เกาหลีใต้จ่อเลิกใช้สิทธิพิเศษ ‘ชาติกำลังพัฒนา’

เกาหลีใต้จ่อเลิกใช้สิทธิพิเศษ ‘ชาติกำลังพัฒนา’

เกาหลีใต้เล็งเลิกใช้สิทธิพิเศษจากสถานะประเทศกำลังพัฒนา เตรียมถกองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เร็ว ๆ นี้ หลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” กล่าวหาว่าบางประเทศอาศัยความได้เปรียบจากสถานะดังกล่าว

นายฮอง นัม-กี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเกาหลีใต้ แถลงที่กระทรวงต่างประเทศในกรุงโซล วันนี้ (25 ต.ค.) ว่า รัฐบาลจะไม่พึ่งพาสิทธิพิเศษในฐานะประเทศกำลังพัฒนาอีกต่อไป โดยจะนำเรื่องนี้ไปหารือในการเจรจากับดับเบิลยูทีโอครั้งที่จะถึงนี้

ด้วยเหตุที่อาจเกิดผลเสียทางเศรษฐกิจและการประท้วงคัดค้านจากกลุ่มเกษตรกร รองนายกฯเกาหลีใต้ได้เน้นย้ำว่า กลุ่มเกษตรกรจะได้ประโยชน์ทางการค้าตามที่ได้รับในปัจจุบันต่อไป จนกว่าจะมีการเจรจากับดับเบิลยูทีโอเกี่ยวกับภาคเกษตรกรรมในรอบหน้า

“เมื่อพิจารณาจากสถานะทางเศรษฐกิจ เงื่อนไขภายในประเทศและต่างประเทศ และตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจของเรา เราตัดสินใจแล้วว่าจะไม่รับสิทธิพิเศษในฐานะชาติกำลังพัฒนาอีกต่อไป” นายฮองระบุในการแถลงข่าวซึ่งมีการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ

157199115073
- ฮอง นัม-กี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเกาหลีใต้ แถลงข่าว -

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐเรียกร้องให้ดับเบิลยูทีโอปลดสถานะชาติกำลังพัฒนาจากบรรดาประเทศร่ำรวย

หลักเกณฑ์สำหรับประเทศที่ถือว่าร่ำรวยนั้น รวมไปถึงการครองสัดส่วนในการค้าโลกอย่างน้อย 0.5%, ถูกธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) นิยามว่าเป็นประเทศรายได้สูง และเป็นสมาชิกกลุ่ม 20 ประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า (จี20) และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ซึ่งเกาหลีใต้มีคุณสมบัติครบทุกข้อ

“ประเทศที่มีสถานะทางเศรษฐกิจคล้ายกับเรา เช่น สิงคโปร์ บราซิล และไต้หวัน ต่างให้คำมั่นว่าจะไม่รับสิทธิพิเศษในฐานะชาติกำลังพัฒนาแล้ว” รองนายกฯเกาหลีใต้ระบุ และว่า “นี่เป็นการตัดสินใจที่เราทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติ”

เกาหลีใต้คงสถานะชาติกำลังพัฒนาตั้งแต่ยุคก่อตั้งดับเบิลยูทีโอเมื่อปี 2538 เพื่อปกป้องภาคเกษตรกรรมของตนจากการนำเข้าข้าว ส่งผลให้เกาหลีใต้ได้รับประโยชน์มหาศาลจากการมีอิสระมากขึ้นในการจัดเก็บภาษีและเสนอเงินอุดหนุน

ด้านกลุ่มเกษตรกรท้องถิ่นคัดค้านการตัดสินใจของรัฐบาลทันที เพราะทำให้ภาคเกษตรกรรมของประเทศสูญเสียสิทธิพิเศษ เกษตรกรเกาหลีใต้เรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุน 1 ล้านล้านวอน (ประมาณ 2.57 หมื่นล้านบาท) และเรียกร้องให้รัฐบาลกันสำรองงบ 5% ของงบประมาณทั้งหมดเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตร