Micro Fulfillment โมเดลค้าปลีก 5.0

Micro Fulfillment โมเดลค้าปลีก 5.0

สำหรับธุรกิจค้าปลีก การบริหารจัดการ Supply Chain กำลังเดินไปสู่จุดที่ยากลำบากมากขึ้น การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่มาพร้อมกับความคาดหวังของลูกค้าที่สูงขึ้นทั้งในเรื่องของความเร็ว การเปรียบเทียบราคา การให้บริการ รวมถึงความหลากหลายของสินค้า

ทำให้บริบทการทำงานของ Supply Chain  เปลี่ยนแปลงไป ที่ถึงแม้ธุรกิจค้าปลีกที่เป็นผู้นำตลาดหลายรายพยายามจะส่งเสริมและพัฒนาช่องทางออนไลน์ของตัวเองให้เข้าถึงผู้บริโภค เพื่อทำให้แข่งขันกับธุรกิจออนไลน์รายเล็กให้ได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาก็คือยิ่งไซส์ของธุรกิจใหญ่ขึ้นเท่าไหร่ ต้นทุนการบริหารจัดการ Supply Chain ยิ่งสูงทำให้การจัดส่งของแบบ Direct to Consumer ยังเป็นข้อจำกัดอย่างมากทั้งเรื่องของระบบงานและค่าใช้จ่าย  ผู้บริหารธุรกิจค้าปลีกรายหนึ่งบอกว่าในแต่ละ Order ที่เข้ามาบนช่องทางออนไลน์ จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการจัดส่งที่เพิ่มขึ้นสูงมา ทั้งในมุมการจัดการ Supply Chain และ Logistics พูดง่ายๆก็คือธุรกิจค้าปลีกอยู่ในสถานะจำเป็นที่ต้องแบกรับต้นทุนเหล่านี้เพื่อให้คงสถานะในการแข่งขันกับช่องทางออนไลน์ให้ได้  ซึ่งถ้ามองไปที่ร้านค้าออนไลน์ขนาดเล็ก การบริหารจัดการเรื่องการ เก็บ-แพค-ส่ง หรือที่เรียกกันว่า Fulfillment จะมีความซับซ้อนน้อยกว่า เพียงแค่ว่าต้องหาผู้ให้บริการ Fulfillment service  ที่สามารถตอบโจทย์เรื่องของราคา การบริการแพคของและพื้นที่การจัดส่งที่ครอบคลุม            

การเปลี่ยนแปลงของ Logistics Ecosystem ที่รองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ในระยะสองสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นธุรกิจการให้บริการ Fulfillment  เก็บ-แพค-ส่ง เกิดขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็วตามดีมานด์ของตลาดออนไลน์ สตาร์ทอัพหลายรายที่เข้ามาเล่นในธุรกิจนี้ส่วนใหญ่มักจะมีประสบการณ์ในแวดวงโลจิสติคส์หรือซัพพลายเชนมาก่อน บางรายที่ทำมาหลายปีบ่นว่าถึงแม้จะมีอัตราการเติบโตที่ดีแต่ธุรกิจนี้ดูเหมือนจะไม่ค่อย Sexy เท่าไหร่ในมุมของ VC เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องมีการลงทุนเรื่อง Asset ค่อนข้างมากและมีการแข่งขันตัดราคาค่าบริการกันอย่างดุเดือด นักลงทุนบางรายมองว่าธุรกิจนี้มีโมเดลที่เป็น SME มากกว่าสตาร์ทอัพ เพราะจะ Scale ค่อนข้างลำบากและต้องลงทุนสูง แต่มุมมองเหล่านี้กำลังจะเปลี่ยนไป เพราะในอนาคตอันใกล้ลูกค้าที่จะใช้บริการ เก็บ-แพค-ส่ง อาจไม่ได้เป็นแค่ร้านค้าออนไลน์รายย่อยหรือสินค้าในกลุ่มแฟชั่นที่เป็นอยู่อย่างในปัจจุบัน แต่โมเดลธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ในอนาคตจำเป็นที่จะต้องมี Micro fulfillment center หรือศูนย์เก็บ-แพค-ส่ง ขนาดเล็กที่อยู่ในเมือง ใกล้แหล่งชุมชน เพื่อทำให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนการจัดเก็บและทำให้การจัดส่งให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

คลื่นของ E-commerce ที่คืบคลานเข้าสู่กระแสหลักและครอบคลุมกลุ่มสินค้าที่หลากหลายขึ้น จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านระบบการบริหารจัดการซัพพลายเชนตั้งแต่รูปแบบการบริหารจัดการคลังสินค้า เทคโนโลยีที่นำมาใช้ และ รูปแบบการจัดส่งสินค้า มีการคาดการณ์ว่าจุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานก็คือ การเติบโตของ Online Grocery ที่จะครองสัดส่วนมากกว่า 20% ของยอดขายรวมทุกช่องทางภายในปี 2023 ตัวแปรนี้จะส่งผลอย่างมากต่อระบบนิเวศทางโลจิสติคส์ของธุรกิจค้าปลีก เพราะสินค้าอุปโภคบริโภคเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงธุรกิจค้าปลีก ทั้งในด้านรายได้ ฐานลูกค้าขนาดใหญ่และการหมุนเวียนของสินค้า สัญญานนี้สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซอย่าง Amazon ที่เข้าซื้อกิจการ Wholefood ซูเปอร์มาร์เก็ตและล่าสุดเพิ่มการลงทุนในสตาร์ทอัพกลุ่มที่ทำเรื่อง Logistics และ Fulfillment Center

สตาร์ทอัพที่อยู่ในจอเรดาร์ของยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซมีกลุ่มหลักๆอยู่สามกลุ่ม กลุ่มแรกคือ Automated Micro Fulfillment ล่าสุดมีสองรายที่ได้รับเงินลงทุนในระดับ Series B แล้วคือ CommonSense Robotics และ Take Off Technologies  กลุ่มที่สองก็คือกลุ่ม On Demand Warehouse ที่เปรียบเสมือน AirBnB สำหรับธุรกิจคลังสินค้า กลุ่มที่สามคือกลุ่มเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การบริหาร Warehouse และ การจัดส่ง Last mile delivery อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น AI, Warehouse Management Software, IoT, และ Robotics

การเปลี่ยนผ่านของธุรกิจค้าปลีกจาก B2B2C อาจแปรผันไปได้อีกหลายรูปแบบหลายโมเดล ไม่ว่าจะเป็น Direct to consumer  หรือกระทั่ง C2B  ที่มีผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางและทุกธุรกิจต้องแข่งขันกันอย่างหนักหน่วงเพื่อช่วงชิงลูกค้าบนพื้นฐานของโครงสร้างธุรกิจที่ต้องมี Efficiency สูงสุด การเร่งปรับตัว พัฒนาเทคโนโลยีและโมเดลการให้บริการเพื่อรองรับกระแสของการเปลี่ยนแปลงจะกลายเป็นบททดสอบสำคัญที่จะบ่งบอกว่าใครจะได้ไปต่อ!