ไบโอไทยแจ้งความถูกข่มขู่​ หลังแฉผู้อยู่เบื้องหลังจดหมายสหรัฐขอชะลอแบนสารพิษเกษตร

ไบโอไทยแจ้งความถูกข่มขู่​ หลังแฉผู้อยู่เบื้องหลังจดหมายสหรัฐขอชะลอแบนสารพิษเกษตร

กลุ่มเกษตรกรพืชเศรษฐกิจ ร้องศาลปกครองออกคำสั่งคุ้มครองจากการแบนสารพิษเกษตร

ผู้อำนวยการวิถีชีววิถี​ หรือ​ BioThai นายวิฑูรย์​ เลี่ยนจำรูญ​ เข้าแจ้งความ​ลงบันทึกประจำวันที่​ สภ.รัตนาธิเบศร์​ นนทบุรี วันนี้​ กรณีถูกข่มขู่​ หลังแฉประวัติผู้ช่วยรัฐมนตรี​ด้านกิจการเกษตร​ของสหรัฐ​อเมริกา​ ที่เป็นผู้เซ็นกนึ่งในจดหมายถึงรัฐบาลไทยขอให้มีการชะลอและทบทวนการแบนสารเคมีเกษตร ไกลโฟเซต เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา
นายวิฑูรย์​ กล่าววว่า​ มูลนิธิได้โพสต์ในเพจเฟสบุ๊ค​ของมูลนิธิ​ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม กล่าวถึง​ ผู้ลงนามจดหมายถึงรัฐบาลไทย คัดค้านการแบนไกลโฟเซต คือ นายเท็ด แมคคินนี ซึ่งมีตำแหน่งอย่างเป็นทางการคือ ผู้ช่วยรัฐมนตรีเกษตรเพื่อการค้าและกิจการเกษตรต่างประเทศ (Under Secretary of Agriculture for Trade and Foreign Agricultural Affairs)
โดยโพสต์ของมูลนิธิได้เปิดเผยประวัติผู้ช่วยรัฐมนตรีแมคคินนีว่า มีความสัมพันธ์ด้านงานถึง 19 ปี กับบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์สารเคมีกำจัดแมลงคลอร์ไพริฟอส
หลังจากนั้น ได้มีคอมเมนต์จากผู้บริหารขององค์กรด้านการเกษตรที่มีความสัมพันธุ์กับบริษัทสารเคมีเกษตรของโลกเข้ามาโพสต์ให้ระวังตัว อาจถึงแก่ความตายได้ หากยังเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวโยงหลายบุคคล ทางมูลนิธิจึงเห็นว่า เป็นการข่มขู่และตัดสินใจเข้าทำการแจ้งความดังกล่าว
นอกจากนี้ นายวิฑูรย์มองว่า การที่สหรัฐ​ฯ ตัดสิทธิ์ ​GSP ในเวลาต่อมา น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการแบนสารเคมี​เกษตร​ โดยเฉพาะไกลโฟเซต​ เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ประเทศไทยไม่ต้อนรับพืชที่มีการดัดแปลงพันธุกรรมหรือ​ พืช​ GMO ด้วย  ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ​ เสียดุลการค้ากับไทย
ในวันเดียวกันนี้ เกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ​ ได้เข้าร้องต่อศาลปกครองให้ไต่สวนฉุกเฉิน​คุ้มครองชั่วคราว คำสั่งแบนสารเคมีเกษตร 3 ชนิด ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย​ 
โดยตัวแทนเกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจ​ เดินทางเข้าร้องต่อศาลปกครองให้ไต่สวนฉุกเฉินเพื่อพิจารณาคุ้มครองชั่วคราว กรณีการลงมติยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด ของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ออกมาก่อนหน้านี้​ 
โดย​ น.ส.อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ในฐานะผู้แทนเกษตรกรเกษตรกร 6 จังหวัด รวม 1,011 คน ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด และไม้ผล เดินทางเข้าร้องต่อศาลปกครองให้ไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อพิจารณาคุ้มครองชั่วคราว และจะมีการฟ้องกลับ 3 ส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการวัตถุอันตราย คณะกรรมการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง และนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
