ภารกิจ ‘พีพี ไพร์ม’ เร่งเคลียร์หนี้ ตั้งเป้า ‘เทิร์นอะราวด์’ ปีหน้า

ภารกิจ ‘พีพี ไพร์ม’ เร่งเคลียร์หนี้   ตั้งเป้า ‘เทิร์นอะราวด์’ ปีหน้า

ปัจจุบันอาการสำลักหนี้ของบมจ.“พีพี ไพร์ม” หรือ PPPM ดูจะผ่อนคลายลงไปได้ระดับหนึ่ง

หลังก่อนหน้านี้เกิดปัญหาการปรับโครงสร้างกิจการและการเงินจนทำให้บริษัทสะดุดไม่สามารถชำระหนี้ได้และก่อให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ (ดีลฟอร์) จำนวน 5 ล็อต วงเงินรวม 1,121 ล้านบาท 

ก่อนที่จะมีการเร่งแก้ปัญหาไปได้แบบหายใจรดต้นคอ ทั้งจากการขอขยายระยะเวลาการชำระไถ่ถอนเงินต้นของหุ้นกู้ล็อตที่ 3 ออกไป 330 วันและการขายหุ้นในพอร์ตลงทุนของบริษัทออกเกือบทั้งหมด เพื่อนำเงินมาแก้ปัญหาสภาพคล่องได้เป็นผลสำเร็จ

เครดิตทั้งหมดต้องยกให้แม่ทัพคนใหม่อย่าง “วรุณ อัตถากร” ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง “ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร” เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2562 แทนผู้บริหารคนก่อนที่ลาออก โดย วรุณ ระบุว่า "ขอเวลา 1 ปีในการล้างบ้านหลังนี้ให้สะอาด” 

นอกจากนี้เขายังบอกว่า แม้ว่าระยะสั้นจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง แต่จะพยายามปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ให้มีความเหมาะสมทั้งช่วงเวลาจ่ายคืนและอัตราดอกเบี้ยที่บริษัทสามารถชำระได้โดยไม่เกิดปัญหา หลังปัจจุบันบริษัทมีภาระดอกเบี้ยที่ต้องชำระปีละกว่า 60-90 ล้านบาท

ส่วนผลประกอบการปีนี้ ยอมรับว่าจะยังขาดทุนต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการบริหารงานและเงินลงทุนที่ยังเป็นสัดส่วนสูงกว่ารายได้ แม้ว่าธุรกิจอาหารสัตว์น้ำและสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นธุรกิจหลักจะยังเติบโตได้ดี โดยปีนี้คาดมีรายได้เฉลี่ยราว 2 พันล้านบาท หรือเติบโต 3-5% ต่อปี และมีศักยภาพทำกำไรสูงขึ้น เพราะได้รับอานิสงส์จากเงินบาทแข็งค่าและนำเข้าวัตถุดิบหลักอย่างถั่วเหลืองที่มีราคาถูกลงจากผลของสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ

แต่ปัจจุบันบริษัทยังมีค่าใช้จ่ายจากการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน Geothermal ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มบันทึกรายได้เข้ามาในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า โดยปัจจุบันมีจำนวน 12 โครงการ และคาดว่าหากทุกโครงการมีการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้เรียบร้อยจะรับรู้รายได้รวมกว่า 140 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยโครงการละ 12 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญช่วยผลักดันผลประกอบการของบริษัทพลิกกลับมาดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต

“ตอนนี้เราอยู่ระหว่างการปรับกลยุทธ์ ซึ่งจะมีการประชุมทุกอาทิตย์เพื่อหาทางลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและศึกษาแนวทางในการลดภาระหนี้เพื่อลดต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งปัจจุบันเรากำลังอยู่ระหว่างแก้ไข ประกอบกับอยู่ระหว่างเร่งจัดการให้โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ญี่ปุ่นจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้ได้ภายใน 1-2 ปีนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้และกำไร โดยคาดหวังว่าปีหน้าผลประกอบการน่าจะหยุดขาดทุนและกลับมาเทิร์นอะราวด์ได้”

ส่วนด้านภาระหนี้หุ้นกู้ที่เหลืออีกจำนวน 3 ล็อต มูลค่ารวมมากกว่า 700 ล้านบาทนั้น ซึ่งเบื้องต้นจะมีหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอนภายในปี 2563 จำนวน 2 ชุด คือหุ้นกู้ชุดที่ 1/2561 มูลค่า 200 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนช่วงเดือน พ.ค.2563 และหุ้นกู้ชุดที่ 2/2561 มูลค่า 319.5 ล้านบาท ซึ่งได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นกู้เลื่อนการไถ่ถอนมาในเดือน ก.ค.2563 

รวมถึงหุ้นกู้ล็อตสุดท้าย มูลค่า 207 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนปี 2564 โดยเจ้าตัวมั่นใจว่าบริษัทจะไม่มีการผิดชำระหนี้อีกแล้ว เนื่องจากปัจจุบันมีแนวทางในการหาเงินชำระหนี้ราว 3 แนวทาง อาทิ1.การนำกระแสเงินจากการดำเนินงานของบริษัทมาชำระหนี้หุ้นกู้ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายแรกที่อยากดำเนินการ 

2.การรีไฟแนนซ์หุ้นกู้ทั้งหมดโดยการกู้เงินจากสถาบันการเงินมาล้างหนี้เดิม เนื่องจากมองว่าอานิสงส์จากภาวะดอกเบี้ยต่ำจะส่งผลให้ต้นทุนดอกเบี้ยลดลง ซึ่งปัจจุบันก็ได้รับข้อเสนอจากสถาบันการเงินมาบ้างแล้ว โดยจะเป็นการกู้แบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และสุดท้าย 3.ขายสินทรัพย์ที่ไม่สร้างรายได้ เช่น ที่ดินหรืออาคารสำนักงาน เพื่อนำเงินมาชำระหนี้หุ้นกู้ทั้งหมด ซึ่งประเมินว่าทรัพย์สินที่บริษัทมีอยู่มีมูลค่ารวมกันกว่า 1,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามยังต้องจับตามองว่าแนวทางการชำระหนี้หุ้นกู้ของผู้บริหาร PPPM ครั้งนี้จะไปได้ตามที่ไฝ่ฝันไว้หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็ช่วยให้เจ้าหนี้โล่งใจไปได้เปราะหนึ่ง เพราะบริษัทยังมีแผนที่จะจ่ายคืนหนี้ที่จะครบกำหนดทั้งหมด