‘สุวิทย์’ลั่นอีก 3 ปี อว.ปลอดขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

‘สุวิทย์’ลั่นอีก 3 ปี อว.ปลอดขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” เดินหน้าโครงการประเทศไทยไร้ขยะ อิงแนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียนใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มและเกิดประโยชน์สูงสุด ประกาศทุกหน่วยงาน ก.อุดมศึกษาฯ เลิกใช้ 4 พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ถุงหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร หลอดและแก้วพลาสติก

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” เดินหน้าโครงการประเทศไทยไร้ขยะ อิงแนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียนใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มและเกิดประโยชน์สูงสุด ประกาศโรดแมพขยะเป็นศูนย์ภายในปี 2570 สั่งนำร่องทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เลิกใช้ 4 พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ถุงหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร หลอดและแก้วพลาสติกในอีก 3 ปี ชูงานวิจัยและนวัตกรรมรีไซเคิล/อัพไซเคิลเปลี่ยนขยะมูลฝอยให้เป็นเงิน


ปัญหาขยะของเสีย เป็น 1 ในโจทย์ท้าทายสังคมไทยที่ต้องการองค์ความรู้จากวิจัยและนวัตกรรมมาแก้ไข หากเป็นไปตามแผนการที่วางไว้บนพื้นฐานโมเดล BCG โดยเฉพาะ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) คาดว่าอนาคตอีก 5 ปีปริมาณขยะมูลฝอยจะลดเหลือ 16.5 ล้านตันจากปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีขยะมูลฝอย 27.8 ล้านตัน ซึ่งมีเพียง 1 ใน 3 หรือประมาณ 9.5 ล้านตันที่เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ส่วนที่เหลืออีก 7.36 ล้านตันถูกจำกัดอย่างไม่ถูกต้อง

อว.นำร่องลดใช้พลาสติก-โฟม

157245011517

สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้กำหนดกรอบนโยบายการบริหารจัดการขยะพลาสติกในภาพรวมของประเทศด้วยโรดแมพการจัดการขยะพลาสติก ปี พ.ศ. 2561-2573 ซึ่งมีขยะพลาสติก 4 ประเภทที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งที่ต้องเลิกใช้ในภายปี 2565 พร้อมตั้งเป้าปี 2570 นำขยะและบรรจุภัณฑ์พลาสติกกลับเข้ามาใช้ประโยชน์ทั้ง 100% เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นหนึ่งในของแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ BCG โมเดล ที่มุ่งเน้นในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีการนำทรัพยากรที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ และปลดปล่อยของเสียสู่สภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด


“การผลักดันแนวคิด Zero waste Thailand (ประเทศไทยไร้ขยะ) สามารถทำได้ใน 2 ส่วนใหญ่คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และการพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้มีการนำทรัพยากรที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ และลดการปล่อยของเสียสู่สภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด ตามหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ส่งเสริมให้เปลี่ยนของเหลือทิ้งกลายเป็น แหล่งรายได้แห่งอนาคต (Waste to wealth) เช่น การเปลี่ยนสินค้าเกษตรและวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการเกษตรให้เป็นสารมูลค่าสูงในอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานและวัสดุชีวภาพ หรือการแปลงขยะมูลฝอยให้เป็นพลังงานที่ยั่งยืนในชุมชน เป็นต้น”


สำหรับในปีงบประมาณ 2563 โครงการประเทศไทยไร้ขยะถือเป็น Flagship ของนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่จะได้รับการจัดสรรงบประมาณเบื้องต้น 600 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งยังไม่รวมงบประมาณในการขับเคลื่อนโครงการของ BCG ที่ได้จัดสรรไว้อีก 2,500 ล้านบาทผ่านทางกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อยู่ภายใต้การดูแลของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่จะเปิดโอกาสให้หน่วยงานวิจัยต่างๆ สามารถส่งข้อเสนอโครงการเข้ามาเพื่อขอรับทุน โดยได้จัดสรรงบประมาณให้เป็น multiyear/ block grant เพื่อให้เกิดการต่อเนื่องของโครงการ และมีประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณสูงสุด

