หุ้น'แบงก์ใหญ่'ไร้เสน่ห์แม้เทรดต่ำบุ๊ค โบรกมองซึมยาว แนะหาจังหวะขาย

หุ้น'แบงก์ใหญ่'ไร้เสน่ห์แม้เทรดต่ำบุ๊ค โบรกมองซึมยาว แนะหาจังหวะขาย

หุ้นกลุ่มแบงค์ใหญ่ซื้อขายต่ำบุ๊ค หลังราคาหุ้น 10 เดือน วูบ 16% ฉุดมาร์เก็ตแคป 4.5 แสนล้านบาท นักวิเคราะห์กังวลเศรษฐกิจซึมยาว ห่วง กนง. ลดดอกเบี้ยซ้ำเติม แนะหาจังหวะขายหากราคาหุ้นฟื้นตัว

หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในช่วงปี 2562 เป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีผลตอบแทนไม่น่าประทับใจนัก โดย 10 เดือนที่ผ่านมา ดัชนีของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ติดลบไป 16.3% ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของกลุ่มลดลงประมาณ 4.5 แสนล้านบาท

ส่วนผลดำเนินงาน 9 เดือนที่ผ่านมา หุ้นธนาคารทั้ง 11 แห่ง ในกลุ่มแบงก์มีกำไรสุทธิรวม 1.65 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.72% จากปีก่อน ที่ทำได้ 1.61 แสนล้านบาท แต่การเติบโตในรอบนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากกำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์ถึง 1.1 หมื่นล้านบาท จากทางฝั่งของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากสัดส่วนการปรับตัวลงของราคาหุ้นเทียบกับผลประกอบการปกติที่ลดลงในอัตราที่ต่ำกว่า ทำให้ราคาหุ้นในปัจจุบันของกลุ่มนี้ โดยเฉพาะหุ้นแบงก์ขนาดใหญ่ ซื้อขายกันต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (Book value) ทั้งหมด

สำหรับ 5 แบงก์ใหญ่ที่มีมาร์เก็ตแคปในระดับ 2-3 แสนล้านบาท ปัจจุบันซื้อขายต่ำกว่าบุ๊คทั้งหมด ไล่มาตั้งแต่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซื้อขายที่ P/BV 0.96 เท่า ธนาคารกรุงเทพ (BBL) 0.80 เท่า ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) 0.82 เท่า ธนาคารกรุงไทย (KTB) 0.72 เท่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) 0.89 เท่า

ส่วนแบงก์ขนาดกลางและขนาดเล็กอย่าง ทุนธนชาต (TCAP) ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) และแอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) ก็ซื้อขายต่ำกว่าบุ๊คที่ 0.88 เท่า 0.51 เท่า และ 0.64 เท่า ตามลำดับ จะมีเพียงธนาคารทหารไทย (TMB) ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) และทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) ที่ยังคงซื้อขายสูงกว่าบุ๊คที่ 1.05 เท่า 1.33 เท่า และ 2.21 เท่า ตามลำดับ

บล.คันทรี่ กรุ๊ป ระบุว่า ช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เฉพาะหุ้นที่อยู่ใน SET100 ทั้งหมด 8 บริษัท มีกำไรสุทธิรวมกัน 4.86 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากปีก่อน หากตัดรายการพิเศษของธนาคารไทยพาณิชย์ออกไป กำไรสุทธิจะลดลง 10% จากปีก่อน

สำหรับสินเชื่อของธนาคารขนาดใหญ่อย่างธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกร เติบโตเพียงเล็กน้อย ขณะที่ธนาคารกรุงเทพหดตัว 3.9% ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน อยู่ในกรอบ 2.8 – 3.53% และธนาคารกสิกรก็มองว่าแนวโน้มของ NPL ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นอีกในปี 2563 และมีโอกาสไปแตะระดับ 4%

โดยรวมกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังไม่น่าสนใจ จนกว่าจะเริ่มเห็นเศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง หรือเห็นสินเชื่อของธนาคารกลับมาเติบโตดีอีกครั้ง นอกจากนี้ สิ่งที่น่ากังวลคือหากเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว กลุ่มธนาคารมีโอกาสสูงที่จะถูกปรับประมาณการลงอีกครั้ง และความเสี่ยงคือการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะกดดันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างเงินกู้กับเงินฝาก (NIM) ให้แคบลง กดดันผลประกอบการอีกครั้ง ดังนั้น จึงแนะนำหาจังหวะทยอยขายในกรณีที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น และรอสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า หากพิจารณาจากมูลค่า ณ ปัจจุบัน ถือว่าหุ้นในกลุ่มแบงก์ค่อนข้างจะถูก จาก P/BV ที่ลดลงมาต่ำใกล้กับค่าเฉลี่ยช่วงปี 2551 ซึ่งเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (ปัจจุบัน P/BV กลุ่มแบงก์อยู่ที่ 0.8 เท่า)

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวในรอบนี้อาจจะเป็นเพียงแค่ช่วงสั้นเท่านั้น เพราะธุรกิจยังมีความเสี่ยงจากโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก ซึ่งจะเข้ามากดดันให้ผลประกอบการอ่อนตัวลงได้อีก และแนวโน้มผลประกอบการช่วงไตรมาส 4 นี้ ก็อาจจะถูกกดันจากภาระการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นได้อีก

“แม้ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์จะถูกแต่คงจะไม่สามารถกระโดดเข้าไปลงทุนได้ทันที เพราะความเสี่ยงข้างหน้ายังมีอยู่มาก โดยเฉพาะโอกาสในการลดดอกเบี้ยลงอีกครั้ง"นายเทิดศักดิ์ กล่าว