โจทย์หิน ‘เพซ’ แก้ปมสภาพคล่อง ลุ้น 'เจ้าหนี้' ชี้ชะตาต้นพ.ย.นี้

โจทย์หิน ‘เพซ’ แก้ปมสภาพคล่อง   ลุ้น 'เจ้าหนี้' ชี้ชะตาต้นพ.ย.นี้

นักวิเคราะห์ชี้ ‘เพซ’ ต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อดันโครงการในมือออกขาย ขณะที่ ‘บรุ๊คเกอร์ กรุ๊ป’ เผยอยู่ระหว่างเร่งเจรจาหาข้อสรุป

จากกรณีที่ บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE เปิดเผยแนวทางในการแก้ปัญหากรณีผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท 3 แนวทาง ได้แก่ 1.การหาพันธมิตรรายใหม่เข้ามาร่วมลงทุน 2.การเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อเปลี่ยนหนี้เป็นทุน และ 3.การเข้าฟื้นฟูกิจการ

นายธนภัทร ฉัตรเสถียร นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ มองว่า โอกาสในการที่ธนาคารไทยพาณิชย์ เจ้าหนี้รายใหญ่ของเพซ จะเลือกแนวทางการแปลงหนี้เป็นทุน อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นง่ายนัก เพราะการเข้าไปลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องก็จะขัดกับธุรกิจธนาคารซึ่งเป็นธุรกิจหลัก

นอกจากนี้ การจะเลือกแปลงหนี้เป็นทุน ธนาคารจำเป็นจะต้องประเมินความเสี่ยงอย่างละเอียด และมั่นใจได้ว่าภายหลังจากนั้น เพซจะสามารถกลับมาชำระคืนหนี้ได้ตามปกติ และหากธนาคารไทยพาณิชย์ตัดสินใจแปลงหนี้เป็นทุน เชื่อว่าจะเป็นสัดส่วนการถือหุ้นเพซที่ค่อนข้างสูง

“การแปลงหนี้เป็นทุนเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักจะเป็นทางเลือกท้ายๆ ของธนาคาร ซึ่งในเบื้องต้นก็น่าจะมีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินมาชำระหนี้ก่อน รวมถึงการเจรจาเพื่อขยายเวลาในการชำระหนี้ออกไปและในมุมของเพซ จำเป็นจะต้องเร่งแก้ปัญหาหนี้ให้ได้เสียก่อน เพราะโครงการต่างๆ ที่มีอยู่ในมือขณะนี้ก็หยุดชะงักไปแล้วบางส่วน”

จากการตรวจสอบรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ของ เพซ ดีเวลลอปเมนท์ พบว่าเจ้าหนี้ "2 ราย" ของบริษัท ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เข้ามาถือหุ้นเพซ จำนวน 369.9 ล้านหุ้น คิดเป็น 3.07% ซึ่งเป็นผลจากการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่ราคา 0.51 บาท เมื่อปี 2561

ขณะที่ บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป (BROOK) ได้เข้ามาถือหุ้นเพซในสัดส่วน 91 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.76% ตั้งแต่รอบปิดสมุดทะเบียนเดือน มี.ค. 2562

ด้าน "ชาญ บุลกูล" ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BROOK ในฐานะเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้น เพซ กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเร่งเจรจาร่วมกับเพซ ถึงแนวทางที่จะดำเนินการแก้ปัญหาหนี้กันต่อไปหลังจากนี้ แต่ในเบื้องต้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าแนวทางที่จะตกลงร่วมกันนี้จะเป็นรูปแบบใด

ส่วนแนวทางในการหาพันธมิตรใหม่เข้ามาร่วมลงทุน เพื่อเสริมสภาพคล่องให้บริษัทสามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจ เพียงแต่เพซจะสามารถทำได้ทันตามกรอบเวลาที่จำกัดหรือไม่

ข้อจำกัดแรก คือ กรอบเวลาชำระหนี้หลังจากที่ธนาคารไทยพาณิชย์ขยายให้กับเพซ ซึ่งจะครบกำหนดชำระในวันที่ 4 พ.ย. นี้ จำนวน 2,697 ล้านบาท หรืออีกเพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ และอีก 6,781.96 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 20 พ.ย. 2562

ขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าสินทรัพย์ของเพซจะยังคงสูงกว่าหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยอยู่ราว 6 พันล้านบาท แต่หากเพซยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ในเร็ววัน ผลประกอบการที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่องจะกดดันให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของเพซลดลงไปจนติดลบในที่สุด

สำหรับความเคลื่อนไหวของหุ้นเพซ ล่าสุด ปิดการซื้อขายที่ 0.03 บาท โดยราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาปิดที่ราคาต่ำสุดที่จะเป็นไปได้ในวัน (Floor) ต่อเนื่องสองวันที่ผ่านมา ส่วนฐานะการเงินของเพซ ล่าสุด ส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 255 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 2,298.72 ล้านบาท โดยบริษัทมีผลขาดทุนสะสม 10,639.67 ล้านบาท 

ปัจจุบัน เพซ มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ระหว่างรอรับรู้รายได้ทั้งหมด 4 โครงการ ซึ่งมีมูลค่าแบ็คล็อครวมประมาณ 9 พันล้านบาท และมีอสังหาริมทรัพย์พร้อมขายมูลค่ารวมประมาณ 7 พันล้านบาทได้แก่ 

1) เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน เรสซิเดนเซส บางกอก ในส่วนที่บริษัทขายไปก่อนหน้านี้ มียอดขายรอโอน 876 ล้านบาท 

2) โครงการมหาสมุทร วิลล่า มียอดขายรอโอน 354 ล้านบาท และมีวิลล่าพร้อมขายมูลค่าประมาณ 3.39 พันล้านบาท 

3) โครงการนิมิต หลังสวน มียอดขายแล้วกว่า 90% เป็นยอดขายรอโอนคิดเป็นมูลค่า 6.91 พันล้านบาท และห้องชุดรอขายมูลค่าประมาณ 1.13 พันล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถโอนเพื่อรับรู้รายได้ภายในปี 2563

4) โครงการ วินด์เชลล์ นราธิวาส มียอดขายแล้วกว่า 30% มียอดขายรอโอนมูลค่า 792 ล้านบาท และมีห้องชุดรอขายอีกมูลค่าประมาณ 2.21 พันล้านบาท มีความคืบหน้าก่อสร้างแล้วกว่า 90% และคาดว่าจะสามารถโอนเพื่อรับรู้รายได้ภายในปี 2562