ศาลปกครองกลาง นัดไต่สวนร้องคุ้มครองคำสั่งแบน 3 สาร 30 ต.ค.นี้

ศาลปกครองกลาง นัดไต่สวนร้องคุ้มครองคำสั่งแบน 3 สาร 30 ต.ค.นี้

ศาลรับคำฟ้อง-คำร้องไต่สวนคุ้มครองชั่วคราวเครือข่ายเกษตรกร ร้องระงับชั่วคราวคำสั่งแบน 3 สารเคมี เกษตรกรเตรียมพยานเพียบกลุ่มอดีต ขรก.-นักวิชาการ

เมื่อวันที่ 28 ต.ค.62 ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลัง "น.ส.อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร " ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง พร้อมด้วยเครือข่าย กว่า10คน ในฐานะผู้แทนเกษตรกรเกษตรกร 6 จังหวัด รวม 1,091คน ยื่นฟ้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย ,คณะกรรมการ ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้ว จากกรณีคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 22 ต.ค.62 ให้ยกเลิกการใช้สารเคมีป้องกัน กำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเสต และ คลอร์ไพรีฟอส พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อทุเลาการบังคับตามมติดังกล่าว ที่กำหนดจะให้เริ่มแบนสามเคมีทั้ง 3 ชนิด ในวันที่ 1 ธ.ค.62 ไว้เป็นการชั่วคราว

ส่วนคำขอท้ายฟ้อง นั้นผู้ฟ้องขอให้ ขอให้ศาลมีคำสั่งคำพิพากษาให้เพิกถอนมติของ คณะกรรมการวัตถุอันตราย คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฯ ที่สั่งระงับ การผลิต - จำหน่าย -นำเข้า-ครอบครอง หรือการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ให้กลับไปเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 ขอให้ รมว.เกษตรฯ สั่งกรมวิชาการเกษตร หรือหน่วยงานในสังกัด กำหนดแผนรองรับแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกษตรกร ได้รับผลกระทบจากการออกมติดังกล่าว เช่น การกำหนดสารทดแทน ที่มีราคาใกล้เคียง กับสารเคมีทั้ง 3 , ขอให้ ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดกำหนดแนวทางบริหารจัดการสารเคมีทั้ง 3 ชนิดในทางการเกษตร ในประเทศไทยเพื่อไม่ก่อให้เกิด ผลกระทบ ต่อเกษตรกร และผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม

 

ล่าสุดเมื่อเวลา 18.00 น.วันที่ (28 ต.ค.) กลุ่มเครือข่ายฯ แจ้งว่า ศาลปกครองได้รับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ ส.26/2562 พร้อมกับรับคำร้องขอให้ศาลไต่สวนเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวไว้ด้วยโดยศาลกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ในวันพุธที่ 30 ต.ค.นี้ เวลา 10.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ "น.ส.อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร "ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ได้ระบุไว้ว่าหากศาลให้ไต่สวนฉุกเฉิน ทางเครือข่ายก็ได้จัดเตรียมพยามไว้ 3 กลุ่มคือ อดีตข้าราชการ สังกัดกรมวิชาการเกษตร 4คน อาทิ อดีตอธิบดี กรม และ ผอ.กลุ่ม , กลุ่มที่ 2 นักวิชาการ 7 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยด้านการเกษตรและวัชพืช อาทิ ม.เกษตรฯ มช. และ ม.สงขลานครินทร์ และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มผู้สารเคมีทางการเกษตร รวมทั้งเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เพื่อที่จะให้การเกี่ยวกับ องค์ประกอบของสารเคมี นอกจากนี้ทางกลุ่มได้ประสานจะให้มีแพทย์มาร่วมเป็นพยานด้วย แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับอย่างเป็นทางการ