'แอมเนสตี้' แฉทหารเมียนมายังทารุณพลเรือนรัฐฉาน

'แอมเนสตี้' แฉทหารเมียนมายังทารุณพลเรือนรัฐฉาน

"แอมเนสตี้" เปิดรายงานล่าสุดพบความทารุณของทหารยังเกิดขึ้น "อย่างต่อเนื่องและเลือดเย็น" ในพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐฉานในเมียนมา

องค์กรนิรโทษกรรมสากล (แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล) เปิดเผยรายงานล่าสุดในวันนี้พบว่า กลุ่มกำลังติดอาวุธทั้งฝ่ายกองทัพเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ยังคงปฏิบัติการที่รุนแรงและคุกคามพลเรือนทางตอนเหนือของรัฐฉานอย่างต่อเนื่อง เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพกฎหมายมนุษยชนและสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการก่ออาชญากรรมสงครามครั้งนี้ต้องถูกนำตัวมาลงโทษ และเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติส่งกรณีของเมียนมาเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศโดยเร็วที่สุด

ในรายงานใหม่ "ลูกไก่ในกำมือ: การปฏิบัติมิชอบต่อพลเรือนท่ามกลางสงครามความขัดแย้งในตอนเหนือของรัฐฉานของเมียนมา (Caught in the middle": Abuses against civilians amid conflict in Myanmar's northern Shan State) เปิดเผยข้อมูลการปฏิบัติที่โหดร้าย กรณีที่พลเรือนถูกจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ และถูกทรมานโดยทหาร ทั้งยังเน้นให้เห็นยุทธวิธีอย่างมิชอบที่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ใช้เพื่อตอบโต้กองทัพเมียนมา โดยต่างฝ่ายต่างแย่งชิงอำนาจควบคุมเหนือพื้นที่นี้

นายนิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า กองทัพเมียนมายังคงปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องและเลือดเย็นเช่นเดิม ถือเป็นการก่ออาชญากรรมสงครามต่อพลเรือนทางตอนเหนือของรัฐฉาน เจ้าหน้าที่ทหารโดยเฉพาะระดับผู้บังคับบัญชา ต่างกดดันให้พลเรือนต้องตกเป็นเหยื่อของความทารุณโหดร้ายโดยไม่มีการรับผิดแต่อย่างใด

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเก็บข้อมูลอาชญากรรมสงคราม และการละเมิดของทหารต่อพลเรือนชาวคะฉิ่น ลีซู ฉาน และดาระอั้ง ระหว่างการทำวิจัยภาคสนามสองครั้งในพื้นที่นี้ในเดือนมี.ค. และส.ค. 2562 พบว่า พลเรือนซึ่งให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ต่างระบุซ้ำ ๆ กันว่า ทหารจากกองพลทหารราบเคลื่อนที่เร็วที่ 99 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ก่อนหน้านี้กำลังทหารภายใต้กองพลทหารราบเคลื่อนที่เร็วที่ 99 ปฏิบัติการอย่างทารุณโหดร้ายสุดต่อชาวโรฮิงญา ในรัฐยะไข่ตั้งแต่เดือนส.ค. 2560 รวมทั้งได้ก่ออาชญากรรมสงครามและการละเมิดที่รุนแรงอีกหลายครั้งในตอนเหนือของเมียนมาช่วงปี 2559 และต้นปี 2560

"ไม่ว่ามีการส่งกองพลทหารราบเคลื่อนที่เร็วที่ 99 ไปประจำที่ใด เราจะเห็นแบบแผนการปฏิบัติมิชอบที่คล้ายคลึงกันเกิดขึ้น เป็นการก่ออาชญากรรมที่น่าสะพรึงกลัว ชี้ให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ประชาคมระหว่างประเทศต้องกดดันให้กองทัพเมียนมา หรืออย่างน้อยบรรดานายทหารระดับสูงต้องมีส่วนรับผิด" นายเบเคลังกล่าว

การละเมิดยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ภายหลังกองทัพประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียว ซึ่งต่อมามีการยกเลิกการประกาศหยุดยิงไป โดยในเดือนธ.ค. 2561 ได้มีการต่อสู้ที่รุนแรงเกิดขึ้นในภูมิภาคอีกครั้ง ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าเพื่อตอบโต้การลักลอบขนยาเสพติด แต่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ชี้ว่าเป็นผลมาจากปฏิบัติการโจมตีทางทหาร ทำให้เกิดรายงานข้อมูลการละเมิดครั้งใหม่ ในเวลาเดียวกัน ดูเหมือนจะไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพที่หยุดชะงักลงไป ในระหว่างที่ทุกฝ่ายเตรียมตัวลงเลือกตั้งทั่วไปในปี 2563

157189599378

ด้านกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ยังจับตัวพลเรือนมาเป็นแรงงานบังคับ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสามารถเก็บข้อมูลหลายกรณีที่พลเรือนถูกบังคับให้ทำงานเป็นลูกหาบ แบกหามสัมภาระของทหาร และนำทางไปยังหมู่บ้านอื่นในระหว่างที่มีสงคราม ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตพวกเขา พลเรือนยังให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์มักรีดไถอาหารและเงินไปจากพวกเขา ขู่ว่าถ้าใครไม่ยอมให้ก็จะถูกทำร้ายด้วยความรุนแรง

"กลุ่มติดอาวุธเองก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการปฏิบัติมิชอบที่โหดร้ายต่อพลเรือน ทั้งการลักพาตัว การจับชาวบ้านมาเป็นแรงงานบังคับและการทุบตี เราขอเรียกร้องทุกฝ่ายให้ยุติการโจมตีที่พุ่งเป้าไปที่พลเรือน และให้ดำเนินการทุกประการที่เป็นไปได้เพื่อให้มีการสู้รบห่างไกลจากพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่อาศัยหนาแน่น" ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของแอมเนสตี้ ระบุ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทุกฝ่าย ให้เคารพกฎหมายมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ให้คุ้มครองพลเรือน และประกันให้สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม กองทัพเมียนมาและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต้องยุติปฏิบัติการที่รุนแรงและคุกคามต่อพลเรือน และให้ดำเนินการทุกอย่างที่เป็นไปได้เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิบัติการในพื้นที่ที่มีพลเรือนอาศัยอยู่

นายเบเคลัง ยังเรียกร้องว่า ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงคราม ควรถูกนำตัวมาลงโทษ ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับล่างจนถึงระดับสูงอย่างพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา ทั้งทหารและผู้บังคับบัญชาของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ก็ควรเข้ารับการสอบสวนและต้องรับผิดต่ออาชญากรรมสงครามเช่นกัน"

"คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต่างเพิกเฉยมานานแล้ว ในขณะที่พลเรือนถูกทอดทิ้งให้อยู่ท่ามกลางวงจรความรุนแรงที่ไม่มีวันสิ้นสุด ถึงเวลาที่คณะมนตรีต้องยุติการเตะถ่วง และต้องส่งกรณีของเมียนมาเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศอย่างเร็วที่สุด" นายเบเคลังกล่าว