เซ็นสัญญา 'ไฮสปีด' ฉุดพลุหุ้น 'อีอีซี'

เซ็นสัญญา 'ไฮสปีด' ฉุดพลุหุ้น 'อีอีซี'

ในที่สุดก็มาถึงวันนี้สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือ ไฮสปีดเทรน หลังได้มีการลงนามในสัญญาร่วมทุนอย่างเป็นทางการไปแล้ววานนี้ (24 ต.ค.)

ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ที่ถือฤกษ์งามยามดี 13.45 น. จรดปากกาเซ็นสัญญา ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

โดยมีนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บินตรงกลับจากประเทศญี่ปุ่นมาเป็นประธานในพิธี ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น มีนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ รฟท. เป็นผู้ลงนามร่วมกับ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด

ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีว่าโครงการได้เริ่มต้นขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ แม้จะล่าช้ามานานหลายเดือนนับตั้งแต่กลุ่มซีพีชนะประมูล โดยเสนอราคาต่ำที่สุด เมื่อช่วงปลายเดือนธ.ค. ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่มูลค่ามหาศาลกว่า 2 แสนล้านบาท ทั้งสองฝ่ายจึงต้องพิจารณาให้รอบคอบมากที่สุด

รัฐเองก็คงไม่อยากเสียค่าโง่ในอนาคต ขณะที่เอกชนเมื่อควักกระเป๋าลงทุนแล้ว คงไม่มีใครอยากขาดทุนเช่นกัน พยายามเจรจาต่อรองให้ได้มากที่สุด มีการยื่นข้อเสนอต่างๆ มากมาย แต่ก็ถูกตีกลับ เช่น ขอขยายสัมปทานจาก 50 ปี เป็น 99 ปี ให้รัฐการันตีผลตอบแทนจากากรลงทุนที่ 6.75% พร้อมจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ถกเถียงกันนานกว่าจะตกลงกันได้ คือ การส่งมอบพื้นที่ เพราะทางเอกชนอยากให้ รฟท. ส่งมอบพื้นที่ให้ได้ทั้งหมด 100% เพราะกลัวจะก่อสร้างไม่เสร็จทันตามสัญญา 5 ปี ขณะที่รัฐยืนยันพร้อมจะเจรจา หากไม่ทันจริงพร้อมยืดเวลาการก่อสร้างออกไป ซึ่งในเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน (RFP) ระบุไว้ชัดเจนว่าต้องส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เอกชนอย่างน้อยแค่ 50% ภายใน 1 ปี

สุดท้ายแล้วได้ข้อสรุปร่วมกัน โดยจะแบ่งการส่งมอบพื้นที่ออกเป็น 3 ช่วง 1. ช่วงสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ หรือ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ระยะทาง 28 กิโลเมตร พร้อมส่งมอบทันทีหลังลงนาม 2. ช่วงสถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร กำหนดส่งมอบพื้นที่ภายใน 1 ปี 3 เดือน หลังลงนาม

และ 3. ช่วงสถานีพญาไท-ดอนเมือง แม้ระยะทางจะสั้นที่สุดเพียง 22 กิโลเมตร แต่เนื่องจากอยู่ในตัวเมือง มีผู้บุกรุกพื้นที่ ต้องรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งสายไฟฟ้า อุโมงค์ระบายน้ำ ท่อก๊าซ ท่อน้ำมัน ฯลฯ จึงต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ได้ภายใน 2 ปี 3 เดือน หลังลงนามในสัญญา

เมื่อทุกอย่างลงตัวโครงการก็พร้อมเดินหน้าทันที ถือเป็นการจุดพลุการลงทุนในพื้นที่อีอีซีให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทั้ง 5 โครงการ ซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจหลักของอีอีซีเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว อย่างไฮสปีดเทรนและท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 เซ็นสัญญาไปเรียบร้อย ส่วนโครงการที่เหลือคณะกรรมการอีอีซีมั่นใจว่าจะได้เห็นความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้แน่นอน ซึ่งจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ หอบเงินเข้ามาลงทุนในพื้นที่แห่งนี้

เรียกว่า “อีอีซี” ยังเป็นอีกหนึ่งธีมการลงทุนที่น่าสนใจ เพราะเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล กลุ่มที่ดูแล้วโดดเด่นมีรับเหมาก่อสร้าง เพราะแน่นอนว่าต้องมีการลงทุนก่อสร้างต่างๆ ตามมามากมาย ซึ่งหากเริ่มจากโครงการไฮสปีดที่ตอนนี้เดินหน้าแล้ว ทุกโบรกมองเหมือนกันว่า บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK น่าจะได้รับอานิสงส์ไปเต็มๆ 

เพราะเป็นหนึ่งในพันธมิตรของกลุ่มซีพี ถือหุ้นในนาม ช.การช่าง สัดส่วน 5% และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM อีก 10% ประเมินกันว่า ช.การช่าง จะได้รับงานก่อสร้างไฮสปีดเทรนตามสัดส่วนการลงทุนราว 3-5 หมื่นล้านบาท ช่วยเติมมูลค่างานในมือ (Backlog) เพิ่มขึ้นแตะ 1 แสนล้านบาททันที

อีกหนึ่งตัวที่ไม่อยากให้มองข้าม บริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SEAFCO เป็นหุ้นรับเหมาไซส์เล็ก ถนัดงานฐานรากเสาเข็มเจาะซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญของงานก่อสร้าง มีโอกาสได้งานจากกลุ่มช.การช่าง อีกทอดหนึ่ง เพราะเป็นพันธมิตรทำงานร่วมกันมานาน

ส่วนกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมยังเนื้อหอม ยิ่งเมื่อไฮสปีดเดินหน้าแล้วแบบนี้ ยิ่งช่วยเรียกความมั่นใจให้กับบรรดานักลงทุนเข้ามาหาซื้อที่ เพื่อก่อสร้างโรงงานตั้งบริษัท ประกอบกับรัฐบาลสนับสนุนเต็มที่ออกมาตรการพิเศษ Thailand Plus Package โดยให้สิทธิประโยชน์มากมายสำหรับบริษัทต่างชาติที่หนีภัยสงครามการค้า ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย 

พระเอกของกลุ่มนิคมฯ ยังเป็นบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA และ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ซึ่งมีที่ดินในอีอีซีรายละมากกว่า 1 หมื่นไร่