ดีเดย์ประมูล5จี ก.พ.63 ปล่อย4คลื่น "56ไลเซ่นส์"

ดีเดย์ประมูล5จี ก.พ.63 ปล่อย4คลื่น "56ไลเซ่นส์"

กสทช ร่นประมูลเร็วขึ้น ยังอุบ “ราคา” คาดไม่เกิน ส.ค.นี้ได้ใช้5จีบางส่วน

กสทช.ขอยืนหนึ่งในอาเซียน ร่นเวลาประมูล 5จี ก.พ.ปี63 ปล่อยคลื่นเอกชนพร้อมกัน 4 ย่านความถี่จำนวน 56 ใบอนุญาต คาดไม่เกินส.ค.นี้ไทยเข้าสู่5จีได้บางพื้นที่ ส่วนราคาคลื่น “ฐากร” อุบขอเปิดเผยวันที่ 30 ต.ค.นี้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เพื่อให้การแข่งขันด้านเทคโนโยีและดิจิทัลของไทยทัดเทียมเพื่อนบ้าน และเพื่อไม่ให้ตกขบวนเทคโนโลยีของโลกโดยเฉพาะที่หลายประเทศจะก้าเข้าสู่การให้บริการ 5จีในปลายปีหน้า และขณะนี้มีหลายประเทศในเอเชียทั้ง จีน และเกาหลีใต้ ต่างทยอยเริ่มทดลองทดสอบการให้บริการ 5จีแล้ว ดังนั้น ในครั้งนี้ไทยจะขอเป็นผู้ให้บริการ 5จีรายแรกในอาเซียน ซึ่งสำนักงานกสทช.จึงได้รีบจัดทำโรดแมพแผนกาประมูลคลื่นความถี่ 5จีใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เท่าทันกับต่างชาติ ดังนั้น กสทช.จะเปิดประมูลคลื่นในช่วงต้นเดือนก.พ.2563

โดยการประมูล 5จีจะเปิดประมูลพร้อมกัน 4 คลื่น ได้แก่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ,1800 เมกะเฮิรตซ์ , 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ โดยผู้เข้าประมูลแต่ละราย สามารถเลือกเองว่าต้องการจะเข้าประมูลคลื่นย่านใด จำนวนเท่าใด แต่คลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ จะกำหนดเพดานคลื่นถือครองได้ไม่เกิน 1200 เมกะเฮิรตซ์ต่อราย ส่วนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ กำหนดเพดานถือครองคลื่นไม่เกิน 100 เมกะเฮิรตซ์ต่อราย เพื่อให้สามารถออกใบอนุญาต 5จีได้ไม่เกิน 20 ก.พ. 2563 และเริ่มลงทุนโครงข่ายในช่วงต้นเดือนมี.ค. 2563 เชื่อว่าไม่เกินเดือนส.ค. ผู้ชนะการประมูลจะสามารถเปิดให้บริการ 5จีในบางพื้นที่ที่มีความต้องการได้

สำหรับการจัดสรรคลื่นย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จะเปิดประมูล 15 เมกะเฮิรตซ์ รวมเป็น 3 ใบอนุญาตๆ ละ 5 เมกะเฮิรตซ์ , คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ประมูล 35 เมกะเฮิรตซ์รวม 7 ใบอนุญาตๆละ 5 เมกะเฮิรตซ์ โดยราคาเริ่มต้นประมูลทั้ง 2 ย่านนี้จะใช้ราคาล่าสุดที่มีการประมูลไปก่อนหน้านี้เป็นราคาเริ่มต้น ส่วนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ประมูล 190 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 19 ใบอนุญาตๆละ 10 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ประมูลจำนวน 2700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 27 ใบอนุญาตๆละ 100 เมกะเฮิรตซ์ รวมทั้งหมดในครั้งนี้เปิดประมูลจำนวน 56 ใบอนุญาต

“วันที่ 30 ต.ค.นี้ จะสามารถเปิดเผยราคาเริ่มต้นการประมูลของคลื่น 2600 และ คลื่น 26 ได้จากผลการศึกษาของ 3 สถาบันการศึกษาในประเทศและ 1 สถาบันการศึกษาต่างประเทศ ส่วนเรื่องค่าเยียวยาคลื่น 2600 ก็จะเดินคู่ขนานกันไปกับการประมูล” นายฐากร กล่าว

ทั้งนี้ กสทช.จะนำเสนอกรอบเวลา และรูปแบบการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5จีให้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการโทรคมนาคมพิจารณาในวันที่ 6 พ.ย. 2562 ก่อนจะส่งต่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. พิจารณาให้เร็วที่สุด เพื่อให้เริ่มประชาพิจารณ์ร่างเงื่อนไขหลักเกณฑ์ต่างๆ ได้ตั้งแต่ 12 พ.ย. 2562 จากนั้นจะประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูล ไม่เกิน 20 ธ.ค. 2562 เพื่อให้ผู้สนใจแสดงความต้องการว่าจะประมูลคลื่นไหนบ้าง ส่วนบมจ.ทีโอที และบมจ.กสท โทรคมนาคม จะเข้าประมูลสามารถทำได้

ส่วนความคืบหน้าในการตั้งคณะกรรมการเตรียมการ 5จีนั้น กสทช.ได้รับมอบหมายจากนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในการทำพรีเซ็นเตชั่นเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการ 5จีเป็นเวลา 3-5 นาที เพื่อให้รัฐมนตรีดีอีนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสนใจนำคลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ไปทดลองในพื้นที่แล้ว ได้แก่ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อใช้ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) โดยทั้ง 2 บริษัทต้องทำหนังสือขอใช้งานมายังกสทช.เพื่อเสนอต่อที่ประชุมกสทช.ต่อไป