‘ซุปเปอร์ริชส้ม’ เร่งปรับตัว สู้ศึก ‘บัตรแลกเงิน’ แข่งเดือด

‘ซุปเปอร์ริชส้ม’ เร่งปรับตัว สู้ศึก ‘บัตรแลกเงิน’ แข่งเดือด

โลกที่เปลี่ยนไป โดยมี “เทคโนโลยี” เข้ามาเกี่ยวพันในทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่การ “แลกเงิน”

ซึ่งปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง หันมาแข่งกันให้บริการ “แลกเงินออนไลน์” ผ่าน “บัตรเติมเงิน” หรือ “บัตรเดบิต” ที่สำคัญ ยังสามารถใช้จ่ายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ได้เกือบทุกแห่งบนโลกใบนี้ 

...แน่นอนว่า บริการดังกล่าวของธนาคารพาณิชย์ “ส่งผลกระทบ” โดยตรงกับ “ร้านแลกเงิน”

“ปิยะ ตันติเวชยานนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซุปเปอร์ริชสีส้ม ยอมรับกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า บริการแลกเปลี่ยนเงินตราในลักษณะ “ทราเวลการ์ด” ของธนาคารพาณิชย์ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจร้านแลกเงิน ซึ่งปัจจุบันพบว่า ลูกค้าเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมจากการแลกเงินสดทั้งจำนวน หันมาแลกผ่านบัตรทราเวลการ์ดราว 50% และในอนาคตมีแนวโน้มว่า การใช้จ่ายผ่านบัตรทราเวลการ์ดจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นหากร้านแลกเงินไม่ทำอะไรเลย ก็มีโอกาสจะล้มหายตายจากไป ไม่ต่างจาก "โนเกีย"  ที่ถูก “แอปเปิ้ล” หรือ “ซัมซุง” เข้ามาดิสรัป

"เราเห็นการเปลี่ยนแปลงตรงนี้และได้ยื่นขอให้ธปท.ผ่อนคลายกฎระเบียบดังกล่าวมานานแล้ว แต่ก็ไม่เคยได้คำตอบที่ชัดเจน จนกลายเป็นว่าธนาคารพาณิชย์ออกมาทำกันเกือบหมดแล้ว ล่าสุดเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา เรายื่นเรื่องไปที่ ธปท. อีกครั้ง เพื่อขอความชัดเจน เพราะเมื่อแบงก์มีกฎหมายพิเศษทำได้ แล้วธุรกิจร้านแลกเงินจะสามารถมีกฎหมายพิเศษทำได้บ้างหรือไม่"

ปิยะ บอกว่า หน่วยงานกำกับดูแลอาจมีความกังวลมากเกินไป เรื่องการแลกเงิน ว่าจะเป็นแหล่งฟอกเงิน แต่จริงๆ แล้ว เราอยากให้มองว่า การแลกเงินสามารถช่วยรัฐบาลสอดส่องไม่ให้ใครฟอกเงินในบ้านเราได้เหมือนกัน ซึ่งเรามีทั้งหน้าร้านและระบบอิเล็กทรอนิกส์สามารถตรวจสอบได้ ยกเว้นแค่เรายังทำไม่ได้เหมือนแบงก์ ทั้งบัตรเดบิตที่สามารถแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศและการทำ e-KYC ถือเป็นจุดเสียเปรียบของร้านแลกเงินอยู่

“จริงๆแล้วเราเดินมาก่อนหน้าแบงก์ด้วย เพียงแต่ติดปัญหาที่ข้อกฎหมายจากธปท.และเราไม่อยากให้หน่วยงานกำกับมองเรื่องการแลกเงินเป็นแหล่งฟอกเงิน เพราะถ้านึกเช่นนั้นเราก็ไม่มีโอกาสโตและคงตายไปเหมือนโนเกีย แถมยังถูกต่างชาติที่มีระบบดีกว่าเข้ามากลืนไปอีก ทำไมถึงไม่ปกป้องธุรกิจคนไทย อีกทั้งเราเคยขอเข้าแซนด์บ็อซ์ของธปท. แต่เค้าบอกว่าไม่ได้ทำไว้ให้ร้านแลกเงิน เพราะเราไม่ได้อยู่ในกลุ่มของอิเล็กทรอนิกส์”

