รองปธ.สภาฯ เตรียมผลักดันปัญหาโขงแล้ง เข้าที่ประชุมอาเซียน

รองปธ.สภาฯ เตรียมผลักดันปัญหาโขงแล้ง เข้าที่ประชุมอาเซียน

สทนช. เตรียมรายงานสถานการณ์ต่อ กนช. เพื่อหามาตราการลดผลกระทบ

โดยนายศุภชัย โพธิ์สุ พร้อมด้วยนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครพนม ลงพื้นที่ติดตามดูสถานการณ์แม่น้ำโขงในจังหวัด ซึ่งลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง เข้าขั้นวิกฤตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากประเทศเพื่อนบ้านกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อน รวม 15 แห่ง

ทางคณะได้รับฟังปัญหาและผลกระทบจากผู้เกี่ยวข้องในจังหวัด ซึ่งพบว่า ปริมาณแม่น้ำโขงลดลงจนเห็นสันทรายเป็นแนวยาว ทำให้ดินตลิ่งพังหลายจุด อีกทั้งน้ำสาขาแห้งปริมาณเก็บกักต่ำเพียง 10-20% ของความจุ

นายศุภชัย จึงได้มอบให้จังหวัดนครพนมรวบรวมข้อมูลสภาพปัญหา และผลกระทบที่เกิดกับประชาชนในทุกมิติ เสนอเป็นวาระหารือในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำเสนอในที่ประชุมอาเซียนที่กำลังจะมีขึ้นจนถึงวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ในนามรัฐบาลไทยต่อไป

ในขณะเดียวกัน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมคณะทำงานร่วมสาขาทรัพยากรน้ำสมัยวิสามัญ ครั้งที่ 3 ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation : MLC) ที่ประเทศจีนว่า ในต้นสัปดาห์หน้า สทนช.จะร่วมหารือกับลาวเพื่อทำความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำ รวมถึงแผนบริหารจัดการน้ำโดยตรงเพื่อความรวดเร็ว และป้องกันปัญหาอย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ สทนช.จะนำเสนอสถานการณ์น้ำโขง ประเด็นปัญหาภาวะภัยแล้งที่เกิดในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้งจีน ลาว และไทย เข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อบูรณาการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบกับการประกอบอาชีพของประชาชน และผลกระทบโครงสร้างที่ติดกับลำน้ำโขงฝั่งไทย 8 จังหวัดโดยเร่งด่วนต่อไป

นอกจากนี้ ไทยยังได้ใช้กรอบ MLC ผลักดันการวิจัยร่วมกับประเทศสมาชิกเพื่อหาสาเหตุที่ส่งผลทำให้ระดับน้ำโขงลดลงด้วย โดยไทยได้พยายามผลักดันความร่วมมือด้านข้อมูลกับจีนมาระยะหนึ่งภายใต้กรอบ MLC โดยได้มีการประชุมหารือร่วมกับจีนเพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์น้ำของจีนและไทยในช่วงฤดูแล้งเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่จีนได้ให้ข้อมูลสถานการณ์ในช่วงฤดูฝนแล้ว เพื่อให้การวิเคราะห์คาดการณ์สถานการณ์น้ำโขงรวมถึงลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงได้ตลอดทั้งปีทั้งแต่ต้นน้ำจากประเทศจีน อาทิ แผนการระบายน้ำตลอดฤดูแล้ง แนวทางการระบายน้ำเพิ่มหากท้ายน้ำอย่างไทยต้องการน้ำ เป็นต้น ที่ประชุมมีมติให้เตรียมการจัดประชุมหารือโต๊ะกลมสำหรับระดับรัฐมนตรีด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ (MLC) ครั้งที่ 1 ช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ ณ กรุงปังกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และการพิจารณาถ้อยแถลงการณ์ร่วม (Joint Statement) เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนความร่วมมือด้านน้ำระหว่างประเทศให้เป็นรูปธรรมขึ้น ซึ่ง สทนช.จะสรุปผลการประชุมในครั้งนี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบมอบหมายรัฐมนตรีด้านน้ำของไทยเข้าร่วมประชุมต่อไป ดร. สมเกียรติกล่าว

ภาพ/ แม่น้ำโขงแล้งที่จังหวัดนครพนม/ พรรคภูมิใจไทย