สร้างเทคโนฯเพิ่มมูลค่าขยะ

157245017367

ขณะนี้ได้มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ช่วยหมุนเวียนขยะกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุดหลายงาน อาทิ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ให้ทุนสนับสนุน 3 โครงการคือ 1. พัฒนาแอพพลิเคชั่นรับบริจาคอาหารจากห้างสรรพสินค้าที่ขายไม่หมด เพื่อนำไปมอบให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ 2. เครื่องแปรรูปขยะเศษอาหารให้กลายเป็นดินคุณภาพดี โดยการพัฒนาให้ใบมีดสามารถย่อยบดอาหารขนาดใหญ่และแข็งได้ ก่อนนำไปผ่านการปรับปรุงคุณภาพดินและระบบทำแห้ง ส่งผลให้สามารถแปรสภาพขยะเป็นดินได้ภายใน 30 นาที และดินที่ได้มีสารอาหารสูงกว่าค่าเฉลี่ยดินการค้าทั่วไป


3. แอพพลิเคชั่น Recycle Day สำหรับจัดการของเหลือใช้ครบวงจร เป็นศูนย์กลางในการคัดแยกขยะ พร้อมเชื่อมโยงกลุ่มผู้รับซื้อของเก่ากับกลุ่มที่ต้องการขายของเหลือใช้ ภายในแอพจะมีการนัดหมายระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ตรวจสอบราคาซื้อขาย สะสมคะแนน ตลอดจนข้อมูลพื้นฐานต่างๆ อาทิ ราคากลางซื้อขายขยะ ขยะอันตราย วัสดุรีไซเคิลและขยะทั่วไป


สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พัฒนาระบบผลิตก๊าซเชื้อเพลิงจากขยะมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยใช้เศษวัสดุชีวมวลจากการเกษตร หรือ กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากแทนที่จะต้องเสียงบประมาณในการกำจัดขยะ ยังก่อให้เกิดพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ช่วยประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น และยังก่อให้เกิดรายได้จากการขายพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ โดยในอนาคตมีโครงการขยายกำลังการผลิตเป็น 200 วัตต์ และ 1 เมกะวัตต์อีกด้วย

ปรับความคิดเปลี่ยนพฤติกรรม

157245021254

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน วิจัยแปลงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเป็นสารเคมีมูลค่าเพิ่ม โดยการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาโลหะออกไซด์ผสมสำหรับเปลี่ยนก๊าซให้เป็น “โอเลฟินส์จำพวกเอทิลีนและโพรพิลีน” ที่เป็นผลิตภัณฑ์ขั้นต้นในการผลิตเม็ดพลาสติกที่ใช้ผลิตสินค้าอย่าง ชิ้นส่วนรถยนต์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ฯลฯ


สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับ อบต.ตาลเดี่ยว จ.สระบุรี เป็นพื้นที่นำร่องโครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาขับเคลื่อนต่อการจัดการขยะชุมชนตั้งแต่ต้นทาง คัดแยกขยะ การจัดทำธนาคารขยะ กลางทาง คือ นำกลับมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เกล็ด (Flake) หรือ เม็ดพลาสติกรีไซเคิล อีกทั้งการนำขยะเก่าผลิตเป็นเชื้อเพลิง


“การที่จะบรรลุความท้าทาย Zero waste Thailand สำเร็จจำเป็นต้องขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการเป็นต้นแบบที่ดี จึงประกาศเป็นนโยบายให้ทุกหน่วยงาน อว. ร่วมรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักให้บุคลากรในสังกัด รวมถึงผู้รับบริการและประชาชนทั่วไป ผ่านช่องทางการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ซึ่งผมคิดว่า การสร้างความตระหนักถึงปัญหาแล้วนำมาสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นสิ่งสำคัญสุด” สุวิทย์ กล่าว


นอกจากนี้ก็ยังมีส่วนของงานวิจัยที่ต้องขับเคลื่อน เช่น วิจัยปลดล็อคกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค วิจัยลักษณะของเสียในแต่ละพื้นที่ที่ย่อมแตกต่างกัน ซึ่งจะโยงถึงบีซีจีที่จะแตกต่างกันด้วย การปรับหลักสูตรในมหาวิทยาลัย เช่น การบริการจัดการซีโร่เวสต์ เทคโนโลยีการจัดการขยะ เป็นต้น