กฤษดา สาธุกิจชัย ‘เนทติเซนท์’ ท้าทายยุคใหม่ ‘อีอาร์พี’

กฤษดา สาธุกิจชัย ‘เนทติเซนท์’ ท้าทายยุคใหม่ ‘อีอาร์พี’

ยิ่งเศรษฐกิจชะลอ ธุรกิจยิ่งหันมามองเรื่องการพัฒนาไอที

สำหรับแวดวงไอทีแล้ว มักมีความท้าทายใหม่ๆ เข้ามาทดสอบความสามารถไม่หยุด ตั้งแต่ก้าวแรกที่ “เนทติเซนท์” ก่อตั้งบริษัทเมื่อราว 19 ปีก่อน ในยุคของวายทูเค ดอทเน็ต และการบูมของอินเทอร์เน็ต กระทั่งวันนี้ดิจิทัลเข้ามาพลิกโฉมการลงทุนและธุรกิจในหลากหลายมิติ...

กฤษดา สาธุกิจชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนทติเซนท์ จำกัด (Netizen) ที่ปรึกษาการวางระบบซอฟต์แวร์การบริหารจัดการทางธุรกิจ(อีอาร์พี) กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนไอทีในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันธุรกิจองค์กรไทยใช้งบประมาณการลงทุนด้านไอทีสัดส่วนประมาณ 10% ของงบลงทุนรวมและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ

“2-3 ปีมานี้หลายธุรกิจตื่นตัวนำไอทีมาขับเคลื่อนธุรกิจ จากเดิมที่ให้ความสำคัญแต่เพียงระบบงานหน้าบ้าน ระยะหลังมาเมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น เริ่มตระหนักว่าที่สำคัญอย่างมากคือระบบบริหารจัดการงานหลังบ้าน และอีอาร์พีคือหัวใจในการขับเคลื่อนทำให้ระบบงานทุกอย่างให้ดำเนินไปได้เต็มประสิทธิภาพ”

สำหรับโจทย์ที่ลูกค้าวางมา หลักๆ คือการปรับองค์กรให้อินทิลิเจนท์ แก้ปัญหาเดิมๆ ที่ระบบงานภายในเช่นบัญชียังคงล่าช้าอยู่มาก รวมไปถึงดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เพื่อการยกระดับกระบวนทางทางธุรกิจให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่มีทั้งโอกาสเติบโตและล้มเหลวได้เร็ว รวมถึงต้องการนำดาต้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์

ปรับโฉมรับ‘ดิจิทัล ดิสรัปชั่น’

เนทติเซนท์พบว่า องค์กรขนาดใหญ่มากกว่า 1 พันรายยังคงใช้ซอฟต์แวร์อีอาร์พีเวอร์ชั่นเก่า ซึ่งกำลังจะถูกลดการสนับสนุนภายในปี 2568 ทำให้ต้องอัพเกรดเป็นเวอร์ชั่นใหม่ และส่งผลให้ภายใน 5 ปีจากนี้ตลาดอีอาร์พีจะมีความคึกคักอย่างมาก

เขาประเมินว่า การก้าวไปสู่อินทิลิเจนท์เอ็นเตอร์ไพรซ์ รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สมาร์ทขึ้นมาก เป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกที่ผลักดันให้เกิดการปรับโฉมธุรกิจ กลายเป็น “ยุคใหม่ของอีอาร์พี” ที่มาพร้อมความสามารถในการตรวจสอบและประมวลผลได้แบบเรียลไทม์หลักวินาที จากสมัยก่อนต้องใช้เวลาเป็นวัน สัปดาห์ หรือเดือน วันนี้อีอาร์พีกลายเป็นศูนย์ควบคุมกลางที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ รวมถึงตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดของธุรกิจ ไม่ได้มีหน้าที่แค่ออกบิลหรือใบส่งของเท่านั้น

นอกจากนี้ สามารถนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) มาปรับใช้เพื่อทำให้ระบบงานมีความเป็นอัตโนมัติมากขึ้น สามารถวิเคราะห์ ประมวลเคพีไอ ช่วยให้ผู้บริหารสามารถบริหารจัดการ ตัดสินใจทางธุรกิจได้แบบทันที

“ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นเป็นวาระที่ทุกองค์กรให้ความสำคัญ พบด้วยว่าความต้องการใช้งานระบบมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ธุรกิจมีโจทย์ใหม่ๆ อย่างการลงทุนเพื่อให้สามารถนำดาต้ามาใช้งาน สุดท้ายต้องการผลลัพธ์ใหม่ซึ่งก็คือบิสิเนสโมเดลใหม่ๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มหรือรายได้”

