สวนยางผวา”มาตรการยุโรป” เฟ้นสินค้าต้องไม่ทำลายป่า

สวนยางผวา”มาตรการยุโรป” เฟ้นสินค้าต้องไม่ทำลายป่า

การส่งออกยางพาราและไม้ยางพารา ซึ่งเป็นรายได้สำคัญของเกษตรกรชาวสวนยาง ยังมีอีกปัจจัยยากลำบากที่กำลังจะเกิดขึ้น

          ขวัญชัย ดวงสถาพร หัวหน้าภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าในปี2563 สหภาพยุโรปหรืออียู จะประกาศไม่รับซื้อน้ำยางและไม้ยางที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน ทั้ง Forest Stewardship Council (FSC) และ Program for the Endorsement of Forest Certification (PEFC) ซึ่งจะกระทบกับการส่งออกของไทย แม้ว่าจะไม่มากเมื่อเทียบกับการส่งออกภาพรวมที่ไทยส่งไปจีนเป็นตลาดหลัก แต่จีนก็เตรียมความพร้อมที่จะประกาศใช้มาตรการดังกล่าวในเร็วๆ นี้

         ทั้งหมดถือเป็นวิกฤตของอุตสาหกรรมยางของไทยในระยะยาว เนื่องจากในขณะนี้ไทยมีสวนยางที่มีการจัดการและได้รับการรับรองตามมาตรฐานการจัดการป่าไม้ในระดับนานาชาติเพียง 1.2 แสนไร่ หรือ 0.5% ของพื้นที่สวนยางทั้งประเทศเท่านั้น

          ในขณะที่เกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจไม้ยางพาราส่วนใหญ่ไม่เข้าใจในมาตรฐานการรับรองการจัดการป่าไม้ในระดับนานาชาติที่ดีพอ และมาตรฐานการรับรองของ FSC จะเปลี่ยนจากเวอร์ชั่น 4 เป็น เวอร์ชั่น 5 ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งมีเงื่อนไขเพิ่มมากขึ้น

        ดังนั้นรัฐบาลควรกำหนดเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติเร่งด่วนในการพัฒนาศักยภาพของการทำสวนยางพาราทั้งระบบเพื่อให้ได้รับการรับรองการจัดการป่าไม้ในระดับนานาชาติ กำหนดหรือสร้างองค์กรที่มีภารกิจในการรับมือ เจรจา และสร้างการรับรู้กับผู้เกี่ยวข้อง

     “การจัดการสวนยางพาราที่มีอยู่หลากหลายรูปแบบในประเทศไทย เช่น การปลูกเชิงเดี่ยว และการปลูกพืชร่วมยางพารา เพื่อรองรับการตรวจมาตรฐาน ภายใน 1-2 ปี และ ผลักดัน เร่งรัด และเพิ่มศักยภาพให้สวนยางพาราไทยผ่านมาตรฐานการรับรองการจัดการป่าไม้ในระดับนานาชาติตามปริมาณและความต้องการของผู้ซื้อภายใน 2 ปี”

          นายแพทย์ศิริฤกษ์ ทรงวิไล ผู้อำนวยการสำนักการวิจัยแห่งชาติ( วช.)กล่าวว่า ล่าสุดในช่วงต้นเดือนต.ค. ที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านยางรถยนต์ (มิชลิน) ของประเทศฝรั่งเศส และเฟอร์นิเจอร์ (อิเกีย) ของประเทศสวีเดน ได้ประกาศว่าในอีก 2 เดือนข้างหน้า ทั้ง 2 บริษัทจะไม่ซื้อยางพารา และไม้ยางพาราที่มีการบุกรุกป่า และยังมีบริษัทจากต่างประเทศอีกหลายแห่งแสดงท่าดีตาม ดังนั้นเกษตรกรไทยทั้งรายเล็ก และรายใหญ่ ต้องปรับตัว สามารถปฏิบัติ หรือจัดการสวนยางพาราให้สอดคล้องกับมาตรฐาน

