‘แอดวานซ์’ หุ้นหลบภัย ส่องกำไรยังสตรอง

‘แอดวานซ์’ หุ้นหลบภัย   ส่องกำไรยังสตรอง

ตลาดหุ้นดูจะไม่เป็นใจให้นักลงทุนในช่วงนี้ซักเท่าไรเพราะดัชนีไหลรูดลงมาหลุด 1,600 จุด ท่ามกลางสถาบันภายในประเทศขายสุทธิออกมาจนกระทบมูลค่าหุ้นขนาดใหญ่ปรับตัวลดลงกันถ้วนหน้า

     ตามมาด้วยปัญหาการตัดสิทธิ์ GSP ของไทยจากสหรัฐทำให้ตลาดหวั่นวิตกว่าจเป็นปัจจัยลบมาซ้ำเติมภาคการส่งออกจากที่เผชิญค่าเงินบาทที่แข็งค่าอยู่แล้ว

     ดัชนีหุ้นไทยยืนปริ่มระดับ 1,600 จุด เพราะยังมีความวิตกต่อปัจจัยดังกล่าว รวมทั้งการประกาศผลประกอบการกำไรไตรมาส 3 ที่กลุ่มเรียลเซ็ทเตอร์จะเริ่มทยอยออกมา จากก่อนหน้านี้กลุ่มธนาคารแจ้งกำไรเสร็จสิ้นไปแล้วและเป็นไปตามคาดคือภาพรวมกำไรลดลง หนี้เสียเพิ่มขึ้นจนต้องตั้งสำรองฯ ตามมา

    ขณะเดียวกันกลุ่มธุรกิจบางกลุ่มยังสามารถทำกำไรเติบโตได้อย่างเนื่อง โดยเฉพาะไตรมาส 3 ที่ส่วนใหญ่จะเป็นโลว์ซีซั่น กลุ่มสื่อสาร เป็นกลุ่มเต็งจ้าที่ทำตัวเลขกำไรออกมาได้เติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและเทียบกับปีก่อน ทั้ง 3 โอปอเรเตอร์รายใหญ่

    จากบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ที่แจ้งกำไรเป็นรายแรก มีกำไร 20,535 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3 % จากไตรมาสก่อน และ 14.3 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีกำไร 1,834 ล้าบาท เพิ่มขึ้น 6.2 % จากไตรมาสก่อน และ เพิ่มขึ้นเกือบ 300 % จากช่วงเดียวกันปีก่อนขาดทุน 921 ล้านบาท

     โดยปัจจัยหลักมาจากรายได้บริการที่เพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อรายได้ต่อหมายเลข (ARPU) ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย แม้ว่าจำนวนลูกค้าจะมีการปรับตัวลดลงก็ตาม รวมทั้งความสามารถในการประหยัดต่อต้นทุนจึงทำให้กำไรปรับดีทั้งกำไรปกติและกำไรสุทธิ

     เมื่อเบอร์ 3 ในอุตสาหกรรม ‘ดีแทค’ สามารถทำตัวเลขกำไรออกมาได้ดีจึงมีการมองว่าผู้นำในธุรกิจนี้ย่อมมีแนวโน้มไม่แตกต่างกัน โดยเบอร์ 1 บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC จะแจ้งงบวันนี้ (31 ต.ค.) ถือว่ามีข่าวบวกจากการเข้าทำสัญญาระงับข้อพิพาทกับบริษัท ทีโอที จำกัด มูลค่า 680 ล้านบาท ในช่วงเดือนก.ย.ที่ผ่านมา

    ประเด็นดังกล่าวกลับมองว่าเป็นปัจจัยบวกต่อ แอดวานซ์ เพราะบริษัทได้มีการบันทึกค่าใช้จ่ายจากยอดดังกล่าวไว้ในงบ การเงินตั้งแต่ต.ค. ปี 2558 ถึงมิ.ย. ปี 2559 เป็นจํานวน 559 ล้านบาท ดังนั้นตัวเลขดังกล่าวเข้ามาเป็นรายการพิเศษในงบการเงินทันที

    รวมทั้งที่ผ่านบริษัทได้มีต้องชําระค่าเช่าในอัตราเดือนละ 167 ล้านบาท มาตั้งแต่ก.ค. ปี 2559 การซื้ออุปกรณ์ให้กับทีโอที ทำให้หมดภาระในส่วนค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปด้วย แม้ว่าบริษัทจะยังตกลงซื้ออุปกรณ์โทรคมนาคม จากทีโอทีเพื่อต่อใช้ในระบบ 3G และ 4G มีการชำระค่าอุปกรณ์ช่วงก.ค. ถึง ส.ค. ปี 2562 มูลค่าประมาณ 250 ล้านบาท แต่ถือว่าเป็นภาระที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับในอดีต

    ส่วนด้านการดำเนินงาน แอดวานซ์ ถือว่ามีจุดเด่นจากประเด็นการทำสงครามค่าโทรไม่ได้รุนแรงมากในช่วงที่ผ่านมา หลังมีข่าวว่า ดีแทค เริ่มทำโปรโมชั่นพิเศษค่าโทรในกลุ่มลูกค้าเติมออกมาในช่วงไตรมาส 3 ส่งผลทำให้อีก 2 ค่ายต้องออกโปรโมชั่น มาสู้

    อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นโปรโมชั่นระยะสั้นสิ้นสุดเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาจึงส่งผลกระทบไม่มาก เมื่อเทียบกับการทำสงครามโปรโมชั่นของทั้ง 3 ค่ายในช่วงปี 2561 จนทำให้ผลการดำเนินงานปรับตัวลดลงถ้วนหน้าและบางรายยังขาดทุนด้วยซ้ำ

    ด้าน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE แม้ว่ายังมีปัจจัยถ่วงจากภาระหนี้ที่ยังสูงอยู่จึงทำให้มีดอกเบี้ยจ่ายชำระ แต่ยังมีรายการพิเศษจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) มูลค่า 15,700 ล้านบาท ในช่วงเดือน ส.ค.

    ทั้งนี้กลุ่มสื่อสารกำลังจะมี สตอรี่ใหม่เข้ามาจากการเคาะราคาประมูลคลื่น 5 G ในสิ้นเดือนต.ค. และเตรียมประมูลต้นปี 2563 ซึ่งจะเป็นทั้งโอกาสและภาระทางการเงินในอนาคต ซึ่งหากราคาที่ระบุออกมาไม่สูงเหมือนในอดีตบวกกับเทคโนโลยีรองรับ ทำให้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่น่าลงทุนอีกครั้งให้กับกลุ่มสื่อสารได้ไม่ยาก