หุ้นไทยรูดเช้านี้ 14 จุด ผวาสหรัฐตัดสิทธิ์ GSP นักลงทุนแห่ขายหุ้น 'CPF-TU'

หุ้นไทยรูดเช้านี้ 14 จุด ผวาสหรัฐตัดสิทธิ์ GSP นักลงทุนแห่ขายหุ้น 'CPF-TU'

หุ้นไทยเปิดทรงตัวช่วงแรก ก่อนรูดลงต่อเนื่อง ติดลบไป 12 จุด ช่วงเช้านี้ (28 ต.ค.) 'CPF-TU' เจอแรงขายกดดันหุ้นร่วง 4% นักวิเคราะห์เตือนหุ้นไทยผันผวนหนักช่วงสั้น แนะจับตาผลประกอบการกำไร บจ. ไตรมาส 3

ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ เปิดการซื้อขายที่ 1591.64 จุด ลดลง 1.64 จุด หรือ 0.1% ก่อนที่ดัชนีจะดิ่งลงต่อเนื่องไปทำจุดต่ำสุดในช่วงแรกที่ 1579.13 จุด ลดลง 14.15 จุด หรือ 0.88% โดยหุ้นที่โดนเทขายออกมาหนักในช่วงแรกคือ เจริญโภคภัณฑ์ (CPF) และไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ซึ่งลดลงประมาณ 4%

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เปิดเผยว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบต่อการดำเนินงาน หลังจากที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ประกาศเพิกถอนสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้า (GSP) สำหรับสินค้านำเข้าจากประเทศไทยไปยังประเทศสหรัฐหลายรายการ ซึ่งครอบคลุมถึงสินค้าอาหารทะเลจากไทยบางรายการด้วย

โดยสินค้าอาหารทะเลหรืออาหารสัตว์ที่ไทยยูเนี่ยนจำหน่ายในประเทศสหรัฐไม่ได้อยู่ภายใต้ GSP ดังนั้นมาตรการที่ประกาศในครั้งนี้ จึงไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน

บล.เอเชียพลัส ระบุว่า ประเด็นแวดล้อมทางปัจจัยพื้นฐาน เรื่องใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นการที่สหรัฐตัดสิทธิ GSP สินค้านำเข้าจากไทย 573 รายการ ซึ่งแม้จะถูกคาดหมายว่าจะมีผลกระทบต่อยอดส่งออกของไทยไม่มากราว 0.01% ของยอดส่งออกรวม แต่ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเปราะบาง และขาดแรงกระตุ้น น่าจะเป็นตัวเร่งให้ภาครัฐต้อง ออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง รวมถึงการพิจารณาของ กนง. ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบที่เหลือของปีนี้

การตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐจะมีผลใน 6 เดือนข้างหน้าคือ 25 เม.ย.63 โดยสหรัฐให้เหตุผลในการตัดสิทธิมาจากการที่ประเทศไทยล้มเหลวในการจัดสิทธิที่เหมาะสมให้กับแรงงานสากล ซึ่งเป็นการตัดสิทธิภายหลังจากที่สหรัฐตัดสิทธิตุรกี เมื่อ พ.ค. 2562 และ ตามมาด้วยการตัดสิทธิกับอินเดียเมื่อ 5 มิ.ย. 2562 จากเหตุผลว่าไม่เปิดตลาดให้สหรัฐ

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) ประเมินว่า กรณีการตัดสิทธิ GSP สหรัฐดังกล่าว คาดต้นทุนภาษีนำเข้าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเฉลี่ยราว 4.5% และคาดจะทำให้สินค้ากลุ่มที่โดนตัดสิทธิมีมูลค่าส่งออกลดลงราว 30 ล้านดอลลาร์ หรือราว 0.1% ของการส่งออกไปสหรัฐ (ไทยส่งออกไปสหรัฐราว 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2561) หรือกระทบราว 0.01% ของยอดส่งออกรวมทั้งหมดของไทยไปทั่วโลก

ทั้งนี้หากพิจารรณาในอดีต ไทยเคยถูกตัดสิทธิ GSP คือ ปี  2558 จากยุโรป  แต่พบว่ายอดส่งออกไปยุโรปกลับไม่ลดลง คือ ส่งออกไปยุโรปปี 2558 อยู่ที่  2.3 หมื่นล้านเหรียญ ขณะที่ปี 2561 อยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านเหรียญ บ่งชี้ว่าไม่กระทบมากนัก

โดยภาพรวมเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในภาวะผันผวน โดยมีประเด็นกดดันจากความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย และการรายงานผลประกอบการของกลุ่ม Real Sector ซึ่งอาจมีแรงเก็งกำไรในหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโต รวมถึงแรงขาย Sell on Fact หลังประกาศงบ

สำหรับหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ที่จะรายงานในวันนี้คือ ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ฝ่ายวิจัยฯ คาดกำไรสุทธิ 7,611 ล้านบาท ลดลง 20% จากปีก่อน เนื่องจากธุรกิจหลักปิโตรเคมีได้รับปัจจัยลบหลายเรื่อง ทั้งอุปสงค์ที่ชะลอตัวจากปัญหาสงครามการค้า เงินบาทที่แข็งค่ากระทบรายได้ส่งออก ส่วนต่างราคา HDPE-Naphtha ที่ร่วงลงต่ำสุดในรอบ 7 ปี เหลือเพียง 456 ดอลลาร์ต่อตัน

รวมไปถึงการหยุดซ่อมบำรุงของบริษัทร่วมในอินโดนีเซีย ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ได้รับผลจากปัญหาน้ำท่วมหลายพื้นที่และความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างในภาคที่อยู่อาศัยที่ลดลง มีเพียงธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่คาดกำไรยังเติบโตได้ ทำให้หลังการประกาศงบมีความเป็นไปได้สูงมากที่ฝ่ายวิจัยจะปรับลดประมาณการกำไรปี 2562-2563 ลงราว 10-15% เบื้องต้นราคาเป้าหมายมีโอกาสลดลงจาก 460 บาท ลงมาเหลือ 400-420 บาท ขณะที่เงินปันผลน่าจะลดลงเหลือเพียง 13-15 บาทต่อปี ซึ่งคิดเป็น Yield ประมาณ 3.6% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยเห็นว่าด้วยมูลค่าของตลาดหุ้นไทยที่ค่อนข้างถูก กล่าวคือมีค่าพี/อีต่ำกว่า 16 เท่า อีกทั้ง ในช่วง 2 เดือนสุดท้าย จะมีเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ของนักลงทุนสถาบันไหลเข้าจากการซื้อ LTF จึงมีโอกาสที่จะเห็นแรงซื้อหุ้นกลับมาได้