         นายแพทย์สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า ปัจจุบันยางและไม้ยางพาราถูกกดราคาจากประเทศผู้นำเข้าโดยใช้ข้อกีดกันทางการค้าอื่นที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การบุกรุกป่าเพื่อปลูกยาง การใช้สารเคมีบางชนิด การตัดต้นยางพาราที่ไม่ถูกวิธี การไม่อนุรักษ์พื้นที่ป่าอนุรักษ์และสัตว์ป่า เป็นต้น

          สกสว. จึงให้ทุนสนับสนุนการทำวิจัยปัญหาดังกล่าวมาตั้งแต่ ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน  เพื่อจัดทำมาตรฐานการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องและเหมาะสมกับรูปแบบการจัดการรวมทั้งขนบธรรมเนียม และวิถีชีวิตของชาวสวนยางไทย

         โดยต้องเป็นที่ยอมรับขององค์กรมาตรฐานระหว่างประเทศทั้ง FSC และ PEFC เช่นมาตรฐานการจัดสวนป่าไม้อย่างยั่งยืน มอก.14061, FSC Thailand รวมทั้งการให้ความรู้แก่เกษตรกร โดยการฝึกอบรม และจัดทำเอกสารคู่มือเผยแพร่ เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถเข้าสู่การรับรองมาตรฐานการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืนต่อไปได้

         

          ณรงค์ศักดิ์ ใจสมุทร ผู้อำนวยการการยางแหงประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนบน (กยท.) กล่าวว่าจากนโยบายของกยท.ที่ไม่ต่อเนื่อง ในขณะที่เกษตรกรที่ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย และไม่ตระหนักถึงความยั่งยืนของสวนป่า ส่วนใหญ่ยังคิดว่าเป็นเรื่องจุกจิกหลายขั้นตอนขัดกับวิถีการทำสวนยาง เช่นต้องสวมเสื้อผ้าอย่างรัดกุม ไม่ใช้แรงงานเด็ก ซึ่งบางครั้งเป็นลูกหลาน การบันทึกขั้นตอนรายละเอียดการทำงาน ที่สำคัญเมื่อทำไปแล้วไม่ได้ส่่งผลให้ราคาน้ำยางและไม้ยางมีราคาสูงขึ้น จึงทำให้การผลักดันของกยท.ในเรื่องดังกล่าวมีความล่าช้า

           อย่างไรก็ตาม หลังจากปี2562 ที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง กยท.มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้น้ำยางและสวนยางของไทยผ่านการรับรองอย่างน้อย 50 % หรือประมาณ 10 ล้านไร่ ให้ได้ภายใน 10 ปีนี้ โดยเดือน ม.ค. 63 พื้นที่สวนยางของกยท.จะผ่านการรับรองอีก 8,050 ไร่ และผลักดันให้พื้นที่ปลูกทดแทนปีละ 4 แสนไร่ได้รับรองมาตรฐานทั้งหมด

           รวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรรวมเป็นแปลงใหญ่เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการสวนและได้รับรองมาตรฐาน โดยจะเริ่มต้นในพื้นที่ภาคตะวันออกก่อน โดยมี 3 157175512487 บริษัทที่เป็นผู้ตรวจสอบและให้การรับรองมาตรฐานในขณะนี้คือ บริษัท บูโร เวอริทัส (ประเทศไทย) บริษัท SGS และ บริษัทคอนโทรลยูเนี่ยน

           อรุณวรรณ เพชรสังข์ ผู้แทนบริษัทศรีตรังแอโกร อินดัสทรี จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ผู้ส่งออกยางพาราและน้ำยางได้รับแรงกดดันจากประเทศผู้นำเข้ามาโดยตลอด ซึ่งผู้ประกอบการขณะนี้มีเพียงศรีตรังเท่านั้นที่ น้ำยางและไม้ยางได้รับรองมาตรฐานหมดแล้ว เรื่องนี้จะทำได้ง่ายขึ้นหาก องค์กร FSC ยอมรับการยกระดับมาตรฐาน มอก.14061 ในขณะที่ไทยต้องเร่งมาตรฐาน FSC Thailand ให้เสร็จและเป็นที่ยอมรับของสากลให้เร็วที่สุด