ศตวรรษ 'ผู้สูงวัย' ฝันร้ายทางเศรษฐกิจของเอเชีย

ศตวรรษ 'ผู้สูงวัย' ฝันร้ายทางเศรษฐกิจของเอเชีย

ศตวรรษผู้สูงวัย ฝันร้ายทางเศรษฐกิจขอภูมิภาคเอเชียที่เริ่มเป็นจริง และประชากรสูงวัยกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม การดำเนินกลยุทธทางธุรกิจและการกำหนดนโยบายของรัฐบาล

ตั้งแต่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไปจนถึงจีน และประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชากรสูงวัยกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม การดำเนินกลยุทธทางธุรกิจและการกำหนดนโยบายของรัฐบาล ที่สำคัญแนวโน้มนี้อาจจะปรับเปลี่ยนสมดุลอำนาจโลกและภูมิภาคใหม่ เพราะขณะที่เศรษฐกิจบางประเทศชลอตัวลงอย่างรุนแรงเนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอลงเพราะเป็นสังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ แต่เศรษฐกิจบางประเทศกลับเจริญเติบโตต่อเนื่องเพราะมีประชากรวัยทำงานจำนวนมากในระบบเศรษฐกิจ

157187355353

อย่างไรก็ตาม มีการพูดคุยกันถึงผลกระทบของสังคมสูงวัยที่มีต่อระบบเศรษฐกิจมานานหลายปีแล้ว เพียงแต่สิ่งที่หลายคนกลัวว่าจะเกิดผลกระทบที่เลวร้ายจากสิ่งนี้กำลังกลายเป็นความจริง

“ฉันอยากมีลูก แต่ตอนนี้ฉันและสามียังไม่มีบ้าน เมื่อคิดถึงเรื่องเงินขึ้นมา เราเลยไม่กล้าที่จะมีลูก”หญิงชาวเกาหลีใต้ ในวัย 30 ปีต้นๆ กล่าว

คำพูดของหญิงชาวเกาหลีใต้รายนี้เหมือนกับผู้คนอีกจำนวนมากในประเทศนี้ที่ตัดสินใจเลื่อนการมีลูกออกไปเพราะปัญหาเศรษฐกิจ จึงทำให้ประชากรวัยทำงานในเกาหลีใต้ ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปี-64 ปี ลดลงเป็นครั้งแรกในปี 2560 และคาดการณ์ว่า จำนวนประชากรในเกาหลีใต้โดยรวมในปีหน้าจะลดลงอีก

สำนักงานสถิติของเกาหลีใต้ ระบุว่าอัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศเมื่อปี 2561 ลดลงต่ำสุด นับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บสถิติเมื่อปี 2513 โดยอัตราการเจริญพันธุ์ หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่กำเนิดจากผู้หญิง 1 คน ในปี 2561 อยู่ที่ 0.98 ต่อคน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย 2.1 คน เพื่อรักษาระดับประชากรปัจจุบันหมายความว่าประชากรเกาหลีใต้อาจเริ่มลดลงภายในเวลาไม่ถึงสิบปี

ที่ผ่านมาตั้งแต่ ปี 2548 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลเกือบ 135 ล้านล้านวอน เพื่อเพิ่มอัตราการเกิด ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินอุดหนุนพ่อแม่ และออกโครงการรณรงค์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ชาวเกาหลีใต้แต่งงานและมีบุตร แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งเรื่องนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมีความเห็นว่า สาเหตุที่ชาวเกาหลีใต้ไม่ยอมมีบุตรมีตั้งแต่เรื่องค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตร อัตราการว่างงานของประชากรวัยรุ่นที่สูง ภาระของคนที่เป็นแม่ต้องทำงานบ้านและเลี้ยงดูลูก ไปพร้อมๆ กับทำงาน ไปจนถึงสภาพสังคมที่แข่งขันกันสูง จนมีการคาดการณ์กันว่า ภายในปี 2608 เกาหลีใต้จะกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แบบ

157187358693

ส่วนในจีน แม้รัฐบาลจะยกเลิกนโยบายมีลูกคนเดียวไปแล้วเมื่อปี 2559 แต่ก็ปรากฏว่าไม่มีผลอะไรกับอัตราการเกิดใหม่ในจีนและดูเหมือนว่าการยกเลิกนโยบายนี้จะช้าไปหน่อย เพราะอัตราการเกิดใหม่ในจีนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งในปี 2560 และปี 2561

