นิคมอุตฯ-เอสเอ็มอี เร่งเครื่องรอ“เมืองการบิน”

นิคมอุตฯ-เอสเอ็มอี  เร่งเครื่องรอ“เมืองการบิน”

ผู้ประกอบการนิคมอุตอุตสาหกรรม-เอสเอ็มอี เร่งเครื่องรอการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา-เมืองการบิน

คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่มี พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธาน ได้เปิดซองเอกสารข้อเสนอของกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ไปเมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา ในขณะที่ศาลปกครองสูงสุดมีกำหนดฟังคำพิพากษาคดีที่กลุ่มซีพีฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในวันที่ 4 หรือ 7 พ.ย.นี้ ในขณะที่มีการประเมินว่าจะลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับผู้ชนะการประมูลได้เร็วที่สุด ม.ค.2563

จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกช่วยกระตุ้นการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มาก โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมอากาศยานได้ติดต่อเข้ามาเพื่อดูพื้นที่การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งของดับบลิวเอชเอ ซึ่งการมีนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ใกล้กับสนามบินอู้ตะเภาจึงมีความได้เปรียบ

ทั้งนี้ การลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานจะต้องมีที่ตั้งอยู่ในสนามบินอู่ตะเภา แต่การลงทุนตั้งบริษัทซ่องหรือผลิตชิ้นส่วนอากาศยานไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่ในเขตสนามบินอู่ตะเภาที่กำลังพัฒนา 6,500 ไร่ โดยอาจจะมาตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่บริเวณใกล้เคียงสนามบินอู่ตะเภาได้ ซึ่งมีข้อดีที่ค่าเช่าที่ดินที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับการเช่าพื้นที่ในเขตสนามบิน

ขณะนี้นักธุรกิจต่างชาติมีความเชื่อมั่นการลงทุนในอีอีซีเพิ่มขึ้นมากหลังจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมีความคืบหน้ามาก โดยเฉพาะเมื่อมีการลงนามร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีไปแล้ว 2 โครงการ คือ 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) 2.การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ส่วนโครงการอื่นคาดว่าจะทยอยลงนาม

ปรัชญา สะมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวว่า เมืองการบินอู่ตะเภา จะมีอุตสาหกรรมหลายอย่างตั้งอยู่ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ซ่อมการบิน อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน เช่น ยางล้อ อุปกรณ์การบิน ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการบินที่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง และไทยมีบริษัทผลิตดังกล่าวอยู่บ้างแล้ว 

ทั้งนี้ เมืองการบินจะช่วยต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมได้มาก โดยหอการค้าไทยได้พิจารณาผลจากการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา 3 ประเด็น คือ 1.ใช้รูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมาพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน โดยที่ผ่านมาไทยเคยพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์จนกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์มาแล้ว ซึ่งรัฐบาลได้ออกนโยบายที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมรถยนต์

2.การเดินทางของนักธุรกิจจะสะดวกมากยิ่งขึ้น เพราะสนามบินอู่ตะเภาก็จะเป็นเมืองการบินที่อู่ตะเภาทำให้มีการขยายธุรกิจมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เป็นจุดเดินทางของนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวสามารถเชื่อมต่อไปยังจุดอื่นในอีอีซี รวมถึงการเดินทางไปพื้นที่ต่อเนื่องของอีอีซีได้

3.ความสำคัญของการขนส่งทางอากาศจะมีมากขึ้น เนื่องจากต้องการความเร็ว และการส่งสินค้าที่มีมูลค่าสูงก็จะสามารถกระจายได้เร็วขึ้น และถ้าในประเทศไทยมีเป็นซัพพลายเชนในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงก็จะขนส่งสินค้าได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

157227106777

สำหรับความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาพื้นที่รอบสนามบินอู่ตะเภาจะเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ ที่ผ่านมามีการศึกษาในเรื่องของศูนย์โลจิสติกส์การบินหลายต่อหลายชิ้น ซึ่งผลศึกษาบ่งชี้ว่า ไทยสามารถเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจค่อนข้างมาก ขึ้นอยู่กับว่าไทยจะบริหารหรือจัดการตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับธุรกิจที่ใช้ทักษะสูง การแก้ไขกฎกฎหมายที่อาจเป็นอุปสรรคของบริษัทต่างชาติ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบิน

นอกจากนี้ ไทยมีศักยภาพและภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจและเศรษฐกิจ แต่ยังมีอุปสรรคแม้รัฐบาลจะออกนโยบายที่เอื้อต่อการพัฒนาศูนยกลางธุรกิจ โดยเมื่อเทียบกับฮ่องกงที่สนับสนุนกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสนับสนุนให้เงินให้เปล่ากับกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่นโยบายของไทยเมื่อรัฐบาลสนับสนุนในลักษณะเช่นนี้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากน้อยแค่ไหน

ส่วนธุรกิจในพื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์การเป็นเมืองการบินนั้น ก็ต้องดูว่า การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ธุรกิจขนาดใหญ่มักไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างและธุรกิจเอสเอ็มอีในพื้นที่เหล่านี้ เช่น โรงงานในมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ที่ควรสนับสนุนเอสเอ็มอี โดยการซื้อของหรือวัตถุดิบจากเอสเอ็มอีในท้องถิ่นเพื่อนำไปผลิตสินค้า ซึ่งแน่นอนว่าเอสเอ็มอีได้ประโยชน์ แต่จะมีอะไรจูงใจให้ธุรกิจขนาดใหญ่มาซื้อของจากเอสเอ็มอี ซึ่งบริษัทรายใหญ่มักจะซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบในเครือ หรือซื้อจากบริษัทในกรุงเทพฯ

ดังนั้น หากต้องการส่งเสริมเอสเอ็มอีขยายตัว จะต้องมีมาตรการหรือแรงจูงใจเพื่อให้ซื้อของจากเอสเอ็มอีในพื้นที่ ขณะเดียวกันต้องมองว่าเอสเอ็มอีในท้องถิ่นก็มีอุปสรรคในการบริหารธุรกิจ เช่น ต้นทุนการผลิตที่สูงทำให้ราคาสินค้าแพงกว่า ดังนั้นต้องมีแต้มต่อให้เอสเอ็มอี ซึ่งอาจเป็นกำหนดมาตรการทางภาษีเพื่อให้เอสเอ็มอีได้แต้มต่อจากการขายสินค้าให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น การนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าที่เอสเอ็มอีผลิตไปหักลดหย่อยภาษีได้ 

รวมทั้งรัฐบาลอาจกำหนดเงื่อนไขกำหนดให้มีการซื้อสินค้าที่เอสเอ็มอีผลิต 70% โดยรัฐบาลกำหนดเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุน ซึ่งลักษณะเดียวกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ที่ขยายตัวได้ เพราะถูกบังคับด้วยมาตรการของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยปัจจุบันยังไม่เห็นมาตรการแบบนี้ในการลงทุนอีอีซี