ดันซุปเปอร์คลัสเตอร์ ยกระดับเอสเอ็มอีเชื่อมรายใหญ่ 'อีอีซี'

ดันซุปเปอร์คลัสเตอร์ ยกระดับเอสเอ็มอีเชื่อมรายใหญ่ 'อีอีซี'

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ยกระดับมาตรฐาน "เอสเอ็มอี" ในอีอีซี สร้างซุปเปอร์คลัสเตอร์ เชื่อมผู้ประกอบการรายใหญ่ ชิงโอกาสธุรกิจ

นายวุฒิชัย ประชาพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 9 มีหน้าที่ดูแลผู้ประกอบการในภาคตะวันออก ประกอบด้วย 9 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ตราด ระยอง จันทบุรี ปราจีนบุรี นครนายก สระแก้ว ซึ่งได้รับมอบหมายให้มุ่งเน้นการส่งเสริมผู้ประกอบการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ด้วย

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 จะมุ่งเน้นส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต เพื่อเชื่อมโยงรองรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในกลุ่ม อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ได้ในอนาคต รวมทั้งการเชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ภาครัฐเข้าไปลงทุน และการขยายตัวด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอีอีซี อย่างเต็มที่

“การที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะเข้าไปเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช่เทคโนโลยีชั้นสูง จำเป็นจะต้องปรับตัวในด้านมาตรฐานการผลิตและระบบไอที เพื่อที่จะตอบโจทย์อุตสาหกรรมรายใหญ่ที่จะเข้ามาลงทุนได้”นายวุฒิชัย กล่าว

เตรียมพร้อมอุตสาหกรรม 4.0

ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563 จะเร่งดำเนินงานใน 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.พัฒนาผู้ประกอบการและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร 2.การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 

โดยการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้รับงบประมาณจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 4.5 ล้านบาท ตามแผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค โดยจะมุ่งเน้นในสาขาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ มีเป้าหมายพัฒนาผู้ประกอบการ 20 กิจการ พัฒนาบุคลากร 50 คน และ 1 กลุ่มคลัสเตอร์

“กลุ่มคลัสเตอร์เป้าหมายที่จะเข้าไปพัฒนาใน อีอีซี จะเป็นกลุ่มโลจิสติกส์ เพื่อให้สามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของเอสเอ็มอีในพื้นที่ และการเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานที่ภาครัฐได้เข้าไปลงทุน ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับเอสเอ็มอีในพื้นที่”นายวุฒิชัย กล่าว

สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มนี้ จะให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่สถานประกอบการในการส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถ และประสิทธิภาพในด้านมาตรฐาน ,ผลิตภาพ หรือนวัตกรรมในด้านใดด้านหนึ่ง การพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม พัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม (Super Cluster) เพิ่มมูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก 

พัฒนาฝีมือแรงงาน“อีอีซี”

รวมทั้งการพัฒนาแรงงานในเขตอีอีซีที่มีทักษะฝีมือที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมเดิมที่มีการต่อยอดสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้ ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นของตนเอง และการเผยแพร่องค์ความรู้กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะเกิดมูลค่าการหมุนเวียนในเชิงเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 13.5 ล้านบาท

ส่วนเรื่องที่ 2 พัฒนาผู้ประกอบการและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ได้รับงบประมาณจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในด้านนี้ 13 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นในสาขาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และอาหารแปรรูป มีเป้าหมาย 20 กิจการ พัฒนาบุคลากร 160 คน และ 1 กลุ่มคลัสเตอร์ โดยขณะนี้กำลังคัดเลือกคลัสเตอร์ที่จะเข้าไปส่งเสริม ได้แก่ คลัสเตอร์เกษตรอินทรีย์ , คลัสเตอร์สมุนไพร และคลัสเตอร์ผลไม้ เพื่อเชื่อมโยงรองรับโครงการ ระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (อีเอฟซี)

“ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาด้านมาตรฐานที่จำเป็น เพื่อนำสินค้าเข้าไปขายในโมเดิร์นเทรด และการส่งออก จะต้องตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกด้าน รวมทั้งการพัฒนาระบบการค้าออนไลน์ เพื่อเปิดไปสู่ตลาดโลก”

157183788366

สร้างผู้ประกอบการพันธุ์ใหม่

สำหรับกิจกรรมการดำเนินงาน จะสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรแปรรูปพันธุ์ใหม่ พัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูปภาคตะวันออก และการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (อีเอฟซี) 

ทั้งนี้ ผลที่ได้รับคาดว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันออกเกิดการขยายตัว มีการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และอาหารแปรรูปเพิ่มขึ้น ห่วงโซ่ธุรกิจของอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และอาหารแปรรูปในพื้นที่ภาคตะวันออกมีรายได้เพิ่มขึ้นทำให้ จีดีพี ของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น และลดปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด และราคาตกต่ำ รวมทั้งทำให้เกิดมูลค่าการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 13.4 ล้านบาท

นายวุฒิชัย กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 ในปีงบประมาณ 2562 ได้รับงบประมาณ 25 ล้านบาท มีเป้าหมายส่งเสริมเอสเอ็มอีในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และเกษตรแปรรูป โดยได้ส่งเสริมเอสเอ็มอีกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ไปแล้ว 145 กิจการ แบ่งเป็น จ.ฉะเชิงเทรา 19 กิจการ จ.ชลบุรี 112 กิจการ และ จ.ระยอง 14 กิจการ 

โดยในจำนวนนี้ เป็นการพัฒนาด้านมาตรฐาน 24 กิจการ พัฒนาด้านผลิตภาพ 110 กิจการ และพัฒนาด้านนวัตกรรม 11 กิจการ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 347.3 ล้านบาท แบ่งเป็นการลดต้นทุน 134 ล้านบาท ของเสียลดลง 54 ล้านบาท และยอดขายเพิ่มขึ้น 158 ล้านบาท

พัฒนาผู้ประกอบการเกษตร

ส่วนการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ได้เข้าไปพัฒนาสถานประกอบการแล้ว 135 กิจการ แบ่งเป็นใน จ.ฉะเชิงเทรา 40 กิจการ จ.ชลบุรี 56 กิจการ และจ.ระยอง 39 กิจการ โดยเป็นการพัฒนาด้สนมาตรฐาน 21 กิจการ ด้านผลิตภาพ 93 กิจการ และด้านนวัตกรรม 21 กิจการ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 326 ล้านบาท

ขณะที่การยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และอาหารแปรรูป สู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้รับงบประมาณ 11 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.การยกระดับวิสาหกิจชุมชนสู่มาตรฐานอาหารปลอดภัย สามารถยกระดับได้ 3 กลุ่ม คลัสเตอร์ จังหวัดละ 1 กลุ่ม

2.ยกระดับสินค้าอาหารและสินค้าเกษตรแปรรูปไปสู่มาตรฐาน 20 กิจการ แบ่งเป็น จ.ฉะเชิงเทรา 8 กิจการ จ.ชลบุรี 7 กิจการ จ.ระยอง 5 กิจการ และ 3.การพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปด้วยเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม โดยได้ส่งเสริม 20 กิจการ