‘กรุงศรี’เปิดสินเชื่อเพื่อ'ผู้หญิง' ตั้งเป้าปล่อยกู้ 7พันล้าน

‘กรุงศรี’เปิดสินเชื่อเพื่อ'ผู้หญิง'  ตั้งเป้าปล่อยกู้ 7พันล้าน

"กรุงศรี" เปิดสินเชื่อใหม่ เน้นปล่อยกู้เฉพาะเอสเอ็มอีผู้หญิง นำเงินจากการขายพันธบัตรเพื่อผู้ประกอบการผู้หญิง หรือ เจนเดอร์บอนด์ มาปล่อยกู้วงเงิน 7 พันล้าน หลังพบเจ้าของกิจการที่เป็นผู้หญิง เข้าถึงสินเชื่อได้ยากกว่าผู้ประกอบการทั่วไป

นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการเข้าไปปล่อยสินเชื่อเฉพาะกลุ่ม สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารในประเทศไทย

 หลังจากได้เงินจากการขายพันธบัตรเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการผู้หญิง หรือ Gender Bond ให้กับบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (International Finance Corporation หรือ IFC) ซึ่งเป็นองค์กรสมาชิกกลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) และ DEG (Deutsche Investitions und Entwicklungsgesellschaft) ในวงเงินไม่เกิน 220 ล้านดอลลาร์ หรือราว 7,000 ล้านบาท

โดยการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้บริหารผู้หญิงนั้น เนื่องจากธนาคารมองว่า การเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการผู้หญิงในช่วงที่ผ่านมา มักเข้าถึงสินเชื่อได้ยาก หากเทียบกับผู้ประกอบการทั่วไป ดังนั้นธนาคารมองว่า การเข้าไปซัพพอร์ตสินเชื่อกลุ่มนี้ ถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้กลุ่มผู้หญิงมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น อีกทั้งการประกอบธุรกิจโดยผู้หญิงส่วนใหญ่ มักมีการตระหนักและคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อวงเงิน 7,000 ล้านบาท เป็นการปล่อยผ่านกลุ่มลูกค้า Business Banking ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่แล้วราว 4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นฐานลูกค้าที่เข้าถึงสินเชื่อแล้วราว 2.6 หมื่นราย โดยเกือบครึ่งหรือ 40% เป็นผู้หญิง 

ส่วนการปล่อยสินเชื่อครั้งนี้ ธนาคารแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม โดยแบ่งเป็นการปล่อยกู้ให้กับบุคคลธรรมดา วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท และเป็นผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลวงเงินไม่เกิน 20ล้านบาท โดยคาดว่า ภายใต้วงเงินดังกล่าว น่าจะมีส่วนสำคัญในการเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าที่เป็นผู้หญิงได้ถึง 350 ราย จากปัจจุบันธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อคงค้างของกลุ่มเอสเอ็มอีอยู่ที่  2.71 แสนล้านบาท

เขากล่าวต่อว่า  การดำเนินโครงการดังกล่าว ธนาคารถือเป็นองค์กรแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และไทยเป็นประเทศแรกที่ออก Gender Bond ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่นำเงินมาปล่อยให้กับผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิงโดยเฉพาะ

“เราถือเป็นธนาคารแรกในภาคพื้นเอเชีแปซิฟิกที่เข้าไปทำโครงการนี้ เพราะที่ผ่านมาเราตระหนักดีว่า การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม เป็นสิ่งที่ยั่งยืนมากขึ้น และทุกแห่งต้องตระหนักมากขึ้น ดังนั้นการให้โอกาสกลุ่มผู้ใหญ่เข้าถึงสินเชื่อก็ถือเป็นสิ่งที่แบงก์เข้าไปมีส่วนช่วยสังคมให้มีโอกาสได้เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน"

เขากล่าวว่า ไม่เพียงแค่กลุ่มนี้ แต่การดำเนินธุรกิจของธนาคาร ยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในการเข้าไปปล่อยสินเชื่อที่ธนาคารมีความรอบคอบมากขึ้น ในการเข้าไปปล่อยสินเชื่อ เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือเกิดผลกระทบต่อสังคม และเชื่อว่าในระยะข้างหน้า แนวโน้มการออกบอนด์เพื่อสิ่งแวดล้อม และสังคม จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบาย ESG เนื่องจากนักลงทุนมุ่งเน้นการลงทุนเพื่อความยั่งยืน