รับกระแสย้ายฐานหนีเทรดวอร์ “กนอ.”เพิ่มนิคมฯอีอีซี 1.2 หมื่นไร่

รับกระแสย้ายฐานหนีเทรดวอร์ “กนอ.”เพิ่มนิคมฯอีอีซี 1.2 หมื่นไร่

กระทรวงอุตสาหกรรม เพิ่มพื้นที่ลงทุนในนิคมฯ อีอีซี 1.2 หมื่นไร่ รองรับการลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย กระทรวงอุตสาหกรรมได้เดินสายออกไปดึงดูดนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า โดยได้เข้าไปเร่งรัดจัดหาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพิ่ม 12,772 ไร่ เพื่อรองรับนักลงทุนเหล่านี้ และรองรับการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้แบ่งเป็น การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ ซึ่งได้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจำนวน 4 นิคมอุตสาหกรรม รวมพื้นที่ 6,306 ไร่ ได้แก่

1.นิคมอุตสาหกรรมแพรกษา อินดัสเทรียลล์ จ.สมุทรปราการ มีพื้นที่ 649 ไร่

2.นิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี จ.ระยอง พื้นที่ 3,068 ไร่

3.นิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 จ.ปราจีนบุรี พื้นที่ 1,746 ไร่

4.นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ (แหลมฉบัง) พื้นที่ 843 ไร่ โดยหากโครงการแล้วเสร็จจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 185,240 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 46,310 คน

รวมทั้งได้เตรียมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรองรับการลงทุนจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ และต้องการยายฐานการผลิตมาลงทุนในอาเซียน โดยเตรียมพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมรองรับนักลงทุนกลุ่มนี้ 6,466 ไร่ ได้แก่

1.นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง มีพื้นที่รองรับ 2,500 ไร่

2.นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 4 มีพื้นที่รองรับ 480 ไร่

3.นิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี มีพื้นที่รองรับ 2,205 ไร่

4.นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ มีพื้นที่รองรับ 1,281 ไร่

ส่วนโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค ตั้งอยู่ที่ จ.ระยอง ติดกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีพื้นที่ 1,500 ไร่ ซึ่งจะเป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรม 4.0 โดยได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว และคาดจะก่อสร้างโครงการดังกล่าวได้ภายในปี 2563 และเปิดรองรับการลงทุนได้ภายในปี 2566

ขณะที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักที่สำคัญ 1 ใน 5 ของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในอีอีซี เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีพื้นที่ 1,000 ไร่ โดยเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับ บริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด มูลค่าโครงการ 47,900 ล้านบาท 

แบ่งเป็น กนอ.ร่วมลงทุนเป็นมูลค่า 12,900 ล้านบาท และภาคเอกชนลงทุน 3.5 หมื่นล้านบาท โดยหลังจากดำเนินการพัฒนาแล้วเสร็จจะสามารถรองรับสินค้าผ่านท่า (ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าด้านปิโตรเคมี) ได้เพิ่มอีกประมาณ 14 ล้านตันต่อปี ในอีก 30 ปีข้างหน้า