เอไอเอสปูพรมไอโอทีรับ “5จี”

เอไอเอสปูพรมไอโอทีรับ “5จี”

ผนึกพันธมิตรจัดประชุมวิชาการมุ่งสู่ผู้นำอาเซียน

เอไอเอสตอกย้ำผู้นำนวัตกรรมไอโอทีครบวงจร ระบุตลาดเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% ในเครือข่ายมีดีไวซ์คอนเน็คกันถึง 1.1 ล้านชิ้น ดันเม็ดเงินทะลุ 30,000 ล้านบาท ชี้เทรนด์ของเทคโนโลยีเป็นหัวใจปูพรมทั้งภาครัฐ-เอกชน ผนึกพาร์ทเนอร์ประกาศความร่วมมือยกระดับไทยสู่ผู้นำไอโอทีอาเซียน จัดประชุมวิชาการโชว์เคสงานวิจัย

นายนวชัย เกียรติก่อเกื้อ หัวหน้าแผนกงานการตลาด กลุ่มลูกค้าองค์กร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่เป็นอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) เชื่อมต่อขณะนี้มากกว่า 1.1 ล้านชิ้น แบ่งเป็นการเชื่อมต่อในเครือข่ายเอไอเอสราว 662,000 ชิ้น ส่วนการเชื่อมต่อภายในเครือข่ายอื่นอยู่ที่ 441,000 ชิ้น โดยตลาดไอโอทีขณะนี้มีมูลค่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งเฉลี่ยมีอัตราการเติบโตปีละ 20% สำหรับตลาดที่มีการใช้ไอโอทีมากที่สุดคือตลาดคอนซูเมอร์ เช่น การใช้สมาร์ทโฮม สมาร์ทวอช อุปกรณ์แวร์เอเบิ้ลต่างๆ

ทั้งนี้ ปัจจุบันไอโอทีถือเป็นเทรนด์ที่เป็นพื้นฐานของการทรานฟอร์มธุรกิจทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะเป็นหัวใจสำคัญที่จะวางรากฐานไปสู่ความเป็นสมาร์ทซิตี้ในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมาเอไอเอสเองก็ให้ความสำคัญกับโซลูชั่นไอโอที ทั้งการสร้างและพัฒนานวัตกรรมไอโอทีมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการเอไอเอส ไอโอที อัลลิอันซ์ โปรแกรม หรือ เอไอเอพี ซึ่งจะเป็นการต่อยอดรองรับ 5จีในอนาคตด้วย ซึ่ง 5จีนี้จะช่วยในการเชื่อมต่อของ “ธิงส์” ในไอโอทีต่างๆกับคลาวด์

“เทรนด์ของตลาดไอไอทีหากแบ่งตามอุตสาหกรรมจะเป็นกลุ่มไฟแนนซ์ใช้มากถึง 55.5% รองลงมาคือตลาดขนส่งและโลจิสติกส์ 29.23% ซึ่งการมาของ 5จีในอนาคตแบ่งเป็น 3 ระดับคือ 1.ความเร็ว 2.การเชื่อมต่อ และ 3.ความหน่วงที่ต่ำ ซึ่งตนมองว่าสิ่งที่ไอโอทีต้องการจาก 5จีคือ 2 ปัจจัยข้างต้น ซึ่งเมื่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีการเปิดประมูล 5จีในต้นปีหน้า ก็คาดว่าไทยจะเริ่มประยุกต์ใช้ 5จีกับธุรกิจปี 2565 เป็นต้นไป"

157249634998

พร้อมกันนี้ เอไอเอสยังได้เป็นพันธมิตรร่วมกับสมาคมไทยไอโอที และมหาวิทยาลัยศรีปทุม เพื่อยกระดับเทคโนโลยีไอโอทีของไทย ภายใต้ความร่วมมือนี้ เอไอเอส และ เอไอเอพี จะเข้ามาสนับสนุนการทำงานของสมาคมฯ ทั้งในด้านองค์ความรู้ฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีให้กับสมาชิกสมาคมฯและประชาชนที่สนใจ, การเปิดให้นำโซลูชันไอโอที ที่พัฒนาขึ้นมาทดลองทดสอบบนโครงข่ายจริง และการจัดประชุมวิชาการงานวิจัย ที่พร้อมนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นโซลูชันที่ให้บริการได้จริงในอนาคตซึ่งจะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถบุคลากรด้านไอดอทีไทยเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านอาเซียนในอนาคต”

ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว จึงร่วมกันจัดงาน Thai IoT International Conference งานประชุมวิชาการด้านไอโอทีครั้งแรกของประเทศไทย ผสมผสานระหว่างการจัดการประชุมเชิงวิชาการ (Academic conference) และการหาผู้ร่วมลงทุนทางการค้า (พิชชิ่ง) ซึ่งนักวิจัยที่มีผลงานทางด้านไอโอที สามารถนำเสนองานเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านวิชาการและสามารถนำผลงานไปเสนอเพื่อหาผู้ร่วมลงทุนในธุรกิจได้ ​สำหรับหัวข้องานวิจัยด้านไอโอทีจากสถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะครอบคลุม 8 หัวข้อ ได้แก่ ด้านการเกษตร การท่องเที่ยว สุขภาพ อุตสาหกรรม พลังงาน โลจิสติกส์ ด้านการจัดการและสังคมศาสตร์ โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 ธ.ค.นี้