น.ส.อัญชุลี บอกว่า การแบน​สารเคมี​ 3 ชนิด จะทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากต้นทุนการผลิตที่จะสูงขึ้น อีกทั้งยังไม่มีมาตรการรองรับ ทั้งการหาสารทางเลือกที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมกัน การสนับสนุนด้านเครื่องจักรกลกำจัดวัชพืช และแรงงานที่จะใช้จัดการแปลง จึงขอศาลสืบหาความจริง และให้การคุ้มครองในคดีนี้
ทั้งนี้กลุ่มเกษตรกรต้องการนำเสนอหลักฐานต่อศาลปกครองว่า การลงมติยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิดของคณะกรรมการวัตถุอันตรายผิดขั้นตอนกระบวนการ โดยนำมติของคณะทำงาน 4 ฝ่าย ซึ่งมีนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมมาพิจารณา ทั้งที่กระบวนการทำงานของคณะทำงานชุดดังกล่าวขัดต่อบัญชานายกรัฐมนตรี ที่ให้มีการหารือกันจาก 4 ภาคส่วน คือ รัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค ซึ่งให้แสดงความคิดเห็นถึงปัญหา วิธีการและผลกระทบ เพื่อสร้างความเข้าใจกันและหาวิธีได้
แต่การประชุมของคณะทำงานดังกล่าว กลับมีองค์ประกอบของผู้เข้าร่วมประชุมไม่ครบ คือ ขาดผู้แทนผู้นำเข้า ส่วนผู้แทนเกษตรกรนั้น เป็นเกษตรกรอินทรีย์ แต่ไม่มีเกษตรกรพืชเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องใช้สารเคมี 3 ชนิดร่วมให้ความเห็น
โดยทางกลุ่มได้เตรียมพยานไว้ถึง 25 ปากเป็นนักวิชาการด้านการเกษตร​ จากมหาวิทยาลัยชื่อดังของรัฐเช่น​ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์​ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นต้น จำนวน 7 ปาก มีอดีตอธิบดี​กรมวิชาการเกษตร​ ร่วมเป็นพยานในคดีด้วย 
ขณะที่ผลกระทบจากการแบนสารเคมีดังกล่าว กลุ่มเกษตรกรอ้างว่า เริ่มเห็นชัดขึ้นเนื่องจากสหรัฐฯ เป็นผู้ส่งออกถั่วเหลือง​ และข้าวสาลี​ ที่มีการตัดต่อพันธุกรรม​ หรือ​ GMO​ และใช้ไกลโฟเซตในการปลูก​  ซึ่งหลังการแบน​ 3​ สารเคมีของรัฐบาลไทย​ สหรัฐ​ฯจะไม่สามารถส่งออก​ถั่วเหลืองและข้าวสาลี​ที่ใช้สารนี้ได้  เนื่องจากผิดสัญญา​ WTO ที่ระบุว่า หากประเทศใดมีการแบนสารเคมี ผลผลิตที่ใช้สารเคมีนั้น​ ก็จะไม่สามารถนำเข้าได้​ 
ทั้งนี้ ประเทศไทยนำเข้าถั่วเหลืองเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มาทำนมถั่วเหลืองและอาหารสัตว์​ ผลกระทบที่เกิดขึ้นทางเศรษฐกิจนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ กลุ่มเกษตรกรกล่าว
สำหรับการมายื่นในครั้งนี้​ มีนายศรีสุวรรณ​ จรรยา​ เลขาธิการ​สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เป็นที่ปรึกษาทีมทนายความ โดยกลุ่มผู้แทนเกษตรกร หวังว่า ศาลปกครองจะมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินให้ชะลอการยกเลิกออกไป จนกว่าจะมีการนำเสนอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างรอบด้าน กำหนดมาตรการรองรับที่เหมาะสม