มทร.ธัญบุรี แชมป์ ‘รถเข็นคนพิการ’เพื่อการท่องเที่ยว ลุยได้หลายพื้นที่

มทร.ธัญบุรี แชมป์ ‘รถเข็นคนพิการ’เพื่อการท่องเที่ยว ลุยได้หลายพื้นที่

มทร.ธัญบุรี ปลื้มนักศึกษาคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม คว้าแชมป์ การแข่งขันออกแบบและพัฒนา รถเข็นผู้พิการ ชี้ ‘ลุยได้หลายพื้นที่ มีระบบกันกลับและแจ้งเตือนความปลอดภัย’ พร้อมนำไปผลิตจริง สำหรับบริการความสะดวกแก่ผู้พิการเพื่อการท่องเที่ยวต่อไป

                  ทีม MEC_T คว้าแชมป์สำเร็จ นำทีมโดย นายพรพนา เก้าแพ นายธีรพล คงดีพันธ์  นายวรุตม์ บุศย์รัศมี นักศึกษาสาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ พร้อมด้วย นางสาวศุภิสรา กาวีวน และ นายพรพนา รัตนพันธ์ นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.ธัญบุรี ซึ่งมี อาจารย์ธนรัตน์ ชวพันธุ์ เป็นที่ปรึกษาและกำกับดูแล ระบุชัด 4 ฟังก์ชั่นการใช้งานหลัก ที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อการใช้งานเพื่อผู้พิการ โดยสมาชิกในทีมต่างส่งเสียงร่วมกันว่า “ภูมิใจที่รถเข็นต้นแบบนี้จะได้รับการพัฒนาต่อยอด สำหรับการผลิตและใช้งานจริงในอนาคต


                จากผลงานเข้าร่วมแข่งขันของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ 287 ทีม คัดเหลือ 10 ทีมสู่รอบชิงชนะเลิศโครงการ Wheel Share Journey ประกวดออกแบบรถเข็นผู้พิการ เพื่อหาต้นแบบที่เหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ท่องเที่ยว และจะถูกนำไปพัฒนาต่อเพื่อเตรียมผลิตให้แก่สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย จัดโดยบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ซึ่งได้รับเกียรติจาก คุณสายสุณีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบคนพิการทีมชาติไทย คุณเธียร ทองลอย นักกีฬาวีลแชร์ยิงธนูคนพิการทีมชาติไทย พร้อมด้วย คุณชนันท์กานต์ เตชะมณีวัฒน์ นักกีฬาวีลแชร์เทนนิสคนพิการทีมชาติไทย ร่วมเป็นกรรมการตัดสิน จัดขึ้นที่ห้องประชุมสงค์ธนาพิทักษ์ สำนักงานอธิการบดี มทร.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

               นายพรพนา เก้าแพ เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นในการเข้าร่วมว่ามาจากการแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษา เห็นถึงความน่าสนใจที่ออกแบบเพื่อความสะดวกแก่ผู้พิการสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว และอยากนำวิชาความรู้ในสาขาของตนเองมาใช้ จึงได้รวมกลุ่มกับเพื่อนสนิทตั้งทีมขึ้นมา “โจทย์มีความน่าสนใจมาก โดยจะต้องมีเกณฑ์ในการออกแบบที่ต้องคำนึงถึงการเคลื่อนที่ได้ในภูมิประเทศที่หลากหลาย มีความทนทาน บำรุงรักษาง่าย ที่สำคัญจะต้องออกแบบให้มีต้นทุนไม่เกิน 3,500 บาท”

                   จากการประชุมกันของกลุ่มก็เห็นว่า รถเข็นผู้พิการ หลายประเภทที่อยู่ในปัจจุบัน ต่างก็มีขีดจำกัดในการใช้งานบนพื้นผิวต่าง ๆ จึงต้องคิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้รถต้นแบบนี้สามารถไปได้หลากหลายพื้นที่ และจากประสบการณ์ที่ใช้งานเป็นประจำของจักรยานล้อใหญ่ Fatbike ที่มีสมรรถนะลุยกรวดหินดินทรายได้ มีหน้ายางใหญ่ มีความยืดหยุ่นสูงและน้ำหนักเบา จึงได้ดัดแปลงมาใช้ประกอบรถเข็นขึ้น ส่วนล้อหน้าของรถเข็นนั้น ได้ศึกษารถเข็นของประเทศญี่ปุ่นซึ่งสามารถลุยหิมะได้ จึงนำแนวคิดการออกแบบล้อหน้ามาดัดแปลงเพิ่มเข้าไป ด้วยการนำระบบล้อสกีหน้ามาติดตั้งเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มหน้าสัมผัสของล้อหน้า จึงทำให้รถเข็นมีศักยภาพและสามารถลุยในพื้นทรายได้ดียิ่งขึ้น ไม่ทำให้ล้อจม เคลื่อนที่ได้ง่าย

                นายธีรพล คงดีพันธ์ หนึ่งในสมาชิกของทีม  กล่าวว่า การออกแบบให้มีระบบกันกลับ ด้วยการนำแนวคิดรถเข็นในสนามบินมาปรับใช้ เพื่อให้ผู้พิการสามารถหยุดพักได้ระหว่างใช้งานในทางลาดชัน ขณะเดียวกันยังช่วยผ่อนแรงแก่ผู้ใช้งานด้วย เนื่องจากพละกำลังแขนของแต่ละคนไม่เท่ากัน ซึ่งสามารถพักระหว่างทางได้ โดยไม่ทำให้รถเข็นต้องถอยหลังกลับ จากการแข่งขันในรอบชิงขนะเลิศ รถเข็นของเรานั้นได้ผ่านการทดสอบสภาพพื้นผิวใน 4 ลักษณะด้วยกัน ทั้งเส้นทางที่ขรุขระ ทางชัน ทางลาดเอียงและบนพื้นทราย ซึ่งสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี มีการเคลื่อนที่อย่างสะดวก

                    ขณะที่นายวรุตม์ บุศย์รัศมี กล่าวเสริมว่า ยังได้เพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานด้วยการติดตั้งระบบ GPS แจ้งเตือนเมื่อรถเข็นเกิดการพลิกคว่ำ หรืออยู่ในตำแหน่งที่ไม่พร้อมใช้งาน นอกจากนี้ ยังมีปุ่มกดขอความช่วยเหลือในเวลาที่ผู้พิการต้องการความช่วยเหลือ หรือเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยจะแจ้งเตือนไปทางไลน์ของผู้ดูแลและเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วม และอยากจะพัฒนารถเข็นต้นแบบนี้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป ทั้งขนาดและน้ำหนักของตัวรถ ความแข็งแรงและการใช้งานที่มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ประสบการณ์จากเวทีครั้งนี้ สอนให้เห็นถึงความสำคัญและความเท่าเทียมของผู้พิการ อยากให้เกิดการสานต่อจากความคิดนี้ต่อไป

                นับเป็นเวทีแข่งขันระดับประเทศที่เปิดโอกาสให้เหล่านิสิตนักศึกษาได้นำความรู้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ที่สามารถสร้างความเท่าเทียมให้เพื่อนร่วมสังคมต่อไปได้