'ธนาคารโลก' จัดอันดับยากง่ายธุรกิจ ไทยพุ่ง6อันดับ-ดีที่สุดรอบ6ปี

'ธนาคารโลก' จัดอันดับยากง่ายธุรกิจ ไทยพุ่ง6อันดับ-ดีที่สุดรอบ6ปี

รมว.คลัง เผย "ธนาคารโลก" จัดอันดับยากง่ายธุรกิจ ไทยพุ่ง6อันดับ ได้รับ 80.10 คะแนน อันดับที่ดีที่สุดในรอบ 6 ปี

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ธนาคารโลกได้เผยแพร่การจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจประจำปี 2563 (Doing Business 2020) ของประเทศต่าง ๆ รวม 190 ประเทศ ผลปรากฏว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 21 ดีขึ้น 6 อันดับ จากอันดับที่ 27 ในปีที่แล้ว โดยประเทศไทยได้รับคะแนน 80.10 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1.65 คะแนน นับเป็นอันดับที่ดีที่สุดของไทยในรอบ 6 ปี และมีคะแนนขึ้นมาใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์ ซึ่งอยู่อันดับที่ 2 (86.20 คะแนน) และมาเลเซีย ซึ่งอยู่อันดับที่ 12 (81.50 คะแนน)

การที่ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นในครั้งนี้เป็นผลจากความพยายามของภาครัฐในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามลดขั้นตอนการขออนุมัติ หรือการนำระบบดิจิทัลเข้ามาให้บริการภาครัฐ รวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับบริบททางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้ดีขึ้น รวมถึงการคุ้มครองผลประโยชน์ของนักลงทุน รายงานฉบับนี้สะท้อนถึงความสำเร็จของประเทศไทยในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจในรอบปีที่ผ่านมา โดยด้านที่ไทยได้รับอันดับดีขึ้นและคะแนนสูงขึ้นมีอยู่ 2 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง (Dealing with Construction Permits) ที่ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นจากอันดับที่ 67 (71.86 คะแนน) ในปีที่แล้ว เป็นอันดับที่ 34 (77.30 คะแนน) ในปีนี้ เป็นผลมาจากการดำเนินการลดขั้นตอนในการขออนุญาตก่อสร้าง (Procedures) ลงจาก 19 ขั้นตอน เหลือ 14 ขั้นตอน และลดระยะเวลาดำเนินการ (Time) ลงจาก 118 วัน เหลือ 113 วัน และ (2) ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย (Protecting Minority Investors)

โดยประเทศไทยมีอันดับที่ดีขึ้นจากอันดับที่ 15 (75.00 คะแนน) ในปีที่แล้ว เป็นอันดับที่ 3 (86.00 คะแนน) ในปีนี้ จากคะแนนด้านการคุ้มครองสิทธิของผู้ถือหุ้น (Ease of Shareholder Suits Index) ที่เพิ่มขึ้นจาก 8 คะแนนเป็น 9 คะแนน โดยมีคะแนนเต็มอยู่ที่ 10 คะแนน แม้ว่าจะมีอันดับโดยรวมดีขึ้นมากในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังจำเป็นต้องดำเนินการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้มีความสะดวกและเอื้อต่อการแข่งขันของผู้ประกอบการในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ในระยะยาว และผลประโยชน์จากการปฏิรูปสภาพแวดล้อมทางธุรกิจจะนำมาซึ่งการเพิ่มการลงทุนและมีการจ้างงานคุณภาพมากขึ้นในอนาคต

อนึ่ง รายงาน Doing Business ของธนาคารโลกมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบสภาพแวดล้อมและการอำนวยความสะดวกของภาครัฐในการประกอบธุรกิจของเอกชนในประเทศต่าง ๆ ครอบคลุมตัวชี้วัดของวงจรธุรกิจตั้งแต่การเริ่มจัดตั้งธุรกิจ การดำเนินธุรกิจ และการเลิกธุรกิจ โดยกำหนดตัวชี้วัดรวมทั้งสิ้น 10 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ 2) ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง 3) ด้านการขอใช้ไฟฟ้า 4) ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน 5) ด้านการได้รับสินเชื่อ 6) ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย 7) ด้านการชำระภาษี 8) ด้านการค้าระหว่างประเทศ 9) ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และ 10) ด้านการแก้ปัญหาการล้มละลาย