ผู้นำอาเซียน-อินเดีย เร่งหนุนการค้าทะลุเป้า

ผู้นำอาเซียน-อินเดีย เร่งหนุนการค้าทะลุเป้า

ผู้นำอาเซียน-อินเดียเร่งหนุนการค้าทะลุเป้าท่ามกลางความหวังว่าเหล่าผู้นำจะคิกออฟโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อสนับสนุนการค้าระหว่างกันมากขึ้น

อินเดีย เป็นคู่ค้าอันดับ 6 ของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) หากแต่ตัวเลขการค้าดูเหมือนห่างไกลจากเป้าหมายร่วมกันที่วางไว้ว่า จะผลักดันมูลค่าการค้าอาเซียน-อินเดียมีมูลค่าสูงถึง 200 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 เนื่องจากตัวเลขการค้าระหว่างกันในปี 2561 อยู่ที่ 73.63 พันล้านดอลลาร์ ส่วนการลงทุนอยู่ที่ 1.73 พันล้านดอลลาร์ ถือเป็นอันดับ7 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียมาอาเซียนอยู่ที่ประมาณ 2.79 ล้านคน

ด้วยเหตุนี้ การประชุมสุดยอดอาเซียน - อินเดีย ครั้งที่ 16 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ย. 2562 ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 จึงเป็นความหวังที่ผู้นำ 10 ประเทศอาเซียน และอินเดียคิกออฟโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อสนับสนุนการค้าระหว่างกันมากขึ้น

ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ว่า การประชุมครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง มีเป้าหมายในการติดตามแผนปฏิบัติการอาเซียน-อินเดียปี 2559-2563 มุ่งกระชับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและอินเดียที่ปีนี้ครบรอบ 27 ปีของความสัมพันธ์ หวังขับเคลื่อนความร่วมมือไปยังทิศทางที่ได้วางไว้ร่วมกัน

ในการประชุมสุดยอดอาเซียน - อินเดีย ครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอาเซียน และประเทศผู้ประสานงานอินเดีย จะทำหน้าที่ร่วมกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดีย หารือแนวทางเพิ่มการใช้ประโยชน์จากกองทุนอาเซียน–อินเดีย เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการการเชื่อมโยงดิจิทัลระหว่างอาเซียนและอินเดีย

รวมถึงประเด็นการนำทรัพยากรทางทะเลมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือทางทะเล การท่องเที่ยว การคมนาคม สื่อสารมวลชน พลังงาน การศึกษา และวัฒนธรรม ตลอดจนการฟื้นฟูสภาธุรกิจอาเซียน–อินเดีย เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างกัน

"นายกรัฐมนตรีโมดี ให้ความสำคัญมากกับนโยบายมุ่งตะวันออก ย้ำแนวทางที่อินเดียและอาเซียนมองภาพเดียวกันในเรื่องความเชื่อมโยง โดยที่อินเดียประสงค์จะเชื่อมโยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียกับอาเซียนผ่านเมียนมาและไทย และในอนาคตจะไปถึง สปป. ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ผ่านโครงการถนนทางหลวง 3 ฝ่าย (Trilateral Highway) โดยให้ดำเนินการตามแผนแม่บท ว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนปี 2025 จะเป็นจุดเชื่อมต่อกับกรอบอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงอาเซียน-อินเดีย เพื่อสร้างความเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อจากเอเชียใต้สู่เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และจากมหาสมุทรอินเดียไปสู่มหาสมุทรแปซิฟิก" ดอน กล่าว

ดอน ยังกล่าวด้วยว่า อินเดีย ในฐานะประเทศมีพื้นที่ชายฝั่งติดทะเลยาวกว่า 5,000 ก.ม. สนใจร่วมมือทางทะเล ซึ่งตรงกับที่อาเซียนให้ความสำคัญอยู่ อย่างเศรษฐกิจภาคพื้นทะเล หรือ บลูอีโคโนมี โดยประเทศไทยเสนอให้มีการจัดทำแผนแม่บทบลูอีโคโนมี ที่ได้มีการจัดประชุมเวิร์คช็อปไปเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา

ซึ่งมีนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อแนวทางความร่วมมือทั้งในด้านทรัพยากรทางทะเล การเชื่อมโยงทางทะเล ความปลอดภัย และการทูตทางทะเล เพื่อจะเป็นประโยชน์ให้กับประชาชนอาเซียน-อินเดียร่วมกัน

นอกจากนี้ ยังต่อยอดความร่วมมือ ขยายการเชื่อมโยงทางอากาศ มุ่งหวังให้การเจรจาความตกลงด้านการขนส่งทางอากาศอาเซียน-อินเดีย (เอไอ-เอทีเอ) และความตกลงด้านการขนส่งทางทะเลอาเซียน-อินเดีย (ไอเอ-เอ็มทีเอ)ให้เกิดความคืบหน้า รวมไปถึงและการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของอาเซียนและอินเดีย การเพิ่มขีดความสามารถของวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง ตลอดจนความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

ด้านสุริยา จินดาวงษ์ อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงแผนขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน-อินเดียว่า จะเน้น 3 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ 1.การเชื่อมโยงในมิติต่างๆ ซึ่งผู้นำอาเซียนทั้ง10 ประเทศได้ตกลงร่วมกันว่า การผลักดันให้การก่อสร้างและเปิดใช้โครงการทางหลวง 3 ฝ่าย เชื่อมอินเดีย-เมียนมา-ไทยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

“โครงการถนนทางหลวง 3 ฝ่าย จะเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างอินเดียกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะเป็นอีกหนึ่งเส้นทางการค้า และสัญจรสร้างประโยชน์ร่วมกันให้แก่ทุกฝ่ายอีกทั้ง ผู้นำอาเซียนยังเป็นมติร่วมกันจะขยายเส้นทางถนนของโครงการดังกล่าวเข้าไปสู่ลาว กัมพูชา และเวียดนามด้วย”

2. ช่วยพัฒนาให้เกิดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นที่มาของการมอบหมายให้สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเซียตะวันออก (ERIA) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงจาการ์ตา และได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่น ได้ทำการศึกษาและวิจัยการแปรสภาพพื้นที่และเส้นทางคมนาคมทางบกให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจ รวมไปถึงแผนการขยายเส้นทางเชื่อมโยงโครงการถนนทางหลวงไปยังประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น

3. การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ซึ่งอินเดีย มีบทบาทสำคัญในความร่วมมือนี้ ขณะที่ประเทศไทย และอาเซียน ต่างก็มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้การเจรจาจัดทำข้อตกลงนี้มุ่งไปสู่เป้าหมายสุดท้ายไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้การเจรจาจัดทำข้อตกลงอาร์เซ็ปได้บรรลุความสำเร็จภายในปี 2562

นอกจากนี้ อาเซียน-อินเดีย ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน อย่าง ปัญหาขยะทะเลที่เป็นประเด็นเร่งด่วนให้ทุกประเทศได้ลงมือจัดการทำได้ทันที หรือปัญหาลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งอินเดียเป็นประเทศกำลังพัฒนา และมีประสบการณ์สูงในเรื่องพัฒนาที่ยั่งยืน