จากท้องนาสู่องค์การการค้าโลก แบน3สารไม่จบแค่นี้

จากท้องนาสู่องค์การการค้าโลก แบน3สารไม่จบแค่นี้

แม้คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติให้ใช้ จำหน่าย นำเข้า หรือ “แบน” 3สารเคมีทางการเกษตรคือพาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส แล้วก็ตาม แต่ความเห็นต่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่จบมื่อผลจากข้อปฎิบัติภายในประเทศส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ

พรศิลป์ พัชรินทร์ตะนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยว่าได้หารือกับ Dr. Maria Eduarda de Serra Machado  อุปทูตด้านการเกษตร (Agricultural Attache') สถานเอกอัครราชทูตบราซิล ประจำประเทศไทย ถึงกรณีที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบน3 สารเคมีตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. นี้เป็นต้นไป ทำให้สินค้าภาคการเกษตรของไทยมีปริมาณสารตกค้างไกลโฟเชตเป็น 0 %นั้น

ร้อนถึง การนำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง เพื่อสกัดในอุตสาหกรรมน้ำมันพืช และได้กากถั่วนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ที่มีความต้องการกว่าปีละ 2.5 ล้านตัน ส่วนใหญ่ไทยจะนำเข้าจากบราซิล สหรัฐฯและจีน ที่ประเทศเหล่านี้ยังมีการใช้สารไกลโฟเซต

ดังนั้นตามเงื่อนไของค์การการค้าโลก(ดับเบิลยูทีโอ) การนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป จะต้องเป็นเมล็ดถั่วเหลืองที่มีค่าปริมาณ สารตกค้างที่ 0 % เช่นกัน ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์จึงแจ้งให้ทางบราซิลรับทราบและขอใบรับรองค่ามาตรฐานสารตกค้างดังกล่าวตามที่ไทยกำหนดไว้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางบราซิลได้ระบุว่าไม่สามารถทำตามเงื่อนไขของสมาคมฯได้ เนื่องจากเมล็ดถั่วเหลืองของบราซิลขณะนี้ยังมีปริมาณไกลโฟเซตตกค้างอยู่ที่ 10 ppb ต่ำกว่าค่าความปลอดภัยทางด้านอาหารตามที่โคเดกซ์ กำหนดไว้ที่ 20 ppb

นอกจากนี้ ฝ่ายบราซิลได้ระบุอีกว่า หากไทยยังยืนยันที่จะแบนการใช้สารเคมีดังกล่าว ทางบราซิลจะหยิบยกเรืองนี้ไปหารือในดับเบิลยูทีโอ ในสัปดาห์หน้าร่วมกับอีกหลายประเทศที่มีการใช้สารดังกล่าวเช่นเดียวกัน

แนวทางการหารือจะเสนอให้ไทยนำผลพิสูจน์ทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่ไทยวิเคราะห์เองมายืนยันว่าปริมาณสารตกค้างไกลโฟเซตในปริมาณ 10-20 ppb นั้นมีอันตรายต่อการบริโภคอย่างไร ซึ่งเป็นหน้าที่ขององค์การอาหารและยา(อย.)ของไทยจะต้องเร่งดำเนินการ

หากรัฐบาลยืนยันจะแบนสารเคมีทาง 3 ชนิดตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะส่งผลกระทบกับหลายอุตสาหกรรม เช่น น้ำมันถั่วเหลือง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่ต้องนำเข้าข้าวสาลี ที่ทุกประเทศผู้ผลิตมีการใช้สารไกลโฟเซต และยังส่งผลต่อเนื่องมาถึงอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ที่ใช้กากถั่วเหลืองเป็นโปรตีนในอาหารสัตว์ 24-25 %

โดยจากสต็อกอาหารสัตว์ที่มีอยู่ในประเทศ คาดว่าจะรองรับการเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร และกุ้งได้เพียง 2-3 เดือนเท่านั้น และหากรัฐบาลไม่มีแผนรับมือเป็นไปได้ที่ธุรกิจเหล่านี้จะล่มสลาย ไทยต้องหาทางนำเข้าไก่เนื้อ ไข่ไก่ จากประเทศผู้ผลิตมาทดแทน แต่การนำเข้าต้องมีใบรับรองการไม่ใช้ไกรโฟเซตของประเทศผู้ผลิตด้วย

เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ ที่สมาคมฯรอดูท่าทีของคณะกรรมการวัตถุอันตรายมาโดยตลอด แต่ไม่มีหนังสือโต้แย้ง เนื่องจากจะส่งผลต่อกระแสสังคมที่ส่วนใหญ่ต้องการให้แบน ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตอาหาสัตว์เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ การต่อต้านอาจมีข้อครหาได้ ซึ่งหลังจากนี้เมื่อมีมติแบนออกมาแล้ว สมาคมจะทำหนังสือทำหนังสือเพื่อขอขยายระยะเวลา จนกว่าอุตสาหกรรมทั้งระบบจะปรับตัวได้ ซึ่งจะหารือกับสมาชิกก่อน

157260424789

ก่อนหน้านี้ สถานทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธาณสุข มีเนื้อหาสำคัญว่า กระทรวงเกษตรสหรัฐ(ยูเอสดีเอ) ได้ตรวจสอบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทย

157252970224

157252975860 โดยยูเอสดีเอ คาดการณ์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแบน 3 สาร ดังนี้1.ต้นทุนสารเคมีทดแทนที่สูงขึ้นที่ 75,000-125,000 ล้านบาท 2.หากไม่พบสารเคมีทดแทนที่เหมาะสม จะทำให้ต้นทุนแรงงานสูงขึ้นสำหรับการปราบวัชพืชถึง 128,000 ล้านบาท3.สิ่งที่สหรัฐฯกังวลมากที่สุด คือ จะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าสหรัฐฯในตลาดไทย เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี กาแฟ แอปเปิ้ล และองุ่น มูลค่าประมาณ 51,000 ล้านบาทจะต้องหยุดชะงักลงเพราะ ตามกฏดับเบิลยูทีโอ หากประเทศคู่ค้ามีการแบนสารเคมีที่สหรัฐฯใช้อยู่ก็ไม่สามารถขายสินค้าหรือส่งออกสินค้านั้นได้ เพราะสหรัฐฯยังใช้สารไกลโฟเซตอยู่

นอกจากนี้ มีเอกสารแนบระบุว่า หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (EPA)ได้ประเมินแล้วว่าไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ สอดคล้องกับความคิดเห็นทางวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานอื่นทั้งญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และองค์การเกษตรแห่งสหประชาชาติ จึงขอให้ชะลอการตัดสินใจเกี่ยวกับไกลโฟเซต

สุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่าได้ยื่นหนังสือขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอย่างรอบคอบและเป็นธรรม โดยพาราควอต เป็นสารกำจัดวัชพืชที่กลุ่มเกษตรกรขอไม่ให้แบนเพียงสารเดียว

หากเรื่องนี้ต้องถึงดับเบิลยูทีโอซึ่งการถกเถียงจะอยู่บนเหตุผลและข้อเท็จจริงมิใช่ความเห็นต่างฝ่ายต่างพูด ก็ไม่แน่ว่า นี้อาจเป็นโอกาสให้ไทยพิสูจน์ในเวทีระดับโลกว่า การตัดสินใจครั้งนี้ ถูกต้องและเป็นการปลุกให้โลกรู้ถึงพิษภัยจากสารเคมีดังกล่าว แต่หากไม่สามารถทำได้ผลกระทบก็จะเป็นไปในทางตรงกันข้าม