"ดั๊มพ์ราคา" 5จี ลดต้นทุนกลุ่มสื่อสาร

"ดั๊มพ์ราคา" 5จี  ลดต้นทุนกลุ่มสื่อสาร

ใกล้ความเป็นจริงเข้ามาทุกทีแล้วที่คนไทยจะได้ใช้งาน 5จี เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายที่ทันสมัยที่สุดของยุคนี้ ด้วยคุณสมบัติที่เหนือกว่า 4จี ในหลายด้านๆ

ทั้งการตอบสนองที่เร็วและไวขึ้น รับส่งข้อมูลได้มากกว่า รวมทั้งยังสามารถรองรับจำนวนผู้ใช้งานได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เรียกว่า 5จี จะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลกของเรา

การใช้งาน 5จี ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การดูหนัง ฟังเพลง หรือ เล่นเกมส์ออนไลน์ของคนทั่วไป แต่จะถูกนำไปใช้ในภาคธุรกิจเป็นหลัก ทั้งวงการแพทย์ ระบบขนส่งโลจิสติกส์ การผลิต ภาคการเกษตร ฯลฯ โดย 5จี สามารถใช้ได้กับอุปกรณ์ทุกชนิดที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ (Internet of Things หรือ IoT) ต่อไปใครจะไปรู้ว่าในอนาคตเราอาจได้เห็นรถยนต์ไร้คนขับ หรือ การผ่าตัดทางไกลผ่านเทคโนโลยี 5จี ในประเทศไทยก็ได้

ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามผลักดัน 5จี ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ 5จี จะกลายเป็นเส้นเลือดหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ดึงดูดการลงทุนของต่างชาติ โดยล่าสุดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เคาะไทม์ไลน์การประมูล 5จี และราคาตั้งต้นออกมาเป็นที่เรียบร้อย โดยหวังว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ได้ใช้งาน 5จี ภายในเดือนก.ค. 2563

ดูจากเกณฑ์การประมูลต้องบอกว่า กสทช. พยายามเปิดทางให้เต็มที่ งัดสารพัดวิธีหวังจูงใจเอกชน เพราะจะเปิดประมูลพร้อมกันถึง 4 ย่านความถี่ มีใบอนุญาตให้เลือกชอปมากถึง 56 ใบอนุญาต ได้แก่ คลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 27 ใบอนุญาตๆ ละ 100 เมกะเฮิรตซ์ ราคาใบอนุญาตตั้งต้นถูกที่สุด 300 ล้านบาท, คลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 19 ใบอนุญาตๆ ละ 10 เมกะเฮิรตซ์ ราคาใบอนุญาต 1,862 ล้านบาท

กสทช. มั่นใจว่าทั้ง 2 คลื่น จะขายใบอนุญาตได้ทั้งหมด รวม 46 ใบอนุญาต เป็นเงินค่าประมูล 43,470 ล้านบาท เพราะเป็นย่านความถี่สูงที่เหมาะกับการใช้งาน 5จี มากที่สุด และในท้องตลาดก็มีอุปกรณ์รับส่งสัญญาณที่รองรับคลื่นเหล่านี้อยู่แล้ว

ส่วนอีก 2 คลื่นที่เหลือ อาจไม่ได้รับความสนใจเท่า 2 คลื่นแรก เพราะเป็นคลื่นที่เคยจัดสรรไปแล้วและยังเหลืออยู่ ราคาตั้งต้นจึงต้องอิงกับราคาที่เคยประมูลก่อนหน้านี้ ได้แก่ คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 7 ใบอนุญาตๆ ละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาใบอนุญาตละ 12,468 ล้านบาท และ คลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ใบอนุญาตๆ ละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาใบอนุญาต 8,792 ล้านบาท  

ราคาตั้งต้นประมูล 5จี ครั้งนี้ ถูกดั๊มพ์ลงมาเยอะมาก เมื่อเทียบกับการประมูลคลื่นความถี่หลายครั้งที่ผ่านมา ซึ่งากอิงจากการคาดการณ์ของ กสทช. ว่า คลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ และ 2600 เมกะเฮิรตซ์ จะได้รับความสนใจมากที่สุด เท่ากับว่าจะเริ่มต้นเคาะประมูลกันที่ราคา 300 ล้านบาท เท่านั้น ลดลงหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับการประมูล 4จี ครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปี 2558 ซึ่งราคาตั้งต้นคลื่น 1800 MHz อยู่ที่ 15,912 ล้านบาท และ คลื่น 900 MHz เริ่มต้นที่ 11,260 ล้านบาท

นอกจากราคาที่จูงใจแล้ว กสทช. ยังปรับเกณฑ์การจ่ายค่าใบอนุญาตซึ่งถือเป็นต้นทุนหลักของผู้ประกอบการ โดยเว้นไม่ต้องจ่ายค่าไลเซนส์ไปเลย 3 ปี กำหนดให้ปีที่ 1 จ่ายค่าประมูล 10% ปีที่ 2-4 ไม่ต้องจ่าย ปีที่ 5-10 จ่ายปีละ 15% แต่มีเงื่อนไขว่าต้องนำเงินที่ไม่ได้จ่ายค่าใบอนุญาตปี 2-4 ไปลงทุนพัฒนา 5จี ในอีอีซี 50% ของพื้นที่อีอีซี ภายใน 1 ปี และลงทุนในพื้นที่สมาร์ทซิตี้ครอบคลุม 50% ของจำนวนประชากรภายใน 4 ปี

ดูจากเกณฑ์ทั้งหมดถือว่าเอื้อเอกชนเต็มที่ เพราะรัฐตั้งใจอยากให้ 5จี เกิดขึ้นเร็วที่สุด ส่วนถามว่าเอกชนจะเข้าประมูลหรือไม่ เชื่อว่าไม่น่าพลาดเพราะทุกอย่างถูกปูทางไว้หมดแล้ว ไม่ประมูลรัฐอาจเคืองได้ โดยเฉพาะโอเปอร์เรเตอร์ค่ายมือถือทั้ง 3 ราย

แต่ในมุมเอกชนสิ่งที่กังวลมากสุดตอนนี้ คือ เมื่อราคาใบอนุญาตถูกลง อาจมีผู้ไม่หวังดีเข้ามาปั่นราคาจนสูงเกินจริง จึงอยากให้ กสทช. ออกมาตรการป้องกัน เช่น เสนอวางแบงก์การันตี 100% เพื่อกันไม่ให้มีการทิ้งใบอนุญาต เหมือนกรณีของ “แจส โมบาย” ที่เข้าประมูล 4จี เมื่อปี 2558 มีส่วนดันราคาประมูลพุ่งกระฉูด แถมยังทิ้งไลเซนส์ให้คนอื่นเจ็บใจอีก นอกจากนี้ ยังมีคำถามตามมาว่าความต้องการใช้งาน 5จี มีมากพอหรือยัง

โอเปอร์เรเตอร์ทั้ง 3 เจ้า คงไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิม ที่ผ่านมาควักเงินจ่ายค่าใบอนุญาตกันเป็นแสนล้าน ไหนยังต้องลงทุนทั้งโครงข่าย สถานีฐาน ค่าทำการตลาดอีก จึงต้องคิดหน้าคิดหลังกันให้รอบคอบมากขึ้น แต่ในมุมของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าค่าคลื่น 5จี ที่ถูกลง ถือเป็นปัจจัยบวกต่อผู้ประกอบการได้มากกว่าเสีย