โลกหลังยุคโลกาภิวัตน์ | Global Vision

โลกหลังยุคโลกาภิวัตน์ | Global Vision

ในยุคที่อะไรๆ ดูจะเปลี่ยนแปลงไปเร็วซะหมด ทุกอย่างต้องปรับเปลี่ยนไปตามกระแสโลกาภิวัฒน์ให้ทัน แล้วเราพร้อมหรือยังกับแนวโน้มในอีกหนึ่งทศวรรษที่ดูเหมือนว่าทั้งเศรษฐกิจ การเมือง การค้ายังซึมลากยาวนาน แต่เทคโนโลยีกลับกลายเป็นความหวังใหม่

จะเป็นโชคดีหรือโชคร้ายของคนยุคผู้อ่านและผู้เขียนก็ไม่ทราบได้ ที่กำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านขนานใหญ่ ทั้งในแง่สังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี การเมือง และภูมิประชากร ซึ่งผู้เขียนมองว่า การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เหล่านี้ จะทำพลิกให้โลกยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

หากหลับตา และนึกถึงสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในโลกปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีสิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน 5 ประการ คือ

(1) สังคมทั่วโลกเข้าสู่ภาวะสูงวัย (Aging Society) มากขึ้น (2) กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์มีมากขึ้น (3) เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ (หรือ Industry 4.0) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งบวกและลบต่อกระบวนการผลิต การทำงาน และการดำเนินชีวิตอย่างหน้ามือเป็นหลังเท้า (4) เศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงเรื่อยๆ ทั้งจากเทคโนโลยีใหม่ที่แม้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ (ยัง) ไม่ได้พลิกโลกเท่ายุคก่อน ขณะที่ประชากรที่สูงวัยก็ทำให้กำลังแรงงานลดลง และ (5) นโยบายการเงินทั่วโลกกำลังหมดประสิทธิภาพลง ผลจากการที่ภาครัฐทั่วโลกที่ใช้นโยบายการเงินอย่างพร่ำเพรื่อ จนกระทั่งประสิทธิภาพของดอกเบี้ยต่อเศรษฐกิจไม่มากเหมือนเก่า

157250903268

จากภาพดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนมองว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเกิด 10 Megatrends หรือแนวโน้มเปลี่ยนโลก โดย 5 แนวโน้มแรกจะเป็นสิ่งที่ผู้เขียนคาดว่าจะเกิดขึ้น และ 5 ประเด็นหลังจะเป็นผลกระทบของ 5 แนวโน้มแรก ดังนี้

1. โลกาภิวัตน์ด้านการค้าจะยิ่งลดลง โดยจะย้ายฐานการผลิตมาในประเทศมากขึ้น (หรือที่เรียกว่า Reshoring) อันเป็นผลจาก (1) แนวนโยบายกีดกันทางการค้าทั้งภาษี (Tariff) และไม่ใช่ภาษี (NTB) รวมถึงการตอบโต้กันไปมา (Retaliation) จะทำให้ราคาสินค้านำเข้าแพงขึ้น (2) เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้การผลิตง่ายขึ้น ทำให้ประเทศหนึ่งๆ สามารถผลิตสินค้าจำนวนไม่มากเองได้ เช่น ผู้ผลิตอาดิดาสสามารถกลับไปผลิตรองเท้ากีฬาในเยอรมนีและสหรัฐเองได้โดยใช้เครื่อง 3D Printing

2. โลกาภิวัตน์ด้านการลงทุน เทคโนโลยี การเงิน รวมถึงการเดินทางจะลดลง จาก (1) นโยบายต่อต้านการลงทุน (Outward Direct Investment) เช่น สหรัฐมีการลดภาษีเพื่อดึงให้บริษัทที่ไปผลิตต่างชาติกลับประเทศ (2) เกิด Splinternet หรือการแบ่งแยกระบบ Internet ออกเป็น 2 ขั้ว โดยขั้วหนึ่งจะเป็นขั้วที่นำโดยสหรัฐ เช่น iOS และ Android และอีกขั้วหนึ่งของจีน นำโดย Harmony OS ของหัวเว่ย ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องเลือกว่าจะใช้ระบบใด (3) ระบบการเงินจะแบ่งแยกมากขึ้น โดยเฉพาะการที่สหรัฐใช้ระบบการชำระเงิน SWIFT เป็นอาวุธในการคว่ำบาตรประเทศต่างๆ เช่น อิหร่าน เกาหลีเหนือ ทำให้การโอนเงินจะยากขึ้น และ (4) นโยบายคุมเข้มการตรวจคนเข้าเมือง ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศยากขึ้น

