“เฉลิมชัย”เร่งเกษตรอินทรีย์ รองรับผลกระทบ“แบน3สาร”

“เฉลิมชัย”เร่งเกษตรอินทรีย์   รองรับผลกระทบ“แบน3สาร”

“เฉลิมชัย” เร่งส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ 1 ล้านไร่ สั่งศูนย์วิจัยพืชทั่วประเทศใช้สารชีวภาพทดแทน 3 สาร พร้อมดันกฎหมายเกษตรกรรมยั่งยืน ตั้งเป้าเกษตรอินทรีย์ขยายตัว 25% ต่อปี

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวานนี้(30 ต.ค.)ว่า ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานในสังกัด เร่งขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเร่งด่วน 3 เรื่องให้เร็วขึ้น เพื่อรองรับการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ตามแผนปฏิบัติการ ประกอบด้วย การเร่งส่งเสริมการใช้สารชีวภาพ ชีวภัณฑ์ ทดแทน 3 สาร ซึ่งก่อนหน้านี้ได้สั่งการให้กระทรวงรวบรวมมาให้ได้มากที่สุด โดยให้ศูนย์วิจัยข้าวพืชไร่พืชสวน ใช้ทดสอบในแปลงทดลองทุกภาคทั่วประเทศ 

เสนอร่าง พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน ฉบับที่ พ.ศ....ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยเร็ว ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนออยู่ในชั้นกฤษฎีกาแล้ว จากนั้นจะเข้าสู่คณะรัฐมนตรี เพื่อส่งเข้าสภาผู้แทนฯ ต่อไป ปัจจุบันมีพื้นที่เกษตรยั่งยืนกว่า 3 ล้านไร่ และจะให้ขยายเป็น 5 ล้านไร่ในเฟสที่หนึ่งโดยเร็ว

เร่งส่งเสริมเกษตรอินทรีย์

เรื่องสุดท้าย คือการยกระดับการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ สามารถขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ได้ถึง 570,000 ไร่ ที่ผ่านการรับรองออร์แกนิค มีอัตราเติบโต 16% ต่อปี เป็นอันดับ 7 ของเอเชีย โดยให้วางเป้าหมายว่าต้องเติบโตขยายตัว 25% ต่อปี เพื่อบรรลุเป้าหมายแรก 1 ล้านไร่ โดยกำลังพิจารณาจัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์แบบบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การใช้สารชีวภัณฑ์ เป็นอีกทางออกของการกำจัดศัตรูพืช ซึ่งที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ได้ให้ความสำคัญกับการพิจารณาขึ้นทะเบียนกลุ่มวัตถุอันตราย ที่มีความปลอดภัยในทุกด้าน ได้แก่ สารสกัดจากธรรมชาติ สารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช เป็นลำดับแรก

ขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์

“การขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย คือการพิจารณาเพื่อเลือกที่จะใช้วัตถุอันตรายชนิดใดชนิดหนึ่งในประเทศ โดยการประเมินประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งผู้ขอขึ้นทะเบียนทุกรายจะต้องทำการทดลองประสิทธิภาพกับพืชและศัตรูพืช ตามที่ระบุไว้ในฉลาก เพื่อพิสูจน์ว่าวัตถุอันตรายที่ขอขึ้นทะเบียน สามารถใช้ได้ผลจริง ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ที่สำคัญจะต้องผ่านการประเมินข้อมูลพิษวิทยา เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม”

สำหรับ ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช จะพิจารณาจาก 3 หลักเกณฑ์ที่สำคัญ คือประเมินข้อมูลพิษวิทยา การขอนำเข้าหรือผลิตตัวอย่าง เพื่อวิเคราะห์คุณภาพของผลิตภัณฑ์ และการทำการทดลองประสิทธิภาพ ซึ่งการกำหนดหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนตามขั้นตอนดังกล่าว เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้สารที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการกำจัดศัตรูพืช ป้องกันไม่ให้ผลผลิตเสียหาย และที่สำคัญต้องเป็นสารที่มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

โดยปัจจุบันมีสารชีวภัณฑ์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตรแล้ว 73 ทะเบียน ดังนี้ Bacillus thuringiensis 57 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดหนอนใยผัก หนอนกระทู้ หนอนเจาะฝักลายจุด และหนอนหัวดำ Bacillus amyloliquefaciens 1 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดโรคแอนแทรคโนสในพริกBacillus subtilis   8 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดโรคกาบใบแห้งในข้าว และโรคแอนแทรคโนสในพริก

Beauveria bassiana 2 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาว Metarhiziumanisopliae 2 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดเพลี้ยจักจั่นฝ้ายในมะเขือเปราะ Nuclear Polyhedrosis Virus (NPV) 1 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดหนอนกระทู้หอม และTrichoderma harzianum 2 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดโรคแอนแทรคโนสในพริก