คลังเร่งออกชิมช้อปใช้ ‘เฟส3’ ‘สมคิด’ สั่งเพิ่มสวัสดิการคนจนผ่านประกันอุบัติเหตุ

คลังเร่งออกชิมช้อปใช้ ‘เฟส3’  ‘สมคิด’ สั่งเพิ่มสวัสดิการคนจนผ่านประกันอุบัติเหตุ

"สมคิด”สั่งคลังเดินหน้าชิมช้อปใช้ เฟส 3 หวังช่วยสร้างรายได้ชุมชน ยันไม่ใช่การกระตุ้นใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ยันสวัสดิการประชารัฐต้องพัฒนาต่อ ด้าน “อุตตม” ขอ 1 เดือน ประเมินผล 2 เฟส ย้ำแนวทางเพิ่มสวัสดิการคนจนที่ถือบัตร 14.6 ล้านคน นอกจากประกันอุบัติเหตุ

รัฐบาลผนึกสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ(แบงก์รัฐ) เปิดโครงการประชารัฐสร้างไทย พัฒนาล้านนา เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน นำร่องกลุ่มประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ที่ จ.เชียงใหม่ โดยวานนี้ (31 ต.ค.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายในงานว่า รัฐบาลมีแผนจะเพิ่มสวัสดิการรัฐแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยต่อเนื่อง โดยขณะนี้เตรียมที่จะทำประกันอุบัติเหตุให้เพิ่มเติม เพื่อช่วยดูแลทางด้านรายได้ กรณีที่เกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย 

ขณะเดียวกันยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการชิมช้อปใช้ที่จะช่วยสร้างรายได้ในชุมชน​ ซึ่งยังมีโครงการต่อเนื่อง ยืนยันว่าไม่ใช่โครงการที่กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย ส่วนรูปแบบจะเป็นอย่างไรนั้นกำลังพิจารณา

“เรื่องสวัสดิการประชารัฐก็ต้องพัฒนาต่อไป โดยเรื่องประกันอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่อยู่ในใจ ถ้าคนยากจนเกิดอุบัติเหตุ ขาดรายได้จะทำอย่างไร และจะมีอีกหลายอย่างตามมา กำลังศึกษาอยู่ ส่วนเฟสสามชิมช้อปใช้นั้น อย่าเพิ่งใจร้อน ให้ดูจุดประสงค์ว่าทำเพื่ออะไร ตอนนี้คลังต้องการให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ”

เขากล่าวว่า ต้องเข้าใจว่า ตัวที่ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมี 2 อย่าง คือ การส่งออก และการหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ นั่นคือ ผลผลิตภายในชุมชน ท่องเที่ยวชุมชน วันนี้เรื่องการจัดการตลาดเป็นเรื่องสำคัญ ยกตัวอย่าง ปั๊มน้ำมัน ปตท.รูปแบบใหม่ เรียกว่า “ปั๊มไทยเด่น” ต่อไปจะไม่ใช่ปั๊มน้ำมันอย่างเดียว แต่เป็นจุดศูนย์ให้คนต่างจังหวัดสามารถเอาสินค้ามาวางจำหน่ายได้ และ ปตท.จะช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ชาวบ้าน

ย้ำดูแลทั้งคนและคนรวย

สำหรับแนวทางการดูแลเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น จะดูแลทั้งคนจนและคนรวย โดยกลุ่มคนรวยนั้น จะต้องส่งเสริมให้สามารถแข่งขันในเวทีโลก ส่วนคนจนนั้นก็ต้องดูให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ฉะนั้นประเทศจะอยู่ได้จะต้องพึ่งพากันและกัน ส่วนตัวเลขจีดีพีนั้นเป็นเรื่องสมมติ แม้ว่าจะขยายตัวได้ในระดับสูง แต่จะไม่มีประโยชน์ถ้าการกระจายรายได้ไม่ทั่วถึง

ทั้งนี้ การทำเศรษฐกิจฐานรากให้แข็งแรงเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งการเดินทางมาเปิดงานประชารัฐสร้างไทยในครั้งนี้ เพราะต้องการฉายตัวอย่างให้แกนนำชุมชนให้รู้ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเป็นอย่างไร มีหน่วยงานอะไรที่พร้อมจะช่วยเหลือ แต่ในที่สุดเขาก็ต้องพัฒนาตนเองได้ด้วย ทั้งนี้ ต้องร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนกระทรวงเศรษฐกิจ แม้กระทั่งมหาวิทยาลัย 

สำหรับกรณีไทยถูกตัดสิทธิ์จีเอสพีนั้น เขากล่าวว่า เป็นเรื่องที่เขาเข้าใจมานานแล้วว่า ประเทศเราไม่ได้ด้อยพัฒนา ฉะนั้นเราต้องภูมิใจ แต่อยากสื่อให้เขาเข้าใจว่า สินค้าบางอย่างเรายังไม่แข็งแรง ก็ต้องไปคุยกันแบบฉันมิตรประเทศไม่ใช่ตัดแล้วต้องเป็นศัตรูกัน 