3. ขั้วอำนาจของโลกจะเปลี่ยนไป จากสหรัฐที่เป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลก (Unipolar) กลายเป็น เกิดโลกหลายขั้ว (Multipolar) จากมหาอำนาจระดับภูมิภาคต่างๆ ซึ่งจะทำให้การร่วมกลุ่มทางการค้าและการลงทุนระดับภูมิภาค (Trade and Investment bloc) ใหม่ๆ มีมากขึ้น โดยมีกลุ่มสำคัญๆ 5 กลุ่ม คือ อเมริกาเหนือ (USMCA), ยุโรป (EU), เอเชียแปซิฟิก (ASEAN+6 หรือ RSEP), กลุ่มที่นำโดยจีน (BRI) และกลุ่มอื่น (เช่น แอฟริกา ตะวันออกกลาง และกลุ่มที่นำโดยรัสเซีย) เป็นต้น

4. นโยบายการเงินโลกจะคงดอกเบี้ยต่ำระยะยาว โดยดอกเบี้ยนโยบายไม่สามารถขึ้นได้ หรือหากขึ้นก็เพียงชั่วคราว ก่อนที่จะต้องลดลงอีกครั้ง จาก (1) เงินเฟ้อจะต่ำยาว เนื่องจาก Demand ทั่วโลกตกต่ำ (2) หนี้ทั่วโลกสูงขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ภาระทางการเงินของประชาชนและภาครัฐสูงขึ้น และ (3) ตลาดการเงินโลกเสพติดสภาพคล่อง เมื่อใดที่มีแนวโน้มที่ทางการจะถอนสภาพคล่อง จะทำให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดการเงินรุนแรง ทำให้ธนาคารกลางไม่กล้าที่จะถอนสภาพคล่อง

5. การพึ่งนโยบายการคลังจะมากขึ้น จากนโยบายการเงินที่กระสุนหมด สิ่งที่ทางการจะทำได้ก็คือกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐมากขึ้น ดังนั้นในอีก 10 ปีข้างหน้า เป็นไปได้ที่จะเห็นภาคการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งด้านการคมนาคมขนส่ง และด้านเทคโนโลยี ทำให้หนี้สาธารณะจะเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก แต่ผลตอบแทนพันธบัตรจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นมาก จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรรัฐบาลยังมีอยู่

6. ภาวะ New normal อันได้แก่ โตต่ำ ค้าน้อย โภคภัณฑ์ถูก และผลตอบแทนการลงทุนที่ต่ำและผันผวนนั้น จะอยู่กับเราไปอีกนาน อันเป็นผลหลายปัจจัยโดยเฉพาะสังคมสูงวัยที่ทำให้ทั้งความต้องการจับจ่ายและกำลังแรงงานลดลง และผลิตภาพ (Productivity) ของโลกจะลดลง อันเป็นผลจากการปิดกั้นทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิด Trade Diversion หรือการบิดเบือนทางการผลิตและการค้า ทำให้ประสิทธิภาพลดลงและต้นทุนสูงขึ้น

นอกจากนั้น ปัจจัยอื่นๆ เช่น ระบบ splinternet การโอนเงินรวมถึงการเดินทางของผู้คนที่ยากขึ้น ก็ทำให้การเติบโตลดลง

7. ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของแต่ละบุคคลและระหว่างเศรษฐกิจจะมีมากขึ้น ผลจากความสามารถด้านเทคโนโลยี (Technological Literacy) ที่แตกต่างกัน ทำให้แรงงานที่ไม่สามารถควบคุมเทคโนโลยีในการทำงานได้จะถูกเลิกจ้าง

157250953942

ขณะที่ในระดับประเทศ ประเทศที่เคยเป็นผู้ผลิตและส่งออกเช่นประเทศกำลังพัฒนาจะแย่ลง แต่ประเทศร่ำรวยและมีเทคโนโลยีจะสามารถผลิตเองได้มากขึ้น

8. ภาคบริการจะสำคัญมากขึ้น ผู้คนจะหันเข้าสู่ภาคบริการมากขึ้น ขณะที่ภาคการผลิต (โดยเฉพาะอุตสาหกรรม) จะลดความสำคัญลง ผลจากทั้งสงครามการค้า ความนิยมใน e-commerce และเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ไม่จำเป็นที่ต้องผลิตสินค้าจำนวนมากเช่นแต่ก่อน

9. ความเสี่ยงสงครามเย็นจะมีมากขึ้น จากความขัดแย้งของมหาอำนาจในภูมิภาคต่างๆ ในระบบ Multipolar จะมีมากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐกับจีน ยุโรปกับรัสเซีย อิหร่านและซาอุดีอาระเบีย ทำให้การสั่งสมกำลังอาวุธมีมากขึ้น และ

10. โลกจะเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้ง จากนโยบายการเงินที่กลับมาอัดฉีดขนานใหญ่ นำไปสู่การเก็งกำไรในสินทรัพย์เสี่ยง นำมาซึ่งภาวะฟองสบู่แตกได้ โดยผู้เขียนเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดวิกฤติในอีก 1-2 ปีข้างหน้า

เศรษฐกิจผันผวน การค้าโดดเดี่ยว การเมืองอึมครึม แต่เทคโนโลยีให้ความหวัง เป็นสิ่งที่รอเราในทศวรรษหน้า ผู้อ่านทั้งหลาย เตรียมพร้อมแล้วหรือยัง

[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ ]