'ภาคี รธน.เพื่อ ปชต.' แถลงหลัก 4 ข้อแก้ รธน.

'ภาคี รธน.เพื่อ ปชต.' แถลงหลัก 4 ข้อแก้ รธน.

"องค์กรภาค ปชช-นักการเมือง-นักวิชาการ" เล็งหารือ "ชวน" สัปดาห์หน้า เสนอมีเวทีถกแถลงแห่งชาติเพื่อรัฐธรรมนูญของทุกคน-จัดโครงสร้าง สสร. แก้ รธน.ปี 60

เมื่อวันที่ 27 ต.ค.62 ที่โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส หลานหลวง ภาคีรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งประกอบด้วย มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) , คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) , 30 องค์กรประชาธิปไตย , สภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ , คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) , คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ภาคประชาชน , มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) , สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) , มูลนิธิและสถาบันปรีดี พนมยงค์ มูลนิธิเพื่อความยั่งยืน และตัวแทน 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบด้วย โดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคเพื่อไทย , พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง พรรคประชาชาติ , พล.ท.พงศกร รอดชมภู พรรคอนาคตใหม่ , รวมทั้ง นายนิกร จำนง ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา , นายจาตุรนต์ ฉายแสง , นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต , นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ ร่วมประชุมตั้งแต่เวลา 12.00 น. ระดมความคิดเห็นต่อการเสนอทางออกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560

โดยเมื่อเวลา 15.00 น.เศษ "ภาคีรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย" ร่วมกันแถลงข่าว ซึ่ง "นายโคทม อารียา" ตัวแทน ระบุว่า ในฐานะองค์กรประสานงานขององค์กรประชาธิปไตย และเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการและพลังขับเคลื่อนเพื่ออนาคตของประเทศที่ดีกว่าด้วยการทำให้เกิดรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญของประชาชน รวมทั้งผลักดันให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่างๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ซึ่งไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ต้น และยึดรัฐราชการเป็นศูนย์กลางนั้น ทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองนำไปสู่การรวมศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจ จนเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างกว้างขวางจึงจำเป็นต้องผลักดันให้เกิด “รัฐธรรมนูญที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ในการแก้ปัญหา ด้วยการอาศัย “กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแบบมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางที่สุด” มาเป็นเครื่องมือ “สร้างการเรียนรู้สำนึกความเป็นพลเมือง” ที่คนไทยทุกหมู่เหล่าจะมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศชาติ ด้วยพลัง “ความรู้-ความรัก-ความสามัคคี” ของปวงชนชาวไทย ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย จึงเสนอหลักการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนี้

หลักการที่ 1 การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนจากทุกภาคส่วน และเปิดกว้างให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพทางวิชาการ และเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างเต็มที่

หลักการที่ 2 ต้องทำให้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญเป็นไปตามหลักการที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนโดยสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต้องได้รับการคุ้มครอง และยุติการสืบทอดอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน

หลักการที่ 3 ต้องทำให้เกิดฉันทามติร่วมกันในสังคมเพื่อยุติความขัดแย้งและสร้างความปรองดองสมานฉันท์

หลักการที่ 4 ต้องทำให้เกิดกระบวนการที่ทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งมั่นคงขึ้นพร้อมขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทางด้านต่างๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้ ถกแถลงและปรึกษาหารือกันเพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและประเทศดีขึ้น

โดยเพื่อดำเนินการตามหลักการข้างต้น "ภาคี เพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย" จะร่วมกันจัดเวทีถกแถลงเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจว่า ทำไมจึงกล่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ยึดรัฐราชการเป็นศูนย์กลาง จึงไม่อาจแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนได้ ขณะที่รัฐธรรมนูญที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางจะเป็นทางออกของการแก้ปัญหาประเทศชาติและประชาชนที่ดีกว่า นอกจากนี้ภาคีฯ จะจัดให้มี "คณะกรรมการอำนวยการ" ทำหน้าที่ประสานงานเพื่อดำเนินการและจัดกิจกรรมโดยมีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยเป็นจุดหมายด้วย