คลังขอ1เดือนประเมินชิมช้อปใช้

ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า ต้องขอเวลา 1 เดือนในการประเมินผลการดำเนินงานของโครงการชิมช้อปใช้ทั้งเฟส 1 และเฟส 2 เพื่อดูว่า ยังมีความต้องการเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ทั้งนี้ได้รับรายงานล่าสุด ยอดลงทะเบียนเฟส 2 ครบจำนวน 3 ล้านคนแล้ว 

สำหรับแนวทางเพิ่มสวัสดิการคนจน รัฐบาลมีแผนที่จะเพิ่มสวัสดิการให้แก่กลุ่มคนจนที่ถือบัตรสวัสดิการรัฐอยู่ 14.6 ล้านคน โดยจะดำเนินการผ่านการดูแลเรื่องการทำประกันอุบัติเหตุ ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการเพิ่มศักยภาพผ่านการสร้างอาชีพที่ยั่งยืน

สำหรับปัญหาหนี้นอกระบบนั้น ขณะนี้เราได้ช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ได้ร่วมปล่อยสินเชื่อเพื่อแก้ปัญหาไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อราย ขณะนี้สามารถปล่อยสินเชื่อแล้วรวม 2.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่กระทรวงการคลังเองก็สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้ามาประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยอีกด้วย

ส่วนกฎหมายสถาบันการเงินชุมชนที่ได้จัดตั้งขึ้น กระทรวงการคลังขอให้ออมสิน และ ธ.ก.ส.เป็นพี่เลี้ยงในการสนับสนุนให้กลุ่มออมทรัพย์ต่างๆ ได้ยกระดับเป็นสถาบันการเงินชุมชนเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนได้มากยิ่งขึ้น

'ออมสิน'เตรียมสภาพคล่องหนุน     

ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารออมสินมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะปล่อยสินเชื่อ เพื่อสนับสนุนโครงการประชารัฐสร้างไทย เนื่องจากออมสินมีเงินฝากในระบบ 2.3 ล้านล้านบาท และปัจจุบันปล่อยสินเชื่อไปเพียง 2.1 ล้านล้านบาท 

เบื้องต้นออมสินมีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อโครงการประชารัฐ จำนวน 1.5 แสนล้านบาท เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ธนาคารออมสินจึงได้ออกสินเชื่อธนาคารประชาชนผ่านโปรโมชั่น 5.5.5. คือ ระยะเวลา 5 ปี ดอกเบี้ยคงที่ 0.5% ต่อเดือน วงเงินกู้รายละ 50,000 บาท ซึ่งเสียดอกเบี้ยเพียงวันละ 1.67บาท ในทุกๆ 10,000 บาท ถูกกว่าการกู้หนี้นอกระบบหลายเท่า เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้า และผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่ มีเงินทุนสำหรับประกอบธุรกิจได้ โดยสามารถยื่นกู้ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธ.ค 2562

จ่อของบกองทุนแบงก์รัฐ 2 พันล้าน

นอกจากนี้ ในการดึงกองทุนหมู่บ้านเข้ามาจัดตั้งโครงการธนาคารประชาชน ธนาคารออมสินได้ออกไปรับฟังความคิดเห็นจากกองทุนหมู่บ้านต่างๆแล้ว โดยมีกองทุนหมู่บ้านที่สนใจเข้ามาสู่ธนาคารประชาชนประมาณ 340 แห่ง และกองทุนหมู่บ้านในส่วนของ ธ.ก.ส.ประมาณ 200 แห่ง รวมทั้งสิ้น 540 แห่ง ซึ่งธนาคารออมสินจะพัฒนาระบบของธนาคารให้สามารถรองรับระบบกองทุนหมู่บ้านได้ทั้งหมด

“ธนาคารออมสินจะเป็นศูนย์กลางของระบบธนาคารประชาชน โดยจะใช้งบประมาณจากกองทุนพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 2,000 ล้านบาท ลงทุนระบบคอร์แบงกิ้ง (Core Banking) หรือระบบคอมพิวเตอร์หลักขึ้นมา เพื่อให้ธนาคารออมสินและธนาคารธ.ก.ส.ได้ใช้ดูแลธนาคารชุมชนทุกแห่ง โดยขณะนี้ได้เสนอเรื่องไปที่ผู้บริหารสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (สภาแบงก์รัฐ) เพื่อเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา คาดว่าภายใน 2-3 เดือน จะได้คำตอบ”  ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวและว่า

สำหรับกองทุนพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจปัจจุบันมีรายได้เข้ามา 10,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ธนาคารออมสินได้ใส่สมทบไปจำนวน 5,000 ล้านบาท ดังนั้น การใช้เงินพัฒนาระบบคอร์แบงกิ้งเพียง 2,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาธนาคารประชาชนให้มีการทำบัญชีที่ดี ตามหลักสากล มีการจัดเก็บข้อมูลในเงินฝาก ถอนเงิน เพื่อให้สามารถออนไลน์ข้อมูลมาที่กระทรวงการคลังได้ จึงไม่น่ามีปัญหา