'คอปเปอร์ ไวร์ด' ! เกาะ 'ดิจิทัลไลฟ์สไตล์' โต

'คอปเปอร์ ไวร์ด' ! เกาะ 'ดิจิทัลไลฟ์สไตล์' โต

'คอปเปอร์ ไวร์ด' หนึ่งในธุรกิจติดเทรนด์โลกยุคใหม่เติบโต ! 'ปรเมศร์ เหรียญเจริญสุข' ผู้ก่อตั้ง โชว์พันธกิจผลักดันธุรกิจค้าปลีกสินค้า 'ดิจิทัลไลฟ์สไตล์' ขึ้นแท่น 'สตาร์' หวังยกฐานะโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10-15%

'มาถูกทางและถูกเทรนด์ของโลก!' ประโยคเด็ดของ 'ใหญ่-ปรเมศร์ เหรียญเจริญสุข' ผู้ก่อตั้ง บมจ.คอปเปอร์ ไวร์ด หรือ CPW ผู้นำธุรกิจสินค้าดิจิทัลไลฟ์สไตล์ กลุ่มสินค้าโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และแท็บเล็ต อาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุให้ราคาหุ้น CPW เปิดซื้อขายวันแรก (18 ต.ค.2562) อยู่ที่ 2.68 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 12.61% จากราคา IPO 2.38 บาทต่อหุ้น 

สอดคล้องกับผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2559-2561) มีกำไรสุทธิ 15.99 ล้านบาท 63.35 ล้านบาท และ 82.42 ล้านบาท รายได้รวม 2,539.36 ล้านบาท 2,789.05 ล้านบาท และ 3,227.62 ล้านบาท ตามลำดับ     

ปัจจุบัน CPW แบ่งธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ร้าน .life (ดอทไลฟ์) ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกจำหน่ายสินค้าดิจิทัลไลฟ์สไตล์นำสมัยภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท ในการตกแต่งร้าน การคัดสรรสินค้าคุณภาพจากทั่วทุกมุมโลกมาขายยังร้าน .life 2.ร้านค้าปลีก Apple Brand Shop จำหน่ายสินค้าแบรนด์ Apple ร้าน iStudio by copperwired ร้าน Ai_ และร้าน U-Store  by copperwired 

และ 3.ร้าน iServe เป็นศูนย์บริการที่ได้รับการแต่งตั้งจากทาง Apple ให้บริการซ่อม/เปลี่ยนอะไหล่สินค้าแบรนด์ Apple ที่ชำรุดแก่ลูกค้าของบริษัทด้วยมาตรฐาน Apple

'ปรเมศร์ เหรียญเจริญสุข' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คอปเปอร์ ไวร์ด หรือ CPW เล่าสตอรี่การเติบโตให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า หากต้องการให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าและพันธมิตรต่างชาติ การนำบริษัทเข้าระดุมในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จึงเป็นเรือธงสู่ความสำเร็จ !! สอดคล้องกับเงินระดุมทุนจำนวน 380 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปขยายสาขา ร้าน .life (ดอทไลฟ์) ที่อนาคตมีโอกาสเติบโตได้ที่มากตามทิศทางของ 'ธุรกิจค้าปลีกสินค้าดิจิทัลไลฟ์สไตล์'    

สำหรับแผนธุรกิจบริษัทจะนำเงินระดมทุนขยายสาขาค้าปลีก 70 ล้านบาท (เฟสแรก) และนำไปปรับปรุง (renovate) สาขาเดิมอีกประมาณ 18 ล้านบาท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน นอกจากนั้น ยังมีแผนเข้าไปซื้อสินค้าไอทีจากต่างประเทศเข้ามาขายในไทยเพิ่มเติม โดยเน้นสินค้าดิจิทัลไลฟ์สไตล์ และสินค้า IoT (Internet of Things) 

'ผู้ก่อตั้ง' แจกแจงว่า ยังมีอีกหลาย 'จุดยุทธศาสตร์' ที่มองเห็นว่าจะช่วยเพิ่มยอดขายของบริษัทได้อีก โดยในปี 2563 บริษัทตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มอีก 5-6 สาขา และ renovate สาขาเดิมอีกราว 3-4 สาขา จากปัจจุบัน CPW มีร้านค้าปลีกภายใต้การบริหารงานของบริษัท 40 สาขา ประกอบด้วย ร้าน.life (ดอทไลฟ์) 20 สาขา ซึ่งรวมร้านดอทไลฟ์สาขาใหม่ล่าสุดที่เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ ร้าน iStudio by copperwired 13 สาขา ร้าน Ai_ สยามดิสคัฟเวอรี่ 1 สาขา ร้าน iServe 5 สาขา U-Store by copperwired 1 สาขา

