ผ่ากลยุทธ์ปลดล็อก 'บาทแข็ง' กูรูแนะตั้งกองทุนความมั่งคั่ง

ผ่ากลยุทธ์ปลดล็อก 'บาทแข็ง' กูรูแนะตั้งกองทุนความมั่งคั่ง

เศรษฐกิจไทยที่ “ชะลอตัว” รุนแรง นอกจากโดนผลกระทบจาก “สงครามการค้า” ระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับภาค “การส่งออก” ของไทยแล้ว

อีกส่วนยังได้รับผลกระทบจาก “การแข็งค่า” ของ “เงินบาท” ด้วย  โดยเงินบาทตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน แข็งค่าขึ้นราว 6% ถือเป็นสกุลเงินที่ “แข็งสุดในโลก”

ไม่เฉพาะปีนี้เท่านั้นที่ เงินบาทไทยแข็งค่าสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก หากย้อนดูค่าเงินบาทตั้งแต่ช่วง “วิกฤติซับไพร์ม” ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน พบว่า เงินบาทไทยมีสถิติแข็งค่าเป็นอันดับต้นๆของโลกเช่นกันโดยตั้งแต่ปี 2551 ถึงปัจจุบัน เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นประมาณ13%

...แน่นอนว่า เงินบาทที่ “แข็งค่า” ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ย่อมไม่เป็นผลดีนัก!

“อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า การแข็งค่าของเงินบาทเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และเงินบาทไม่ได้แข็งค่าแค่เฉพาะในปีนี้ เพราะตลอด 11 ปีที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นๆ ที่เป็นคู่ค้าและคู่แข่งขันมาโดยตลอด

ส่วนการแก้ไขปัญหาเงินบาทที่แข็งค่านั้น “อมรเทพ” ระบุว่า การจะใช้วิธีเดิมๆ คงไม่ได้ผล เพราะตลอด 11 ปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่ทางการพยายามแก้ไขปัญหา เช่น การลดดอกเบี้ย ทำได้เพียงบรรเทาปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น

“เราไม่ได้แก้สาเหตุของการที่เงินบาทแข็ง โดยเงินบาทที่แข็งมากๆ เกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ผิดที่เราเกินดุลผิดวิธี ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แล้ว การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด คือ ส่วนต่างระหว่างการออมที่มีมากกว่าการลงทุน โดย 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราออมอย่างเดียว ไม่ได้ลงทุนเลย ดังนั้นหากอยากให้เงินบาทอ่อน เราต้องเน้นการลงทุนให้มากขึ้น ซึ่งยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย”

157214323097

“พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร ระบุว่า การแข็งค่าของเงินบาทย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย โดยการแก้ปัญหาระยะสั้น อาจทำได้ 3 แนวทาง

1.เข้าไป “แทรกแซงค่าเงิน” ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ก็ใช้วิธีนี้อยู่บ้าง แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่ารูมในการเข้าแทรกแซงน้อยลงเรื่อยๆ หลังจากที่สหรัฐออกกฎเกณฑ์เรื่องการบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้า อย่างไรก็ตามในประเด็นนี้คงต้องไปดูในเชิงลึกว่า บทลงโทษของกฎเกณฑ์ดังกล่าว เข้มข้นแค่ไหน และคุ้มค่าหรือไม่หากต้องโดนกล่าวหา

2.การ “ลดดอกเบี้ยนโยบาย” ซึ่งข้อนี้อาจมีดีเบตกันว่าช่วยได้หรือไม่ หรือในกรณีที่เราลดดอกเบี้ยลงแล้ว แต่ประเทศอื่นลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม จะยิ่งกดดันให้เราต้องลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมหรือไม่

3.การออกมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งประเด็นนี้ค่อนข้างอ่อนไหว และเป็นประเด็นที่ ธปท. ไม่ค่อยอยากทำ

“ระยะสั้นสิ่งที่แบงก์ชาติพอจะทำได้ก็มี 3 ข้อ ซึ่งแต่ละข้อมีต้นทุนที่แตกต่างกันไป และแบงก์ชาติเองก็คงไม่อยากทำเท่าไร แต่เรื่องลดดอกเบี้ย จริงก็พอจะทำได้หากเราแยกเรื่องต่างๆ ออกจากกันให้ดี”

