อุตฯยานยนต์หดตัว สัญญาณเตือน 'เลิกจ้าง'

อุตฯยานยนต์หดตัว สัญญาณเตือน 'เลิกจ้าง'

ส.อ.ท.ลดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ปีนี้เหลือ 2 ล้านคัน ในขณะที่ยอดขายลดลง ทำให้ต้องลดการผลิต และมีความกังวลถึงการเลิกจ้าง

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ปรับลดเป้าผลิตรถยนต์ปี 2562 เหลือ 2 ล้านคัน จากเป้าหมายเดิมที่จะผลิตรวม 2.15 ล้านคัน ซึ่งถือว่าน้อยกว่าปี 2561 ที่ผลิตได้ถึง 2.167 ล้านคัน รวมทั้งลดเป้าผลิตเพื่อส่งออกลง 100,000 คัน เหลือเพียง 1 ล้านคัน จากเดิมกำหนดเป้าส่งออก 1.1 ล้านคัน ลดลงจากปีที่แล้วที่ผลิตเพื่อส่งออก 1.142 ล้านคัน

การออกมาปรับประมาณการณ์ดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณที่สอดคล้องกับการประเมินสถานการณ์ภาวะอุตสาหกรรมยานยนต์ไตรมาสที่ 2 และแนวโน้มไตรมาส 3 ปี 2562 ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ที่ประเมิรนว่าปริมาณการผลิตจะลดลง เนื่องจากการส่งออกที่หดตัวลง และการจำหน่ายในประเทศที่เริ่มชะลอตัวจากภาวะ เศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว

ในขณะที่ล่าสุดบริษัทไทยซัมมิท แหลมฉบัง โอโตพาร์ท จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของประเทศ ได้ประกาศให้คนงานหยุดการทำงานชั่วคราวบางส่วนเป็นเวลา 2 เดือน โดยให้เหตุผลการปรับลดค่าใช้จ่าย เนื่องจากยอดขายลดลงต่อเนื่อง 

พินัย ศิรินคร ประธานกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์และอะไหล่ยานยนต์ ส.อ.ท.กล่าวว่า คำสั่งซื้อของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่การเกิดวิกฤตซับไพร์มเมื่อปี 2552 

การสอบถามสมาชิกเบื้องได้ข้อสรุปว่าสถานการณ์ธุรกิจอยู่ในช่วงวิกฤติ หลังจากคำสั่งซื้อเฉลี่ยลดลง 5-10% ซึ่งสะท้อนมาจากยอดจำหน่ายและยอดผลิตรถยนต์ในช่วงที่ผ่านมา โดยล่าสุดกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.ปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ปีนี้ลงเหลือเพียง 2 ล้านคัน

กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอะไหล่ยานยนต์ ส.อ.ท.ได้ประเมินสถานการณ์พบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้คำสั่งซื้อและยอดขายในอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลง มาจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการและยอดคำสั่งซื้อรถยนต์ลดลงตามไปด้วย

นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอะไหล่ยานยนต์ ส.อ.ท.มีข้อเสนอต่อภาครัฐเพื่อให้หาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาอุตสาหกรรมยานยนต์ชะลอตัว 2 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ภาครัฐควรเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดกำลังซื้อภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยคงยอดขายให้กับภาคอุตสาหกรรมไม่ให้กระทบไปถึงแรงงาน 

โดยถ้าสงครามการค้าคลี่คลายลงก็มั่นใจว่าสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องจะดีขึ้น ก็จะช่วยประคองสถานการณ์ในช่วงนี้ไปได้ แต่แรงกดดันของการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าก็จะเข้ามากดดันอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์มากขึ้นต่อเนื่อง เพราะรถยนต์ไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนในการผลิตลดลงมาก 

2.ภาครัฐและภาคเอกชนจะเข้าร่วมมือเข้าไปช่วยยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน รวมทั้งปรับทักษะแรงงานให้เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ โดยแรงงานที่อยู่ในสายการผลิตก็ต้องปรับตัวเรียนรู้ในด้านการดูแลเครื่องจักร การควบคุมเครื่องจักรอัตโนมัติ การเรียนรู้การควบคุมเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น 

ทั้งนี้ จะมีแรงงานบางส่วนจะต้องออกไปจากอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งรัฐควรจะเข้าไปช่วยปรับฝีมือแรงงานไปสู่อุตสาหกรรมอื่น หรือเพิ่มทักษะ ช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อไปประกอบอาชีพอื่น ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสใหม่ที่ดีขึ้นของแรงงาน

1571924061100