เลิก “1คน10บัตรรพ.” ใช้บัตรประชาชนใบเดียวรู้ประวัติรักษา

เลิก “1คน10บัตรรพ.” ใช้บัตรประชาชนใบเดียวรู้ประวัติรักษา

สปสช.-สดช.เอ็มโอยู ใช้ประโยชน์ “Big Data”บริการสาธารณสุข เพิ่มความสะดวก-รวดเร็ว-ประสิทธิภาพรักษาผู้ป่วย ลดปัญหา 1 คนมี10เลขบัตรรพ. เสียบบัตรประชาชนใบเดียวรู้ประวัติรักษา รับประกันข้อมูลไม่รั่วไหล ผู้ป่วยเท่านั้นมีสิทธิ์เปิดเผย

     วันนี้(31ต.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูลรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) ร่วมเป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่(Big Data) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สดช.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)
     นายอนุทิน กล่าวว่า การได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงดีอีเอสในการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ด้านสาธารณสุข เป็นการเริ่มต้นที่จะทำให้ประชาชนสามารถได้รับบริการสาธารณสุขที่สะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันหากใช้บัตรประชาชนเสียบเข้าไปก็จะรู้ข้อมูลการรักษาของผู้ป่วยเฉพาะในโรงพยาบาลแห่งนั้น แต่เมื่อมีการพัฒนาใช้ประโยชน์จากBig Data ก็จะทำให้สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวแล้วรู้ข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยเมื่อต้องไปเข้ารับการรักษาพยาบาลในรพ.ต่างๆ ทั้งการแพ้ยา ประวัติการรักษา หรือยาประจำตัวต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการวินิจฉัยโรคเมื่อผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในรพ.อื่นๆ อีกทั้ง เป็นการลดภาระการให้บริการทางการแพทย์
        “ในอนาคตรมว.ดีอีเอสมีแนวคิดที่จะให้ไปรษณีย์ไทย มาดำเนินการจัดส่งยาวให้กับผู้ป่วยถึงบ้าน หรือส่งให้ร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการรับยาที่ร้านขายยาด้วย เพราะที่ผ่านมาการมารักษาที่รพ. ผู้ป่วยต้องรอพบแพทย์และรอรับยานาน และสังคมไทยเมื่อมีผู้ป่วย 1 คน จะมีญาติพี่น้องมารพ.ด้วยอีก 6 คน ไม่ได้เสียเฉพาะค่ารักษาเท่านั้นแต่ยังเสียเรื่องอื่นๆด้วย เช่น 6 คน เข้าห้องก็ต้องกดน้ำ 6 ครั้ง เป็นต้น แต่ถ้าลดคนป่วยมารพ.ได้ ก็จะช่วยรัฐประหยัดในด้านต่างๆได้มาก”นายอนุทินกล่าว
        

         นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากทำให้สำเร็จภายในปี 2563 คือการรวมฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้แล้วเสร็จเพื่อทุกฝ่ายใช้วางแผนพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งนายอนุทินดูแลทั้ง 2 กระทรวงอยู่แล้ว ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทราบว่าสธ.มีการจัดทำฐานข้อมูลเอาไว้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีการรวมเป็นฐานข้อมูลเดียว รพ.แต่ละแห่งต่างมีฐานข้อมูลผู้ป่วยเป็นของตัวเอง ทำให้ผู้ป่วยถ้าไปรักษา 10รพ.ก็จะมีบัตรผู้ป่วย 10 ใบ ดังนั้น วันนี้หากเชื่อมโยงฐานข้อมูลกันแล้วผู้ป่วยไม่ต้องถือบัตร 10 ใบแล้ว ใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียวเท่านั้น


       “ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ เพราะข้อมูลนี้จะถูกเก็บไว้ที่คลาวน์ แพทย์ หรือเจ้าหน้าที่รพ.ไม่สามารถเปิดได้ คนที่เปิดข้อมูลได้มีเพียงคนเดียวคือผู้ป่วยเจ้าของข้อมูลนั้น เพราะการเปิดดูข้อมูลจะใช้บัตรประชาชน นอกจากนี้ข้อมูลดังกล่าวยังช่วยเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิอีกด้วย และตนยังมีแนวคิดให้ไปรษณีย์ฯ ช่วยรพ.ในการส่งยาให้ผู้ป่วยด้วยในโรคที่ต้องรักษาขั้นพื้นฐาน”นายพุทธิพงษ์กล่าว


         ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การดำเนินงานบัตรทอง 17 ปีที่ผ่านมา สปสช.จัดเก็บข้อมูลการใช้บริการผู้ป่วยในกว่า 100 ล้านข้อมูล ผู้ป่วยนอกอีกกว่า 200 ล้านข้อมูล และยังมีฐานข้อมูลผู้ป่วยรายบุคคล ซึ่ง สปสช.เคยเชื่อมโยงฐานข้อมูลสิทธิการรักษา และสวัสดิการสังคม ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จนสามารถตรวจสิทธิ์ผ่านบัตรประชาชนใบเดียวไปแล้ว และกำลังจะพัฒนาการเชื่อมข้อมูลกับสภากาชาดไทยเรื่องสิทธิการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ใหญ่มาก หากได้เทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการข้อมูลที่ดี สามารถวิเคราะห์และพยากรณ์ทิศทางสุขภาพที่แม่นยำขึ้นก็จะทำให้การพัฒนาสิทธิประโยชน์บัตรทอง และระบบดูแลสุขภาพของประเทศทำได้เต็มศักยภาพ.