ทั้งนี้ สินค้าของบริษัทแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นสินค้าที่มี 'รายได้สูงแต่มาร์จินต่ำ' คือ ฮาร์ดแวร์ เช่น คอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต สมาร์ทโฟน และ กลุ่มที่ 2 คือ สินค้า 'รายได้ต่ำแต่มาร์จินสูง' ซึ่งเป็นสินค้าประเภทดิจิทัลไลฟ์สไตล์ในร้านดอทไลฟ์ อาทิ Accessory ต่างๆ และสินค้า IoT ซึ่งเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ 

ดังนั้น ในอนาคต ร้าน .life (ดอทไลฟ์) จะเป็น 'พระเอก' ของบริษัท โดยเป็นชอปขายปลีก สินค้าดิจิทัลไลฟ์สไตล์ สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์และแท็บเล็ตที่มีการจัดร้านเป็นเอกลักษณ์ค่อนข้าง 'โดดเด่น' และ 'แตกต่าง' ซึ่งในแผนธุรกิจร้านดอทไลฟ์จะทำทั้งการปรับปรุงและการขยายสาขา ปัจจุบันมี 20 สาขาทั่วประเทศในกรุงเทพฯ แต่ยังมีอีกหลายที่ที่จะต้องขยายไป เพราะมันยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจุบันบริษัทอยู่ในกลุ่มสินค้าที่กำลังเติบโตตามเทรนด์ของโลก  

'ตลาดดิจิทัลไลฟ์สไตล์ในร้านดอทไลฟ์ถือเป็นบลูโอเชียน (Blue Ocean) ผู้เล่นในตลาดยังไม่มาก ยิ่งกว่านั้นสินค้า IoT กำลังเข้าสู่ขาขึ้นอย่างชัดเจน ช่วยสร้างการเติบโตให้กับบริษัทอย่างมากในอนาคต'

สำหรับ ร้าน iStudio ตอนนี้เริ่มลงตัวแล้วคงไม่ต้องปรับปรุงอะไร ส่วนการขยายสาขาจะน้อยลงเพราะตอนนี้ร้าน iStudio ค่อนข้างมากในประเทศไทย

'ดอทไลฟ์นี่เราทำดิจิทัลไลฟ์สไตล์โพรดักส์ ส่วน iStudio เราขาย สินค้าแบรนด์ Apple แล้วเราก็ยังมีศูนย์บริการ Apple ชื่อว่า iServe'

ขณะที่สัดส่วนรายได้หลัก 6 เดือนแรกปี 2562 มาจากกลุ่มสินค้าดิจิทัลไลฟ์สไตล์ (Digital lifestyle) 46.33% กลุ่มโทรศัพท์มือถือ (Smartphone) 22.94% กลุ่มคอมพิวเตอร์และแท็บเล็ต (Computer & Tablet) 27.72% กลุ่มบริการซ่อมแซม และรับประกัน 2.43% ของรายได้รวมทั้งนี้ ในอดีตธุรกิจค้าปลีกของบริษัทมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 10-15% ต่อปี ซึ่งเป้าหมายการเติบโตในปี 2563 ก็คาดว่าจะโตในระดับ 10-15% แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อจะยังไม่ฟื้น แต่ในบาง sector ก็กำลังอยู่ในช่วงเติบโตที่ดี ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งธุรกิจของบริษัทก็ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ 

'ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้และกำไรเติบโตต่อเนื่อง และปีนี้ก็คาดว่ารายได้จะโตไม่ต่ำกว่า 10-15%'

สำหรับผลการดำเนินในไตรมาส 4 ปี 2562 คาดว่าจะเป็นช่วงที่เติบโตได้โดดเด่นที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ และประกอบกับมีสินค้าใหม่เข้ามาเพิ่มเติม อาทิ ไอโฟน 11 ที่ปัจจุบันมีจำนวนยอดจองเครื่องเข้ามาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จึงคาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้รายได้ปีนี้ของบริษัทเติบโตได้10-15% ตามเป้าหมายที่วางไว้

'ไตรมาส 4 ปี 2562 จะเข้าสู่ไฮซีซั่นธุรกิจ สินค้าใหม่ทยอยเปิดตัว ได้แก่ iPad , Apple Watch และ iPhone 11 รุ่นใหม่ ที่วางขายวันแรกเมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา รวมทั้ง การจับจ่ายใช้สอยสินค้าดิจิทัลไลฟสไตล์ในช่วงปลายปีอีกด้วย'

ท้ายสุด 'ปรเมศ์ร' ทิ้งท้ายไว้ว่า ทิศทางธุรกิจของเรากำลังจับในกลุ่มลูกค้าที่ถูกกับเทรนด์คือ กลุ่มสินค้าที่เป็นลักษณะ IoT จะเห็นได้ว่าพอสมาร์ทโฟนเริ่มมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น อุปกรณ์ที่นำมาเชื่อมต่อจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น ยิ่งอนาคตเป็น 5G การเชื่อมต่อจะยิ่งลื่นไหล ฉะนั้น ส่วนตัวมองว่า CPW เป็น New Star ของยุคนี้เลยในแง่ของ Retail  