พิพัฒน์ ระบุว่า ถ้าดูแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจและระดับของเงินเฟ้อไทยในปัจจุบัน ถือว่ามีช่องว่างเพียงพอที่จะดำเนินการได้ เพียงแต่ ธปท. คงกังวลเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งในความเห็นส่วนตัวมองว่า ธปท. จำเป็นต้องหาเครื่องมือในการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินให้มากกว่านี้ 

นอกจากนี้ ธปท. จำเป็นต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ในการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินเพิ่มเติม เช่น ถ้าออกมาตรการต่างๆ ไป ธปท. อาจคุมได้เฉพาะธนาคารพาณิชย์ แล้วหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารพาณิชย์ ธปท.จำเป็นต้องขอความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ในการเข้าไปช่วยควบคุมดูแล

“ผมว่าเรื่องการแก้ปัญหาเงินบาทแข็ง เราควรต้องทำให้เป็นวาระแห่งชาติ ถ้าไปดูเคสของประเทศอื่นๆ ที่คล้ายกับไทย เช่น สิงคโปร์ ซึ่งเขาเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่าเรา โดยเขาเกินในระดับ 10% ของจีดีพี สิ่งที่เขาทำ คือ เขาปรับดอกเบี้ยตามสหรัฐ และออกมาตรการแม็คโครพรูเดนเชียล ดังนั้นเราอาจต้องหารูมที่จะทำส่วนนี้ให้มากขึ้น เพื่อที่เราจะสามารถใช้ดอกเบี้ยในการดูแลเศรษฐกิจและยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อได้อย่างแท้จริง”

นอกจากการแก้ปัญหาในระยะสั้นแล้ว กรณีของสิงคโปร์เขาจัดตั้งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ(Sovereign Wealth Fund หรือ SWF) แล้วเขาบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ตลอด ให้กองทุนความมั่งคั่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น GIC หรือ เทมาเส็ก เอาเงินสำรองเหล่านี้ออกไปใช้ข้างนอก เพื่อลดแรงกดดันของค่าเงิน

"เราเคยเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจและมีข้อกังวลกับการนำเงินทุนสำรองฯ ออกไปใช้ ทำให้กฎระเบียบไม่สามารถนำเงินเหล่านี้ไปใช้ได้ ดังนั้นเราต้องหาวิธีทำให้การลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อผลักดันเงินออกไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การที่ดอกเบี้ยต่ำ เงินบาทแข็ง ถือเป็นจังหวะแวะโอกาสที่เหมาะสุดในการออกไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการบาลานซ์ของดุลบัญชีเดินสะพัดด้วย"

แหล่งข่าวในแวดวงการเงิน ระบุว่า การแก้ปัญาเงินบาทแข็งค่า คงจะใช้วิธีเดิมๆ เหมือนในอดีตไม่น่าจะได้แล้ว เพราะค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งขันถือเป็น “คำตอบ” ของการแก้ปัญหาที่ประเทศไทยพยายามทำมาในอดีต สะท้อนว่าความพยายามในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้ผล จึงควรหาวิธีอื่นในการแก้ปัญหาเพิ่มเติม

“วิธีเดิมๆ ที่เราพยายามทำในช่วงที่ผ่านมา เช่น การผลักดันให้เงินคนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งก็พบว่า มีออกไปลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่ก็จะทำประกันความเสี่ยงเอาไว้จึงไม่ได้ช่วยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง ดังนั้นก็ต้องมีวิธีการอื่นๆ เพิ่ม”

แหล่งข่าวกล่าวว่า หนึ่งในวิธีที่น่าจะช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาทได้ คือ การจัดตั้งกองทุนในลักษณะ SWF ซึ่งประเทศสิงคโปร์ก็ใช้กลไกของกองทุนนี้ในการช่วยดูแลค่าเงิน โดยช่วงที่มีเงินทุนไหลเข้ามามากๆ ก็ผลักให้เงินเหล่านี้ออกไปในรูปของการลงทุนผ่านกองทุนดังกล่าว อย่างไรก็ตามการตั้งกองทุนลักษณะนี้คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งกองทุนลักษณะนี้

“ต้องยอมรับว่าสิงคโปร์เขามีระบบบริหารจัดการที่ดี เงินส่วนไหนกันไว้ลงทุน หรือเงินส่วนไหนต้องนำไว้เป็นทุนสำรอง การบริหารก็มีหลักการที่ชัดเจน มีมืออาชีพที่ปราศจากการเมืองหรือการถูกแทรกแซงใดๆ มาดำเนินการหากของเราสามารถทำได้แบบนี้ ก็เชื่อว่าจะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยดูแลค่าเงินบาทได้”