สารพัดปัจจัยรุมเร้า กดหุ้น ‘ไทยยูเนี่ยน’ ต่ำสุดรอบ 5 ปี

สารพัดปัจจัยรุมเร้า กดหุ้น ‘ไทยยูเนี่ยน’ ต่ำสุดรอบ 5 ปี

สัปดาห์ที่ผ่านมาหุ้น บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ดิ่งทำจุดต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี ท่ามกลางสารพัดปัจจัยลบกระทบราคาหุ้น เริ่มตั้งแต่ข่าวใหญ่ที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับภาคการส่งออกไทย

หลังรัฐบาลสหรัฐประกาศเตรียมตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ จีเอสพี สินค้าไทย 573 รายการ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท ในอีก 6 เดือนข้างหน้า

ครอบคลุมสินค้าส่งออกสำคัญอย่างอาหารทะเลแปรรูป, น้ำผลไม้, ซอสถั่วเหลือง, ถั่วชนิดต่างๆ ฯลฯ โดยอ้างเหตุผลเรื่องสิทธิแรงงานต่างด้าวที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล กลายเป็นปัจจัยใหม่เข้ามาซ้ำเติมการส่งออกไทยที่ติบลบไปแล้ว 2.1% ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา

หลังมีข่าวหุ้นส่งออกถูกเทขายทันที รวมถึง “ไทยยูเนี่ยน” ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูปและแช่แข็งรายใหญ่ของโลก ราคาดิ่ง 3.57% มาปิดที่ 13.50 บาท ตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา (28 ต.ค.) เพราะกังวลว่าบริษัทจะกระทบหนัก เนื่องจากมียอดขายจากตลาดสหรัฐและแคนาดามากถึง 42% ของยอดขายรวมทั้งหมด

จน “ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ต้องออกมาคอนเฟิร์มด้วยตัวเองว่า การตัดสิทธิจีเอสพีไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากสินค้าอาหารทะเลและอาหารสัตว์ที่บริษัทจำหน่ายในสหรัฐไม่ได้รับสิทธิจีเอสพีอยู่แล้ว แต่ดูเหมือนว่าความวิตกยังมีอยู่ ราคาหุ้นไหลลงต่อในการซื้อขายวันรุ่งขึ้น (29 ต.ค.) มาปิดที่ 13.30 บาท ลดลง 1.48%

ก่อนที่จะมีแรงซื้อกลับในช่วง 2 วันทำการถัดมา บวกคืนเกือบ 10% มาปิดการซื้อขายเมื่อวันพฤหัสบดี (31 ต.ค.) ที่ 14.60 บาท หลังนักลงทุนเริ่มตั้งตัวได้ บรรดานักวิเคราะห์ก็ยืนยันสอดคล้องกับหน่วยที่เกี่ยวข้องว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นจำกัด ไม่ได้รุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายกังวล และพร้อมเดินหน้าเจรจากับรัฐบาลสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นดังกล่าวส่งผลกระทบเชิงลบกับบริษัทในแง่จิตวิทยาการลงทุน ซ้ำเติมภาพผลประกอบการที่ยังไม่ค่อยสดใส แม้จะได้ประโยชน์จากต้นทุนราคาปลาทูน่าที่ลดลง แต่ยังเผชิญความเสี่ยงจากการค้าโลกที่ชะลอตัวจากผลกระทบของสงครามการค้า

ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากที่สุดในรอบกว่า 6 ปี เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักทั้งดอลลาร์, ยูโร และปอนด์ กดดันรายได้บริษัทที่ส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ เพราะเมื่อแลกกลับแปลงมาเป็นเงินบาทจะได้จำนวนที่ลดลง รวมทั้งปีนี้มีการตั้งสำรองหลายรายการ ทั้งค่าใช้จ่ายพนักงาน ค่าใช้จ่ายทางกฎหมายสำหรับการดำเนินคดีความของ “Chicken of The Sea” ในสหรัฐอเมริกา

157286715731

ขณะที่ปัจจัยในประเทศสำนักงานประกันสังคมซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของบริษัท เพิ่งจะตัดขายหุ้นออกมา 0.1359% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ ส่งผลให้เหลือหุ้นอยู่ทั้งหมด 4.8776% โดยเป็นการปรับพอร์ตของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่สำนักงานประกันสังคมจ้างบริหารกองทุน เป็นอีกหนึ่งจิตวิทยาเชิงลบกระทบราคาหุ้นเช่นกัน

แต่ท่ามกลางข่าวร้ายพอจะมีข่าวดีอยู่บ้าง หลังศาลตัวสินให้ “จอห์น เวสต์ ฟู้ดส์” บริษัทในเครือพ้นความผิดในคดีทำประมงผิดกฎหมายในประเทศกาน่า ที่ถูกฟ้องร้องมาตั้งแต่ปี 2560 ทำให้นักลงทุนเบาใจไปได้เปราะหนึ่งว่าไม่ต้องมีการตั้งสำรองจากคดีดังกล่าวแล้ว

ส่วนประเด็นที่ต้องตามต่อคือ ผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2562 ที่ใกล้คลอดเต็มที แม้จะเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจในยุโรป แต่จากฐานที่สูงและผลของเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ยังถ่วงกำไรปกติให้ชะลอตัว แต่หากดูกำไรบรรทัดสุดท้ายน่าจะดีขึ้น เพราะไม่มีรายการพิเศษเหมือนช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 และ ไตรมาส 3 ปี 2561

เชื่อว่าตอนนี้หลายคนคงมีคำถามว่าหุ้นตัวนี้น่าสนใจไหม? ควรซื้อได้หรือยัง? ซึ่งหากอิงจากนักวิเคราะห์ในตลาดเสียงส่วนใหญ่ค่อนไปทาง “ซื้อ” มองว่าราคาหุ้นที่ลงมามากขนาดนี้ เทียบกับพื้นฐานแล้วน่าสนใจ ผลประกอบการยังโตต่อเนื่อง ประเด็นจีเอสพีไม่ได้กระทบมาก คดีฟ้องร้องต่างๆ ค่อยๆ ปลดล็อกไปได้ แต่ถ้าใครยังไม่มั่นใจ จะรอให้แรงขายสะเด็ดน้ำกว่านี้ก็ไม่ว่ากัน เพราะกลัวว่าถ้าเห็นงบฯ ไม่สวยดั่งหวัง อาจมีแรงขายตามมาอีกรอบ