อย่างไรก็ตามสุดท้ายธุรกิจร้านแลกเงินก็ต้องปรับตัวเองก่อนเพื่อรองรับการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ  โดย “ปิยะ” บอกว่า เราได้ลงทุนพัฒนาระบบ AMLS( anti money laundering systems ) หรือ ระบบตรวจสอบการฟอกเงินของตัวเอง ซึ่งลงทุนไปกว่า 10 ล้านบาท จากเดิมเป็นการเอ้าท์ซอร์สระบบที่มีการลงทุนค่อนข้างสูง โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการทดสอบระบบ AMLS คาดว่าใช้ได้เต็มรูปแบบในเดือนธ.ค.นี้

ส่วนด้านการตลาด เราเตรียมขยายตลาดบัตร Visit Thailand Card สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวไทย สามารถใช้บัตรแทนเงินสด (เฉพาะสกุลเงินบาท) แลกเงินผ่านแอพพลิเคชั่นได้ จุดนี้มองว่า ยังเป็นช่องว่างที่สร้างการเติบโตได้ ด้วยการขยายจุดบริการเติมเงินเพิ่มเติมจากตอนนี้สามารถทำทั้งรับบัตรและเติมเงินได้ที่สาขาสีลม สาขาสนามบินสุวรรณภูมิ สาขาราชดำริ 

ตอนนี้เราอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรกลุ่มห้างสรรพสินค้าชั้นนำและเชื่อมต่อระบบเติมเงินที่สาขาซุปเปอร์ริชทั้ง 51แห่งทั่วประเทศ หากสาขาไหนพร้อมก่อนก็ทำได้ก่อน เพราะต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันการฟอกเงินด้วย

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมแผนการตลาด เพื่อสร้างสร้างการรับรู้และการใช้ประโยชน์จากบัตรนี้ไปยังกลุ่มองค์กรธุรกิจและเตรียมจัดแคมเปญส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศกับบุคคลทั่วไป คาดว่าจะเห็นชัดเจนในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้และปีหน้าด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มคนไทยทั้งองค์กรและบุคคลทั่วไป นำบัตรดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการบริหารความเสี่ยงและจำกัดค่าใช่จ่ายผ่านในบัตรได้ โดยไม่ต้องนับเงินสด เช่น ผู้ปกครองใช้บัตรนี้ให้ลูกไปใช้จ่ายที่โรงเรียน องค์กรให้พนักงานใช้บัตรนี้เอาไว้เติมน้ำมันหรือจ่ายเงินพนักงาน รวมถึงใช้ซื้อสินค้าออนไลน์แทนการใช้บัตรเครดิต ปัจจุบันมีสัดส่วนคนไทยใช้บัตรนี้ถึง70%อีก30%เป็นต่างชาติ

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการแลกเงินและใช้จ่ายบัตร visit thailand card อยู่ที่ปีละ 1,000 ล้านบาท จากในรอบ1ปี ตั้งแต่เดือนก.ย.ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน ช่วงเริ่มต้นอยู่ที่เดือนละ 100,000 กว่าบาท และตั้งแต่เดือนที่6 จนถึงปัจจุบัน เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ1ล้านบาท หรือปัจจุบันเฉลี่ยต่อปี มีมูลค่าประมาณ 10กว่าล้านบาท ถือว่ายังน้อยอยู่

ส่วนทางด้านแนวโน้มตลาดธุรกิจร้านแลกเงินจากนี้ นายปิยะ คาดว่า มูลค่าการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินและกำไรในปีนี้และปีหน้าน่าจะยังทรงตัวได้ จากการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้น แต่มีแนวโน้มชะลอตัวลง หากไม่ได้รับการผ่อนคลายกฎระเบียบและด้วยพฤติกรรมลูกค้าเริ่มเปลี่ยนจากแลกเงินสดทั้งจำนวน หันมาใช้บัตรทราเวลของแบงก์สัดส่วนถึง50%แล้วในอนาคตสัดส่วนตรงนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจุบันยอดธุรกรรมผ่านสาขาของเรายังทรงตัวอยู่ที่ 1ล้านรายการต่อเดือน จำนวนลูกค้าปะมาณ 200,000รายต่อเดือน

อย่างไรก็ตามจากแนวทางปรับตัวของบริษัทที่กล่าวมา นายปิยะ มั่นใจว่า เราจะกลับมามีมูลค่าการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินทะลุ100,000ล้านบาทในปีนี้ เติบโต30% หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่90,000ล้านบาท เติบโตไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ 100, 000 ล้านบาท เนื่องจากการแข่งขันที่สูงแล้ว มีปัญหา ทัวร์ศูนย์เหรียญทำให้นักท่องเที่ยวจีนลดลง และนักท่องเที่ยวจีนเองหันใช้จ่านผ่านอาลีเพย์กับวีแชทมากขึ้น