'คมนาคม' ลุยสนามบินนครปฐมปี 63 เล็งตั้งกองทุนชดเชยผลกระทบ

'คมนาคม' ลุยสนามบินนครปฐมปี 63 เล็งตั้งกองทุนชดเชยผลกระทบ

กรมท่าอากาศยาน เล็งตั้งกองทุนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ คาดสิ้นปีจะเห็นรูปแบบ"

จากสถิติการอนุญาต เที่ยวบินเชิงธุรกิจ (Business Aviation) ในลักษณะเช่าเหมาลำ (Charter Fight) พบว่าในปี 2557 – 2558 มีสถิติเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากจำนวน 155 เที่ยวบินในปี 2557 เพิ่มเป็น 642 เที่ยวบินในปี 2558

ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่รวมถึงเที่ยวบินที่ไม่สามารถทำการบินเข้ามาในประเทศไทยได้ เนื่องจากไม่มีที่จอดอากาศยานหรือได้รับการจัดสรรให้ไปลงจอดที่ท่าอากาศยานที่ไม่ตรงกับความต้องการ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งท่าอากาศยานรองรับการบินเชิงธุรกิจ (Business Aviation Airport) แห่งใหม่

นายจรุณ มีสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ระบุว่า แนวโน้มการขยายตัวของเที่ยวบิน และจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามายังท่าอากาศยานในไทย โดยเฉพาะท่าอากาศยานหลักอย่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมืองยังคงมีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งความต้องการของสายการบินที่จะเข้ามาเปิดจุดบินในไทยก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูง จึงทำให้ ทย.เร่งศึกษาพื้นที่เหมาะสมในการพัฒนาสนามบินแห่งใหม่ เพื่อแบ่งเบาความแออัดจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง

โดยได้ว่าจ้างบริษัท อินทิเกรเทด เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ จำกัด และบริษัท ธารา คอนซัลแทนท์ จำกัด  ศึกษาสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดจาก 11 พื้นที่ โดยรอบกรุงเทพฯ และพบว่าพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดอยู่ด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ บริเวณ อำเภอนครชัยศรี ช่วงรอยต่อกับอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐมเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ในรัศมี 50 – 60 กิโลเมตร (กม.) จะสามารถอำนวยความสะดวกผู้โดยสารเดินทางเชื่อมต่อเข้าไปยังกรุงเทพฯ

ผลการศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งท่าอากาศยานดังกล่าว พบว่ามีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจคุ้มค่าการลงทุน คือ ผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Internal Rate of Return : EIRR) อยู่ที่ 37.80% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ของโครงการอยู่ที่ 53,320 ล้านบาท และมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุน (B/C ratio) อยู่ที่ 4.45 จากการพิจารณาผลตอบแทนข้างต้น ทย.จึงมั่นใจว่าการพัฒนาท่าอากาศยานแห่งใหม่บนพื้นที่ดังกล่าว มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และส่งผลบวกต่อพื้นที่โดยรอบและจังหวัดใกล้เคียง

“ขณะนี้ ทย.อยู่ระหว่างเปิดรับฟังการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง จากที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม คาดว่าผลการศึกษาทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.นี้ โดยยืนยันว่าการพัฒนาสนามบินแห่งใหม่ตรงนี้ ผลการศึกษาบอกว่าควรมีการก่อสร้าง เพราะมีความคุ้มค่า ช่วยลดความอัดจากดอนเมือง และสุวรรณภูมิที่ขยายไม่ทัน ซึ่งการศึกษานี้ก็รวมการวิเคราะห์แผนพัฒนาศักยภาพของท่าอากาศยานทั้งสองแห่งนั้นแล้ว แสดงให้เห็นว่าการก่อสร้างท่าอากาศยานนครปฐม จะไม่ทำให้โอเวอร์ซัพพลายในอนาคต"

ส่วนการตอบรับของภาคประชาชน ที่บางส่วนยังไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาโครงการมีกลุ่มชาวบ้านจาก อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม มายื่นหนังสือร้องเรียนไม่สนับสนุนก่อสร้างโครงการดังกล่าวที่กระทรวงคมนาคม เหตุเพราะชาวบ้านอาศัยอยู่บริเวณรอบๆ เกรงว่าจะได้รับผลกระทบมลพิษที่เกิดจากเสียง และของเสียต่างๆ เนื่องจากเป็นพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยและทำเกษตรกรรม อีกทั้งที่ผ่านมา ยังไม่ได้รับข้อมูลรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับโครงการ รวมไปถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยา

ล่าสุด ทย.เตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหา โดยเบื้องต้นมีการศึกษาถึงการออกมาตรการเสริมเพื่อบรรเทาผลกระทบ นอกเหนือจากการจ่ายเงินชดเชย จ่ายค่าเวนคืนที่ดิน ทย.ยังมีแนวคิดจัดตั้งกองทุน เพื่อดูแลผลกระทบของประชาชน คล้ายกับการดูแลของโครงการลงทุนโรงไฟฟ้า ที่สร้างผลกระทบให้ประชาชนในพื้นที่ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปของรูปแบบกองทุนภายในสิ้นปีนี้

“ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นของการเปิดรับฟังผู้มีส่วนร่วม และหารูปแบบกองทุนที่จะจัดตั้ง หากแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.นี้ ก็จะรายงานมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในปี 2563 และตามผลการศึกษาโครงการจะมีการก่อสร้างในปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการในปี 2568 – 2569”

ด้านงบประมาณการลงทุนโครงการท่าอากาศยานนครปฐม เบื้องต้นมีการประเมินจัดใช้วงเงินอยู่ที่ราว 2.5 หมื่นล้านบาท โดยรูปแบบของการเปิดให้บริการจะทำการบินทั้งแบบพาณิชย์ และการบินทั่วไป (General Aviation) รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 25 ล้านคนต่อปี โดยปีแรกคาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 2 ล้านคนต่อปี

ท้ายสุดโครงการนี้จะมีการผลักดันให้เกิดขึ้นตามเป้าหมายหรือไม่ คงต้องจับตาดูนโยบายของกระทรวงคมนาคม กับโจทย์ลดความแออัดน่านฟ้าให้ถูกทาง  ที่สำคัญกรมท่าอากาศยาน ควรให้ข้อมูลที่แท้จริงกับประชาชนในพื้นที่ สร้างความเข้าใจ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่การก่อสร้างสนามบินในพื้นที่จังหวัดนครปฐมต่อไป