'อุทยานวิทย์ภาคเหนือ' นำร่องเชื่อมต่อ อีอีซีไอ ผลักดันนวัตกรรมสุขภาพ

'อุทยานวิทย์ภาคเหนือ' นำร่องเชื่อมต่อ อีอีซีไอ ผลักดันนวัตกรรมสุขภาพ

สอว.ชู 'อุทยานวิทย์ภาคเหนือ' นำร่องเชื่อมต่ออีอีซีไอ ผลักดันนวัตกรรมสุขภาพ – โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร พร้อมดันสถาบันการศึกษาในสังกัดผลิตกำลังคนตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรม

นางสาวทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สอว.กำลังทำแผนเชื่อมต่ออุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคสู่เขตนวัตกรรมพิเศษพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) พร้อมเชื่อมโยงสถาบันการศึกษาให้สามารถผลิตกำลังคนที่มีระดับความรู้และความสามารถที่สอดคล้องกับความต้องการในภาคอุตสาหกรรม เตรียมความพร้อมสู่การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 โดยมี อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ นำร่อง

การเชื่อมโยงอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือสู่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จะทำให้พื้นที่ จ.เชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของภาคเหนือ โดยมีอุทยานฯ เป็นตัวกลางในการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้าให้มีมูลค่าสูงขึ้นด้วยวิทยาศาสตร์ งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านโครงการและความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนาเขตบริการนวัตกรรมสุขภาพ ที่มุ่งสนับสนุนผลงานวิจัย นวัตกรรมด้านการแพทย์และชีววิทยาศาสตร์ โดยอาศัยเทคโนโลยีสำคัญ ได้แก่ เทคโนโลยีฐานสุขภาพดิจิทัล เทคโนโลยีผู้สูงวัย พร้อมองค์ความรู้จากสมุนไพรธรรมชาติและนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์สู่การสร้างเมืองแห่งสุขภาพและการแพทย์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียม รวมถึงโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร ที่สนับสนุนผู้ประกอบการด้านธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารให้สามารถต่อยอดและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม โดยเสริมสร้างและพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันในเชิงเศรษฐกิจให้ทัดเทียมระดับสากล

ด้าน ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในฐานะแม่ข่ายดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ กล่าวว่า  อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มีความพร้อมในการให้บริการงานวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างครบวงจรแก่ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และในปี 2563 จะให้บริการสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการขยายกลุ่มธุรกิจสู่ภาคอุตสาหกรรม และผลิตสินค้านวัตกรรมอาหารอย่างครบวงจรผ่านโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร  อีกทั้งยังมีพื้นที่ทดสอบสอบตลาดสินค้านวัตกรรมสำหรับผู้ใช้บริการกับอุทยานฯ อย่าง NSP Inno Store ที่ช่วยสร้างความมั่นใจแก่ผู้ประกอบการในการวิเคราะห์กลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสมก่อนวางจำหน่ายในตลาดจริง โดยผู้สนใจสามารถเข้ามาเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์นวัตกรรมได้ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น. บริเวณชั้น 1 อาคาร B อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่