ปฏิบัติการเร่งประมูล “5จี” “ดีอีเอส” ดึง “คลื่นไทยคม” ร่วมวง

ปฏิบัติการเร่งประมูล “5จี” “ดีอีเอส” ดึง “คลื่นไทยคม” ร่วมวง

จะไม่ยอมให้ครั้งนี้ไทยต้องตกขบวนของเทคโนโลยี และตั้งเป้าเป็นผู้ให้บริการ 5จีรายแรกในอาเซียนให้ได้

ดีอีเอสหวั่นไทยตกขบวน “5จี” เร่งคลอดกรรมการแห่งชาติขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ชี้ต้องดึงคลื่น 3400-3700 เมกจากไทยคมมาร่วมด้วย เพราะมาตรฐานคลื่น 5จี ควรเป็น 2600 กับ 3400 เมก ส่วนย่านอื่นที่กสทช.เปิดประมูลยังไม่ดึงดูดเท่าที่ควร พร้อมนัด “ทีโอที-กสทฯ” ส่งการบ้านควบรวมองค์กร 30 ต.ค.นี้ ออกโรงหนุนให้เป็นเอกชนรายที่ 4 เข้าประมูลคลื่นจากกสทช.

จากความคืบหน้าล่าสุดที่ กสทช.ออกไทม์ไลน์มาแล้วว่า การประมูลคลื่น 5จีของไทยจะเริ่มกระบวนการในเดือน ก.พ 2563 นี้ โดยจะประมูลพร้อมกัน 4 ย่านความถี่ คือ 700 เมกะเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ รวมทั้งหมด 56 ใบอนุญาต

การแตกใบอนุญาตออกยิบย่อยเพื่อจูงใจโอเปอเรเตอร์สามารถเลือกซื้อใบอนุญาตได้ตามความต้องการด้วย “ราคา” ที่ยืนยันแล้วว่า สมเหตุสมผล ทั้งนี้ ความพยายามและตั้งใจของรัฐบาลจะไม่ยอมให้ครั้งนี้ไทยต้องตกขบวนของเทคโนโลยี และตั้งเป้าเป็นผู้ให้บริการ 5จีรายแรกในอาเซียนให้ได้ ซึ่งเป้าหมายคือจะให้ไทยเข้าสู่5จีในปลายปี 2563 ให้ได้

คาดบอร์ด5จีเข้าครม.เร็วๆนี้

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า คณะกรรมการ 5จีระดับชาติ น่าจะเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายใน 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ ซึ่งจะให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยจะช่วยให้การทำงาน การสั่งงานมีเอกภาพและดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้ไทยเปิดให้บริการ 5จีล่าช้า และมีความตั้งใจอย่างมากที่จะผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำการเปิดให้บริการ5จีรายแรกอย่างสมบูรณ์ในอาเซียน

ทั้งนี้ จากที่ได้พูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทำให้ทราบว่า กสทช.ได้ระบุ จะนำคลื่นมาประมูลถึง 4 ย่านความถี่ แต่ในความเห็นส่วนตัวมองว่า มีเพียงย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้น ที่มีความน่าสนใจและเป็นคลื่นสากลสำหรับ 5จี โดยคลื่น 2600 มีจำนวน 190 เมกะเฮิรตซ์และจะเรียกคืนจากบมจ.อสมท ดังนั้น สิ่งที่ดีอีเอสจะดำเนินการ คือ คุยกับบมจ.ไทยคม คู่สัญญาสัมปทานกับกระทรวงในการเรียกคืนคลื่น 3400-3700 เมกะเฮิรตซ์จากไทยคมมา 300 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อมารวมกับแผนการประมูล 5จี ในเดือน ก.พ.2563 นี้

“ผมเคยพูดคุยอย่างเป็นไม่ทางการกับไทยคมในการสลับคลื่นความถี่จากที่ดาวเทียมไทยคม 5 ใช้งานอยู่ มีลูกค้าราว 10 ล้านครัวเรือน ในย่าน 3400-3700 เมกะเฮิรตซ์ไปอยู่ในย่านความถี่อื่น ซึ่งอาจต้องเสียเงินเยียวยาค่าสลับคลื่นให้ไทยคมราว 900 ล้านบาท แต่ผมก็ว่าคุ้มค่า เพื่อนำคลื่นดังกล่าวไปรวมประมูล 5จี ได้ให้ 490 เมกะเฮิรตซ์จากคลื่น 2600 และ 3400-3700 เมกะเฮิรตซ์”

157226354159

ดัน“ทีโอที-กสท”ร่วมวงประมูล

เขา กล่าวว่า ในวันที่ 30 ต.ค.ได้นัดให้นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที และพ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม มารายงานแผนการดำเนินการควบรวม 2 องค์กรอีกครั้ง เพื่อให้เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (เอ็นที เทเลคอม) นอกจากนี้ ยังต้องการสนับสนุนให้ทั้ง 2 องค์กรรวมกันเป็นโอเปอเรเตอร์รายที่ 4 เพื่อเข้าประมูล5จีจากกสทช.