ขณะที่ "นายอนุสรณ์ ธรรมใจ" ในฐานะเลขาธิการคณะอำนวยการภาคีรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย ได้กล่าวหลังการแถลงข่าวว่า จากข้อสรุปในวันนี้ เราได้ประสานที่จะไปพบนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในสัปดาห์หน้า เพื่อเสนอจัดตั้งโครงสร้างของเวทีถกแถลงการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเป็นพื้นที่ทำให้ประชาชนทุกภาคส่วน รัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน ส.ส- ส.ว.หารือร่วมกันสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ดีที่สุดที่ประเทศไทยเคยมี และการให้ ส.ส.ร. คล้ายกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 2540 โดยหลักสำคัญคือให้ประชาชนทุกส่วนมีส่วนร่วมที่จะได้พูดคุยกันในเวทีดังกล่าวเพื่อหาข้อสรุปก่อนที่จะตั้ง ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงและผู้ทรงคุณวุฒิ และนอกจากการทำให้เกิดเวทีดังกล่าวแล้วก็จะมีการณรงค์ควบคู่กันไปที่จะให้แก้มาตรา 256 ด้วยเพื่อให้เปิดช่องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพราะรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปี 2560 นั้นกำหนดให้มีการแก้ไขยากมาก และยังจะมีการจัดกิจกรรมเดิน-วิ่งเพื่อประชาธิปไตย ในวันรัฐธรรมนูญที่ 10 ธ.ค.นี้ด้วย

โดยทั้งหมดจะเป็นการหารือในรายละเอียดกับประธานสภาฯ ต่อไป ซึ่งกิจกรรมเดิน-วิ่งนั้นยังเป็นการจัดหาทุนเพื่อทำกิจกรรมการเมืองด้วย โดยช่วงแรกของการจัดกิจกรรมเดิน-วิ่งนี้จะใช้พื้นที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตยโดยเราตั้งเป้าไว้ว่า จะทำโครงการเดินวิ่งให้ได้ทั่วทั้งประเทศในลักษณะการส่งมอบภารกิจต่อกันเป็นทอดๆ เพราะการสร้างประชาธิปไตยต้องอาศัยประชาชนจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการระดมความเห็นของภาคีเครือข่ายฯ ครั้งนี้ ก็ได้เชิญจากฟากรัฐบาลด้วยเช่นกัน แต่วันนี้บางคนอาจไม่ว่างจึงไม่ได้มา ขณะที่วันนี้มี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเช่น นายนิกรที่มีจุดยืนประชาธิปไตยที่เข้มแข็งก็มาร่วมด้วย ทั้งนี้ก็มีองค์กรประชาธิปไตยที่จะร่วมกับเราอีกมากก็จะเปิดกันต่อไปซึ่งแนวทางของเราคือร่วมกันกับทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดการปรองดองสมานฉันท์ ประเทศชาติสงบสุข ทำให้ปัญหาปากท้องประชาชนดีขึ้น ทั้งนี้ในที่ประชุมวันนี้ก็ยังเห็นว่าจะเสนอประธานรัฐสภาให้มี "เวทีถกแถลงแห่งชาติเพื่อรัฐธรรมนูญของทุกคน" เป็นแนวทางคล้ายกับการ ส.ส.ร.ปี 2540 แล้วจะทำให้ขอบเขตการรับฟังการแก้ไขรัฐธรรมนูญกว้างขวางทั่วประเทศ

 

ทั้งนี้ "นายอนุสรณ์" ยังกล่าวถึงโครงสร้าง "คณะกรรมการดำเนินการเวทีถกแถลงแห่งชาติเพื่อรัฐธรรมนูญของทุกคน" เพื่อแก้รัฐธรรมนูญว่า จะมีตัวแทนจากภาคประชาชนจังหวัดละ 1 คน 77 จังหวัด โดยให้แต่ละจังหวัดสรรหากันเอง 5 คนแล้วให้สภาผู้แทนราษฎรคัดเลือกเหลือจังหวัดละ 1 คน ส่วนที่ 2 คือ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการต่างๆ ก็จะเสนอไว้ที่ 15-20 คน โดยเป็นการแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน ส่วนที่ 3 ให้มีตัวแทนขององค์กรภาคประชาสังคม สถาบันวิชาการ อีกประมาณ 10-15 คน และมีผู้แทนจาก ส.ส. 10 คน จาก ส.ว. 5 คน โดยโครงสร้างส่วนนี้จะเรียกว่า "คณะกรรมการดำเนินการเวทีถกแถลงแห่งชาติเพื่อรัฐธรรมนูญของทุกคน" คณะกรรมการชุดนี้จะระดมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ก่อนจะนำมาสู่การจัดตั้ง ส.ส.ร. เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และต่อไปจะไม่มีการฉีกรัฐรรมนูญอีก เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมาจากประชาชนจริงๆ

“กติกาต้องมาจากประชาชน เราไม่สามารถที่จะให้ประเทศมีการผูกขาดอำนาจทางการเมืองและนำมาสู่การผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ แล้วทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ มีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก และมีความเหลื่อมล้ำสูงเหมือนในขณะนี้ เรายอมแบบนี้ไม่ได้ สิ่งที่เราทำ เราทำเพื่อลูกหลายของเรา เพื่ออนาคตของประเทศ” นายอนุสรณ์ระบุ