ล่าสุด วินด์ อินฟอร์เมชัน บริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงินของจีน รายงานว่า ชาวจีน ให้กำเนิดบุตรจำนวน 15.23 ล้านคนในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2504 ซึ่งในปีดังกล่าว มีทารกเกิดจำนวน 11.87 ล้านราย อีกทั้งอัตราการเกิดในปีที่แล้วต่ำกว่าปี 2560 ราว 11.6%

ขณะเดียวกัน จีนมีจำนวนประชากร 1.395 พันล้านคนในปีที่แล้ว มากกว่าปี 2560 ราว 3.81% แต่รัฐบาลจีนก็คาดการณ์ว่า จำนวนประชากรจะแตะระดับสูงสุดที่ 1.442 พันล้านคนในปี 2572 ก่อนที่จะลดลงหลังจากนั้น ขณะที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น)ระบุว่า จำนวนชาวจีนที่มีอายุระหว่าง 16-59 ปีปรับตัวลดลงตั้งแต่ปี 2557 และปีที่แล้ว ประชากรกลุ่มอายุดังกล่าวของจีนร่วงลงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 900 ล้านคนเป็นครั้งแรก

มีความเป็นไปได้สูงที่อัตราการเกิดใหม่ในจีนจะลดลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากอัตราการแต่งงานของชาวจีนยุคใหม่ในปี 2560 ปรับตัวลงเป็นปีที่4 ติดต่อกัน ส่วนภาคธุรกิจก็จัดทำแผนการตลาดกระตุ้นยอดขายที่เน้นเจาะกลุ่มคนโสด เช่น ทีมอลล์ เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของอาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิง ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินกลยุทธเจาะตลาดคนโสดอย่างมาก อาทิ การจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงขนาด 100 กรัม และไวน์ขนาด 200 มิลลิลิตร

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ(โออีซีดี)ระบุว่า แนวโน้มด้านประชากรศาสตร์ของทั้ง3ประเทศที่กล่าวมาข้างต้นน่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยตั้งแต่ปี 2563-2603 คาดการณ์ว่าประชากรวัยทำงานในญี่ปุ่นจะลดลง 30% ในเกาหลีใต้ลดลง 26% และในจีนจะลดลง 19% พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า ผู้รับบำนาญที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะมีสัดส่วนมากกว่า 30% ของประชากรในประเทศต่างๆเหล่านี้ภายในปี 2603

ประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชีย อย่าง ฮ่องกง สิงคโปร์ และไทย ก็มีแนวโน้มด้านประชากรลักษณะเดียวกับสามประเทศที่กล่าวมาข้างต้น ยกเว้นบางประเทศอย่าง อินเดีย และอินโดนีเซีย ที่มีประชากรวัยทำงานขยายตัวอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2603 เช่นเดียวกับในสหรัฐ ที่คาดว่าจะมีประชากรวัยทำงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจุดนี้จะทำให้สหรัฐได้เปรียบจีน คู่แข่งทางเศรษฐกิจ

ส่วนประเทศที่มีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น เริ่มรับรู้ถึงผลกระทบของปัญหานี้ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ตัวอย่างเช่น จีน ที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเริ่มชลอตัวลง โดยเศรษฐกิจจีนตั้งแต่ปี 2553 ถึง 2563 ที่คาดว่าจะขยายตัวโดยเฉลี่ย 7.1% เริ่มส่งสัญญาณชัดเจนขึ้นเรื่อยๆว่าจะขยายตัวลดลงเหลือ 1.5% ตั้งแต่ปี 2583-2593 ซึ่งถือว่าชลอตัวมากกว่าอินเดียที่คาดว่าจะขยายตัวที่อัตรา 3.7% และสหรัฐที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.0%

แนวโน้มลักษณะนี้ ทำให้ภาคธุรกิจเหนื่อยมากกว่าปกติในการทำตลาด และกระตุ้นยอดขายให้ได้ตามเป้า แถมยังต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้สอดรับกับความต้องการของตลาดที่มีผู้บริโภคสูงวัยเพิ่มขึ้น