ชู ‘มาตรฐาน’ ระดับโลก

สำหรับเนทติเซนท์ แนวทางธุรกิจวางเอสเอพีเป็นแกนหลัก สร้างจุดต่างด้วยการให้บริการ ผลิตภัณฑ์ และบริการที่มีความหลากหลาย สอดคล้องกับโจทย์ธุรกิจของแต่ละองค์กร ภายใต้ชื่อว่า “Netixzen Peony” ที่มีการปรับให้เข้ากับความต้องการของท้องถิ่น

เขากล่าวว่า ที่ผ่านๆ มาธุรกิจมักคิดว่าการลงทุนอีอาร์พีมีต้นทุนที่แพง บริษัทจึงพยายามลบภาพเหล่านี้ พร้อมนำเสนอว่าการลงทุนให้ความคุ้มค่าและไม่แพงอย่างที่คิด โดยธุรกิจขนาดกลางมูลค่าระดับ 200 ล้านบาท สามารถเข้าถึงได้โดยงบประมาณที่ใช้ไม่จำเป็นต้องถึงหลัก 10 ล้านบาทก็ได้

ด้านแนวทางการทำตลาด วางจุดยืนเป็นที่ปรึกษาช่วยวางระบบภายใน ใช้ประสบการณ์ในวงการไอทีกว่า 19 ปี ช่วยแนะนำการลงทุนที่เหมาะสม ไม่ต้องนำเงินไปลงในส่วนที่ไม่มีความจำเป็น

“เรามีจุดแข็งที่สามารถดำเนินงานติดตั้งระบบได้เร็ว มาตรฐานสากลเทียบเท่ากับที่ธุรกิจระดับโลกใช้ สิ่งที่บริษัทเข้าไปโฟกัสอย่างมากคือช่วยลูกค้าปรับโฉมทั้งเรื่องการตัดสินใจทางธุรกิจ กระบวนการทำงานภายใน และบิสิเนสโมเดล”

ขยายทีม หนุนธุรกิจโต20%

ซีอีโอเนทติเซนท์กล่าวว่า ส่วนของช่องทางการตลาด มีทีมที่ปรึกษากว่า 80 คน ซึ่งสามารถรับงานได้เพียงหลัก 10 โครงการ ทว่าภายใน 2-3 ปีนี้มีแผนจะขยายให้ได้ถึง 150 คน เพื่อว่าอนาคตจะได้รับโครงการได้ถึง 20-30 โครงการ

“ที่ผมตัดสินใจขยายทีม เนื่องจากเห็นว่ามีความต้องการเพิ่มมากขึ้น ยิ่งเศรษฐกิจชะลอธุรกิจต่างๆ ยิ่งหันมามองเรื่องการพัฒนาระบบไอทีหลังบ้าน เพื่อเตรียมความพร้อม พัฒนาระบบ บุคคลากร บริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง”

หลังจากนี้ การทำตลาดจะเป็นรายเซ็กเมนท์มากขั้น คาดว่าตลาดที่มีโอกาสสูงคือการบิน ท่องเที่ยว เฮลธ์แคร์ ธุรกิจที่มีความต้องการทำงานแบบเรียลไทม์ ทั้งบริษัทเตรียมขยายฐานไปยังธุรกิจท่องเที่ยว อาหารและเครื่องดื่มที่มีสาขาจำนวนมาก ขณะที่ตลาดอื่นๆ การผลิตแข็งแรงอยู่แล้ว ทั้งมีลูกค้ากลุ่ม ค้าปลีก เทรดดิ้ง ฯลฯ ภายในปีนี้เตรียมเปิดตัวบริการใหม่ “เน็ตติเซนท์ คลาวด์” ขณะนี้เร่ิมออกตัวให้บริการแล้วกับลูกค้ารายใหญ่ 3 ราย และกำลังขยายเพิ่มต่อเนื่อง

"ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเราได้เพิ่มงบการลงทุนสำหรับวิจัยและพัฒนาเป็นเท่าตัวทุกปี และคาดว่าทิศทางจะเป็นแบบนี้ต่อไป ด้านผลประกอบการแต่ละปีธุรกิจเติบโตไม่น้อยกว่า 10% ทว่าต่อไปเมื่อสามารถเพิ่มบุคลากรไปได้ถึง 150 คน โอกาสเติบโตจะเพิ่มขึ้นไปแตะหลัก 20% ภายใน 5 ปีเรามีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย"