กมธ.อำนาจล้นฟ้า... เรียกชี้แจงได้ไม่จำกัดจริงหรือ?

กมธ.อำนาจล้นฟ้า...  เรียกชี้แจงได้ไม่จำกัดจริงหรือ?

กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันวุ่นวายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎร ว่ามีอำนาจขนาดไหนในการเรียกบุคคลเข้าชี้แจง

โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “กมธ.ป.ป.ช.” ชุดที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน ซึ่งมีมติให้เรียก นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรองนายกฯ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้าชี้แจงประเด็นการถวายสัตย์ไม่ครบ 

ลามไปถึงการเรียกผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าชี้แจงงบจัดซื้ออาวุธด้วย ทั้งๆ ที่ ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ก็เพิ่งจะเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ เมื่อไม่มีวันที่ผ่านมา

หนักกว่านั้นคือนักการเมืองระดับหัวหน้าพรรคบางคน ถึงกับประกาศว่าจะใช้อำนาจกมธ.เล่นงานนายกฯและรัฐมนตรีบางคนให้พ้นจากตำแหน่งให้ได้ ทำให้เกิดคำถามว่า คณะกรรมาธิการสามัญของสภา มีอำนาจมากล้นขนาดนั้นจริงหรือ?

ทั้งนี้หากเปิดดูรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 129 ระบุในเรื่องดังกล่าวไว้ว่า เพื่อพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใดๆ และรายงานให้สภาทราบตามระยะเวลากำหนด แต่ต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอํานาจของสภา และของคณะกรรมาธิการชุดนั้นๆ ตามที่ระบุไว้ในเหตุผลของการตั้งกมธ.อีกทั้งต้องไม่เป็นเรื่องซ้ําซ้อนกันกับกมธ.ชุดอื่น

นอกจากนี้ กมธ.มีอํานาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทํา หรือในเรื่องที่พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่นั้นได้ ยกเว้นแค่ผู้พิพากษากับกรรมการองค์กรอิสระ

ทั้งยังกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในกิจการที่กมธ.สอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษา ที่จะต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหรือในกํากับเพื่อให้ข้อเท็จจริง ส่งเอกสาร หรือแสดงความเห็นตามที่กมธ.

อ่านดูแล้ว อาจตีความได้ว่ากมธ.มีอำนาจมากจริงๆ แต่ก็ยังไม่ถึงกับมีสภาพบังคับ เพราะบทบัญญัติเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 50 ที่มีสภาพบังคับ และยังมีการออกกฎหมายที่มีสภาพบังคับ เช่นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกคำสั่งเรียกของกมธ.สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พ.ศ. 2554

ที่กำหนดบุคคลที่ได้รับหนังสือขอให้ส่งเอกสาร หรือเชิญมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นกับกมธ. หากไม่ยอมจัดส่งเอกสาร หรือไม่มาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็น  ให้กมธ.ออกคําสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลนั้นหรือเรียกบุคคลนั้นมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นด้วยตนเองต่อกมธ. โดยอาจขอให้บุคคลน้ันนําเอกสาร หรือวัตถุที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาด้วยก็ได้

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษตามมาตรา 13 คือต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และถ้าผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ให้ถือว่าเป็นความผิดทางวินัยด้วย

 

คำถามก็คือ รัฐธรรมนูญเปลี่ยนแล้ว แต่กฎหมายเก่ายังอยู่ และไม่ใช่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จึงไม่ได้เลิกไปพร้อมรัฐธรรมนูญเก่า ทำให้เกิดปัญหาว่าตกลงกมธ.ยังมีอำนาจเรียกบุคคลเข้าชี้แจงหรือไม่

ประเด็นนี้มีความเห็นมาจาก2อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)เริ่มที่ ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ที่มองว่ากมธ.จะเชิญใครมาชี้แจง ถือเป็นสิทธิที่กระทำได้ หากเป็นเรื่องเกี่ยวข้องในอำนาจหน้าที่ แต่ผู้ที่ถูกเชิญจะมาด้วยตัวเองหรือส่งตัวแทนมา ก็สามารถกระทำได้เช่นกัน เพราะเป็นเรื่องการขอความร่วมมือเท่านั้น ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับความสะดวกรวมถึงภารกิจที่ต้องปฏิบัติ

ส่วนจะเหมาะสมหรือไม่นั้น ซึ่งกมธ.ชุดนี้ ยังมีเรื่องอีกมากมายในการทำหน้าที่ตรวจสอบพิจารณา อีกทั้งเรื่องดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาไปเป็นที่เรียบแล้ว ดังนั้น อยากให้กมธ. ทำงานโดยคำนึงถึงมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ มากกว่าพุ่งเป้าไปยังประเด็นทางการเมือง เนื่องจากประชาชนจะไม่ได้รับประโยชน์อะไร

เช่นเดียวกับ อุดม รัฐอมฤต ที่มองว่า  เรื่องนี้่น่าจะจบไปแล้ว หลังจากสภาได้มีการเปิดอภิปรายไปตามมาตรา 151 เกี่ยวกับเรื่องนี้ ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ว่าไม่ได้อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด แต่ถ้า กมธ.จะรื้อฟื้นก็เป็นสิทธิ รวมทั้งเห็นว่าจะกลายเป็นการโต้แย้งไปมาในทางการเมืองต่อไปอีก

อนึ่ง มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม