากความตกลงอาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้จะครอบคลุมตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ ที่มีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก และมีมูลค่าจีดีพีกว่า 27.2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 32.3% ของจีดีพีโลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.5 ล้านล้านดอลาร์ คิดเป็น 29.3% ของมูลค่าการค้าโลก

  • มั่นใจประเด็น ศก.ได้ตามเป้า

นางอรมนกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้ประสานงานหลักเสาเศรษฐกิจ ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยผลักดันให้อาเซียนร่วมกันดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2562 (Priority Economic Deliverables) ประกอบด้วย 3 ด้าน 13 ประเด็น โดยปัจจุบันอาเซียนได้ดำเนินการไปแล้ว 7 ประเด็น ได้แก่ 1.การจัดทำแผนการดำเนินงานตามกรอบการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน 2.แนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะ/ผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 

3.ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมของอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และ 4.การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน

5.การพัฒนากลไกการระดมทุนจากภาคเอกชนสำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 6.การจัดทำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตลาดทุนอาเซียน และ 7.การจัดทำความบันทึกความเข้าใจระหว่างศูนย์พลังงานอาเซียนและมหาวิทยาลัย/หรือสถาบันวิจัยในอาเซียน

โดยในช่วงการประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งที่ 35 คาดว่าจะมีการรายงานความสำเร็จเพิ่มเติม 3 ประเด็น คือ 1.การจัดทำหลักเกณฑ์กรอบการจัดตั้งกลไกการชำระเงินสกุลท้องถิ่น 2.การจัดทำแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการประมงที่ยั่งยืน และ 3.ความสำเร็จของอาร์เซ็ป

  • รายงานเวทีผู้นำอาเซียน

ส่วนอีก 3 ประเด็นที่เหลือจะเป็นการรายงานความคืบหน้าให้ผู้นำรับทราบว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2562 ได้แก่ 1.แผนงานด้านนวัตกรรมของอาเซียน 2.การเชื่อมโยงระบบ ASEAN Single Window เพื่อแลกเปลี่ยนใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียนทางอิเล็กทรอนิกส์ และ 3.การจัดทำแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารของอาเซียน

ในโอกาสนี้ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย.2562 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี 

โดยจะมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และผู้นำของประเทศคู่เจรจาของอาเซียนที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกรวม 17 ประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา และเลขาธิการสหประชาชาติเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 10 นอกจากนี้ยังมีองค์การระหว่างประเทศที่ได้รับเชิญในฐานะแขกของประธาน 1 องค์การ คือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)