ชี้ชะตา“อาร์เซ็ป” วันนี้ อีกหนึ่งกิจกรรม”ประชุมสุดยอดอาเซียน”

ชี้ชะตา“อาร์เซ็ป” วันนี้ อีกหนึ่งกิจกรรม”ประชุมสุดยอดอาเซียน”

สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ไฮไลท์ วันนี้ (1 พ.ย.)คือการประชุมรัฐมนตรีจาก 16 ประเทศเพื่อหาข้อสรุปข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป

ได้ยินกันมากคำคำนี้ “อาร์เซ็ป” ซึ่งก็คือ ชื่อเรียกข้อตกลงว่าจะเปิดตลาดการค้าสินค้าและบริการ ระหว่างกันของประเทศเอเชีย 16 ประเทศ ได้แก่ จีน ซึ่งเป็นพี่ใหญ่และมีส่วนผลักดันข้อตกลงนี้อย่างมาก อินเดีย ซึ่งเป็นเหมือนผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากข้อตกลงนี้มากอยู่แต่เพราะทันทีที่เปิดตลาดว่ากันว่าสินค้าจะทะลักเข้าตลาดอินเดียเพราะมีจำนวนประชาการหลักพันล้านคนและยังมีสัดส่วนคนรวยผู้มีกำลังซื้ออีกจำนวนมาก ซึ่งมากแค่ไหน ก็นับคร่าวๆว่ามากกว่าคนไทยทั้งประเทศ นอกจากนี้ ยังมี ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ นับรวมตอนนี้ได้ 4 ประเทศ

ไม่เพียงเอเชียผิวเหลืองฝรั่งผิวขาวก็มี คือ ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ ที่สนใจร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับข้อตกลงนี้  รวมเป็น 6 ประเทศ รวมกับอาเซียนอีก 10 ประเทศ ครบจำนวน 16 ประเทศ 

อาร์เซ็ปจึงกลายเป็นข้อตกลงการค้าเสรีแห่งซีกโลกตะวันออกที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรรวมกัน 3,500 ล้านคน มีมูลค่าจีดีพี หรือ ทำเงินได้รวมกัน 27.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ความยิ่งใหญ่มหาศาลของตลาดอาร์เซ็ปนำมาไม่ได้นำมาซึ่งโอกาสแต่นำมาซึ่งความยากลำบากการเจรจา หลังเปิดการเจรจามาแล้ว 6 ปี ซึ่งความพยายามเดินหน้ามาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งไทยนั่งแท่นประธานอาเซียน และตั้งเป้าหมายว่า ต้องได้ข้อสรุปในปีนี้ หรือ พูดง่ายๆคือ เจรจาให้จบ !

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ต้องเร่งหาข้อสรุปในช่วงโค้งสุดท้ายของการเจรจา โดยทั้ง 16 ประเทศพร้อมหารือเพื่อสรุปการเจรจาร่วมกันในการประชุมระดับรัฐมนตรีอาร์เซ็ป

“ วันนี้ (1 พ.ย.) ก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่การประชุมสุดยอดอาร์เซ็ป ในวันที่ 4 พ.ย.นี้ เพื่อประกาศความสำเร็จ และคาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในปีนี้ และตั้งเป้าลงนามความตกลงภายในปี 2563”

บทบาทของไทยในการเป็นเจ้าภาพและประธานการประชุมกำลังฉายภาพความชัดเจนการถักทอการเชื่อมโยงความร่วมมือนานาประเทศเพื่อให้ไทยและภูมิภาคเอเชีย มีอำนาจต่อรองอย่างน้อยก็ทางการค้าไม่ให้ใครมารังแกได้

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดการเจรจาอาร์เซ็ป ขณะนี้ถือว่าประสบความสำเร็จสูงถึง 99% ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ 21-25 ต.ค. สามารถสรุปได้แล้ว ทั้งสิ้น 17 ข้อบท จากเดิม 14 ข้อบท (เมื่อ 11-12 ต.ค.ที่ผ่านมา) อย่างไรก็ตาม ยังเหลืออีก 3 ข้อบท ได้แก่ แหล่งกำเนิดสินค้า บริการ และการลงทุน ซึ่งมีเพียงข้อติดขัดเพียงเล็กน้อย คาดว่าจะสามารถหาข้อสรุปได้และส่งให้ครม.พิจารณาได้โดยสมบูรณ์ 

ส่วนรายละเอียดข้อตกลง ไม่ได้สุดโต่งแบบความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) หรือ ทีพีพี เก่าที่สหรัฐเป็นผู้ริเริ่มที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการค้า ขณะที่อาร์เซ็ป เน้นการสร้างข้อตกลงแนวใหม่ว่าด้วยการใช้งานได้อย่างทันสมัยกับรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป 157253043580

ขณะที่พันธะการเปิดตลาดก็ให้ครอบคลุมต่อกฎหมายต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การคุ้มครองการลงทุน แหล่งกำเนิดสินค้า ถือเป็นการออกแบบข้อตกลงระดับภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกขณะนี้ ให้สามารถตอบโจทย์การค้าในอนาคตได้ 

สำหรับไทม์ไลน์การเจรจาอาร์เซ็ปในช่วง 7 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่เริ่มเจรจาเมื่อ พ.ค. 2556 กรอบการเจรจาทั้งหมด 20 ข้อบท 4 ภาคผนวก เริ่มตั้งแต่ต.ค. 2559 ข้อบทว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ ต่อมา ธ.ค.2559 ข้อบทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 

จากนั้น ก.ค.2561 ข้อบทพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า ,ก.ค. 2561 ข้อบทจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ,พ.ย.2561 ข้อบทมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ,พ.ย.2561 ข้อบทมาตรฐานกฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรอง ,พ.ย.2561 ข้อบทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน,ส.ค.2562 ข้อบทบริการโทรคมนาคม

ส่วน ส.ค.2562 ข้อบทการค้าบริการ ว่าด้วยเรื่องบริการการเงิน บริการวิชาชีพ จากนั้นตั้งแต่ช่วง ก.ย.-ต.ค.2562 สามารถเจรจาได้อย่างคืบหน้าโดยเร็วทั้งข้อบทการค้าสินค้า,ข้อบทการเคลื่อนย้ายบุคคล,ข้อบททรัพย์สินทางปัญญา,ข้อบทบัญญัติทั่วไปและข้อยกเว้น,ข้อบทการระงับข้อพิพาท,ข้อบทบัญญัติสุดท้ายและภาคผนวกแหล่ง กำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า

โดยช่วง 20-25  ต.ค.ที่ผ่านมา สามารถหาข้อสรุปได้อีก 3 ข้อบทได้แก่ ข้อบทการเยียวยาทางการค้า ,ข้อบทการแข่งขัน และที่สำคัญคือ ข้อบทพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คงเหลือ ข้อบทการค้าบริการ ,กฎถิ่นกำเนิดสินค้า และการลงทุน