ภาวะ 'คอขวดด้านการผลิต' ปัญหาใหม่ในเวียดนาม

ภาวะ 'คอขวดด้านการผลิต' ปัญหาใหม่ในเวียดนาม

ภาวะ “คอขวดด้านการผลิต” ปัญหาใหม่ในเวียดนาม ผลพวงจากกระแสแห่ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมาตั้งในเวียดนาม แต่เวียดนามยังไม่มีความพร้อมที่จะเป็น "โรงงานผลิต" ของโลกอย่างจีน

ช่วงที่สหรัฐและจีนทำสงครามการค้ากัน เวียดนาม กลายเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการทำสงครามนี้ เพราะบริษัทหลายแห่งที่อยู่ในจีนพากันย้ายฐานการผลิตมาที่เวียดนาม แต่ปัญหาคือ ทำให้เวียดนามเผชิญภาวะ“คอขวดด้านการผลิต”ในอุตสาหกรรม เนื่องจากความต้องการผลิตสินค้ามีมากกว่าความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและแรงงานที่มีในระบบเมื่อเทียบกับจีน ที่ถูกจัดให้เป็น“โรงงาน”ของโลก

157247870879

ซึ่งเรื่องนี้ นักวิเคราะห์อย่างเซดริก ชีฮับ หัวหน้าประเมินความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกจากฟิทช์ โซลูชัน มองว่า ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถซึมซับการผลิตทางด้านอุตสาหกรรมที่หลั่งไหลเข้ามาเพราะผลพวงจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนได้อย่างแท้จริง

เวียดนาม ตลาดด้านหน้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกมองมาโดยตลอดว่าเป็นหนึ่งในผู้ชนะที่แท้จริงในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ดำเนินมานานกว่าปี จนส่งผลให้ปริมาณการค้าของทั้ง2ประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกพลอยหดหายไปด้วย

อ็อกฟอร์ด อีโคโนมิคส์ บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก สัญชาติอังกฤษ ระบุว่า ผลพวงจากกรณีพิพาทระหว่างกันทำให้ทั้ง2ประเทศต้องหาแหล่งสินค้าจากประเทศอื่น ขณะที่บรรดาผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตในจีนก็มองหาแหล่งผลิตสินค้าในประเทศอื่นเพื่อเลี่ยงการถูกเก็บภาษีหากต้องส่งออกสินค้าเข้าไปขายในตลาดสหรัฐ

สิ่งที่ทำให้เวียดนาม ถูกมองว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตสินค้าด้านอุตสาหกรรมแทนที่จีนในอนาคตมี 5 ด้านด้วยกัน เริ่มจากการส่งออกของเวียดนาม ที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปตลาดสหรัฐ

157247876649

“เป็นที่ชัดเจนว่า จีนสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในการส่งออกสินค้าไปตลาดสหรัฐ ขณะที่ยอดส่งออกของเวียดนามไปตลาดสหรัฐเพิ่มขึ้นมาก ”ยูเบน พาราซูเอลเลส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากโนมูระ ธนาคารชั้นนำของญี่ปุ่น ให้ความเห็น

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าบางคนให้ความเห็นว่า สินค้าจากจีนถูกย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามและจัดการบรรจุหีบห่อใหม่เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์จากประเทศเวียดนาม จากนั้นก็ส่งออกเข้าไปขายในตลาดสหรัฐ เพื่อเลี่ยงการถูกจัดเก็บภาษีนำเข้าเพิ่ม

ต่อมาคือเม็ดเงินลงทุนหลั่งไหลเข้าเวียดนาม กล่าวคือ การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้บริษัทต่างๆเริ่มขยายกำลังการผลิตในเวียดนาม ซึ่งแนวโน้มลักษณะนี้เริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้วที่ต้นทุนการผลิตสินค้าภาคอุตสาหกรรมในจีนเพิ่มขึ้น ทำให้บรรดาผู้ประกอบการต้องมองหาแหล่งผลิตอื่นที่ต้นทุนการผลิตถูกกว่า

“แม้ไม่ได้เกิดกระแสย้ายฐานการผลิตออกจากจีนครั้งใหญ่แต่บริษัทหลายแห่งก็มองหาแหล่งผลิตสินค้าในประเทศอื่น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย เพื่อบรรเทาผลกระทบจากกรณีขัดแย้งทางการค้าของสองประเทศยักษ์ใหญ่”อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (อีไอยู) ระบุในรายงานเดือนตุลาคม

อีกเหตุผลหนึ่งที่ช่วยตอบข้อสงสัยว่า เพราะเหตุใด บรรดาผู้ผลิตสินค้าจึงไม่ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนทั้งหมด ก็เป็นเพราะว่าภาคการผลิตด้านอุตสาหกรรมของจีนและเศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่กว่าเวียดนาม จึงเอื้อให้บรรดาบริษัทต่างๆเดินสายการผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่เวียดนาม แม้จะถูกมองว่าเป็นแหล่งผลิตทางเลือกในยามเกิดสงครามการค้า แต่ด้วยความที่เวียดนามเป็นประเทศที่มีฐานการผลิตทางด้านอุตสาหกรรมเล็ก การผลิตจึงไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าจีน

157247881849

นอกจากนี้ เวียดนาม ยังมีปัญหาเรื่องทุนมนุษย์ จากมุมมองของฟิทช์ โซลูชันส์ เห็นว่า อุปสรรคใหญ่ที่ทำให้เวียดนามเป็นฐานการผลิตได้ในระดับที่ไม่ดีพอเทียบเท่าจีนคือ การที่แรงงานเวียดนามยังมีระดับการศึกษา ทักษะความชำนาญและสุขภาพไม่เทียบเท่าแรงงานในจีน

จริงอยู่ที่เวียดนามมีแรงงานในวัยทำงานจำนวนมาก แต่เมื่อเทียบขนาดแรงงานในระบบกับจีนแล้ว เวียดนามยังถือว่ามีแรงงานน้อยมาก

“ถ้าเปรียบเทียบเวียดนามกับจีน เวียดนามมีประชากรน้อยกว่าจีน 14 เท่า นั่นหมายความว่า มีความเสี่ยงสูงที่เมื่อเกิดกระแสย้ายฐานการผลิตเข้ามาในเวียดนาม จะทำให้เวียดนามเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานแตกต่างจากจีนที่ไม่มีปัญหานี้”เคนนี หลิว นักวิเคราะห์จากฟิทช์ โซลูชันส์ ให้ความเห็น

ต่อมาคืออัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ของเวียดนามที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันนี้ ปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้น บวกกับการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (เอฟดีไอ)ทำให้เวียดนามมีอัตราการเติบโตของจีดีพีแข็งแกร่งและขยายตัวอย่างรวดเร็ว สวนทางกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากสารพัดปัจจัยเสี่ยง และสวนทางกับเศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน

แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว ขนาดเศรษฐกิจของเวียดนามมีเล็กกว่าจีนมาก จึงทำให้เป็นเรื่องยากที่เวียดนามจะแทนที่จีนในฐานะแหล่งผลิตสินค้าด้านอุตสาหกรรมเพื่อตลาดโลกได้อย่างแท้จริง ถึงแม้ว่าเวียดนามจะได้ประโยชน์ และเป็นผู้ชนะในการทำสงครามการค้าที่ยืดเยื้อระหว่างสหรัฐและจีนก็ตาม