'จุดเริ่มต้น' CPW 

'ปรเมศร์ เหรียญเจริญสุข' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คอปเปอร์ ไวร์ด หรือ CPW เล่าให้ฟังว่า 'จุดเริ่มต้น' ของ 'คอปเปอร์ ไวร์ด'  มาจากร้านขายปลีกสินค้า 'แบรนด์ Apple' ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ เมื่อปี 2543 และเมื่อ 10 ปีที่ก่อน มีก่อตั้งบริษัท โคแอน จำกัด (KOAN) ทำธุรกิจค้าส่งสินค้ากลุ่มดิจิทัลไลฟ์สไตล์ที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ และมีร้าน .life (ดอทไลฟ์) เนื่องจากเห็นทิศทางของโทรศัพย์เคลื่อนที่ (สมาร์ทโฟน) เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนจำนวนมาก และพวก 'ไดรเวอร์' (Device) ต่างๆ ที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ทโฟนก็มีมากขึ้น ทำให้เกิดไอทีโฉมใหม่ขึ้นมา และเกิดร้านดอทไลฟ์เพื่อขายปลีกสินค้าดิจิทัลไลฟ์สไตล์ 

'จากความหลงไหลสินค้าของ Apple ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ต่างประเทศ เมื่อจบการศึกษาช่วงอายุ 24-25 ปี ก็เข้ามาช่วยกิจการนำเข้า-ส่งออกของครอบครัว ช่วงนั้นได้นำสินค้าแบรนด์ Apple เข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ'

ก่อนจะเริ่มผันตัวเข้าสู่วงการของ Apple และเริ่มชักชวนเพื่อน 3-4 คนมาเปิดร้านขายปลีกสินค้าไอทีสาขาแรกในศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ซึ่งเป็น Shopping mall แตกต่างกับร้านขายปลีกสินค้าไอทีในสมัยนั้นที่นิยมไปเปิดใน IT Shopping mall อย่าง พันธุ์ทิพย์พลาซ่า

แม้ว่าช่วงที่เปิดร้านในปีแรกที่มีพื้นที่ 50 ตารางเมตรจะค่อนข้างยากลำบาก เพราะผู้บริโภคยังไม่เข้าใจแบรนด์  Apple เหมือนกับในปัจจุบัน แต่โดยส่วนตัวมีความเชื่อมั่นในแบรนด์ Apple รวมทั้งมีมุมมองว่าผู้บริโภคในอนาคตจะต้องหันมาใช้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในที่สุด 

จากนั้น 1-2 ปีลูกค้าเริ่มเข้ามาซื้อสินค้าในร้านมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บริษัทเริ่มเห็นสัญญาณเติบโต จึงมีแนวคิดประกอบธุรกิจนำเข้าสินค้าไอทีเข้ามาจำหน่าย และขายให้กับผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งบริษัท โคแอน จำกัด (KOAN) ทำธุรกิจค้าส่งสินค้ากลุ่มดิจิทัลไลฟ์สไตล์ที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ เน้นกลุ่มลูกค้าผู้ค้าปลีกที่นำไปจำหน่ายต่อให้แก่รายย่อย เช่น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ พาวเวอร์บาย ร้านค้าปลอดภาษี คิง พาวเวอร์ เป็นต้น

'แน่นอนว่าเราเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพ รุ่นเดอะเลย เราเกิดขึ้นจากไม่มีอะไร เป็นแค่คนกลุ่มหนึ่งที่มี passion กับสินค้าของ Apple และสินค้าที่เป็นดิจิทัลไลฟ์สไตล์ที่ต้องมีดีไซด์ สวย ล้ำ และดี เราไม่ได้พูดถึงของแพง แต่เรากำลังพูดถึงของดี โดยในช่วง 10 ปีแรก เป็นช่วงที่บริษัทขยายตัวได้โดดเด่น เพราะเราผูกติดกับการเป็น Apple Retail เป็นส่วนใหญ่'

โดยในช่วง 10 ปีหลัง เราก็เริ่มมาเปิดร้านดอทไลฟ์ มุ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคเน้นขยายสินค้า IoT (Internet of Things) ที่เป็นประเภท Accessory เยอะมากๆ เพราะเล็งเห็นว่าการใช้สมาร์ทโฟนจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก และมาเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของคนในอนาคต

'ทำให้ร้านดอทไลฟ์จึงเป็นรูปแบบของดิจิทัลไลฟ์สไตล์ ขายสินค้าที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ซึ่งในธุรกิจนี้บริษัทถือเป็นผู้นำในไทย มีความแตกต่างกับร้านขายสินค้าและธุรกิจไอทีโดยสิ้นเชิง'