“5จี มีมิติเรื่องสวัสดิการ เพื่อสังคมการดูแลประชาชน ซึ่งเราต้องการมีการแข่งขันทำรายได้ทำกำไรได้อยู่ที่ถ้าเราเอาแคท กับทีโอที ในภาคสังคม เราไม่จำเป็นต้องแข่งกับเอกชนเต็มตัว แต่ก็ต้องมีบ้าง เราควรหันหาไอโอที ดิจิทัลมาเสิร์ฟเรื่องภาครัฐตรงนี้”

พ.อ.สรรพชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสทฯ กล่าวว่า ตอนนี้บริษัทเตรียมทำแผนประมูล 5จีเพื่อเสนอต่อรมว.ดีอีเอส วันที่ 30 ต.ค.นี้ เพื่อให้แผนการควบรวมเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ มีศักยภาพมากกว่าแค่การควบรวมธุรกิจและพนักงานเข้าด้วยกันเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่า ทั้ง กสทฯและ ทีโอที ควรเป็นผู้ให้บริการ 5จี ของรัฐบาล เช่นเดียวกับ ภาคธนาคารที่มีธนาคารกรุงไทย เป็นของรัฐ ภาคพลังงาน มี บริษัท ปตท . จำกัด (มหาชน) เป็นของภาครัฐ เป็นต้น ดังนั้นภาคโทรคมนาคมก็ต้องมีหน่วยงานของรัฐให้บริการ

สำหรับคลื่นที่สนใจคือคลื่น 3500 เพราะเป็นคลื่นที่เหมาะสมในการทำ 5จี หากจะลงทุนเฉพาะพื้นที่ก็สามารถทำได้ เช่น พื้นที่โครงการดิจิทัล พาร์ค แต่หากจะลงโครงข่ายทั่วประเทศ ต้องร่วมมือกับ ทีโอที เพราะมีคลื่นจำนวนมากกว่า

ขณะที่นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า คาดว่าทีโอที และ กสทฯ จะต้องใช้เงินลงทุนประมูลและลงทุนเครือข่ายประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าทั้งสององค์กรจะมีศักยภาพและทำให้เห็นภาพชัดว่าเมื่อควบรวมกันแล้วมีผลงานชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการให้บริการกับภาครัฐและสังคม เพื่อให้บริการเฉพาะพื้นที่ แต่ส่วนการให้บริการทั่วประเทศนั้นคงยากเพราะทีโอทีไม่มีคลื่นต่ำในการให้บริการ มีแต่คลื่น 2100 และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ 157226356273

ดีเดย์ ก.พ.63 ประมูล4คลื่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.ได้กำหนดให้ในช่วงต้นเดือน ก.พ. 2563 จะเปิดประมูลคลื่นสำหรับทำ 5จีพร้อมกัน 4 คลื่น ได้แก่ 700 ,1800 ,2600 และ 26 กิกะเฮิรตซ์ โดยผู้เข้าประมูลแต่ละรายจะเลือกเองว่าต้องการจะเข้าประมูลคลื่นย่านใด จำนวนเท่าใด แต่คลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ จะกำหนดเพดานคลื่นถือครองได้ไม่เกิน 1200 เมกะเฮิรตซ์ ต่อราย

ส่วนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ กำหนดเพดานคลื่นไม่เกิน 100 เมกะเฮิรตซ์ ต่อราย เพื่อให้สามารถออกใบอนุญาตได้ไม่เกิน 20 ก.พ. 2563 และเริ่มลงทุนโครงข่ายในช่วงต้นเดือน มี.ค. 2563 เชื่อว่าไม่เกินเดือนส.ค. ผู้ชนะการประมูลจะสามารถเปิดให้บริการ 5จีในบางพื้นที่ที่มีความต้องการได้

สำหรับการจัดสรรคลื่นย่าน 700 ประมูล15 เมกะเฮิรตซ์ รวมเป็น 3 ใบอนุญาตๆ ละ 5 เมกะเฮิตรตซ์ , คลื่น 1800 ประมูล 35 เมกะเฮิรตซ์แบ่งเป็น 7 ใบอนุญาตๆละ 5 เมกะเฮิรตซ์ โดยราคาเริ่มต้นประมูลทั้ง 2 ย่านนี้จะใช้ราคาล่าสุดที่มีการประมูลไปก่อนหน้านี้เป็นราคาเริ่มต้น ส่วนคลื่น 2600 ประมูล 190 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 19 ใบอนุญาตๆละ 10 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ประมูล 2700 จำนวน 27 ใบอนุญาตๆละ 100 เมกะเฮิรตซ์