จากโบนัสถึงกำไร 'ท่าอากาศยานฯ' ไร้ผลกระทบท่องเที่ยวชะลอตัว

จากโบนัสถึงกำไร 'ท่าอากาศยานฯ' ไร้ผลกระทบท่องเที่ยวชะลอตัว

เพียงประกาศจากบอร์ด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT มีมติให้จ่ายโบนัสพนักงานในระดับที่ไม่น้อยกว่าของปีที่แล้ว เป็นเงิน 1,957 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.25 เท่าของเงินเดือน 

เกิดกระแสอยากเป็นพนักงานธุรกิจสนามบินแห่งนี้บ้าง เพราะในยามเศรษฐกิจไม่ดียังสามารถแจกโบนัสได้สูงขนาดนี้

            หากแต่ในตลาดหุ้นกลับมีมุมมองที่แตกต่างไปเพราะตัวเลขการจ่ายปันผลในรอบปี 2562 นั้นเป็นการจ่ายลดลงเมื่อเทียบกับปี 2561 ที่จ่ายโบนัสพนักงาน 7.75 เท่าของเงินเดือน ซึ่งเป็นปีที่ AOT lk,ki5ทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน  

ขณะที่ปีงบปี 2562  แม้ปริมาณผู้โดยสาร ยังคงขยายตัว แต่อัตราการเติบโตน้อยกว่าเป้าหมาย จากผลกระทบเรื่องสงครามการค้า ทำให้ผู้โดยสารภายในประเทศหดตัว จึงเป็นสาเหตุทำให้ต้องตัดลดค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยพยุงผลประกอบการ  ราคาหุ้น AOT  จึงไม่ค่อยตอบรับข่าวดังกล่าว ราคาร่วงแทบจะรับกับข่าวก็ว่าได้ จนมาปิดที่ราคา   77.00 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง ....     

           

          

ความกังวลใจดังกล่าวมาจากการรายงานกำไรสุทธิงวด 9 เดือน ปี 2562 ที่ผ่านมา อยู่ที่  19,905.19 ล้านบาท ลดลง 18.25 ล้านบาท หรือ 0.09 % เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน มาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงาน ค่าตอบแทนการใช้ ประโยชน์ในที่ราชพัสดุและค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย

            ขณะที่รายได้จากธุรกิจหลักอย่างการบริการสนามบินทั้ง 6 แห่ง ยังเพิ่มขึ้นทำให้มีจำนวนเที่ยวบินรวม 676,925 เที่ยวบิน  เพิ่มขึ้น 3.12 % เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนแบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 367,673 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 309,252 เที่ยวบิน

ด้านจำนวนผู้โดยสารรวมมีทั้งหมด 107.82 ล้านคน  เพิ่มขึ้น 1.52  % เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน  แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 63.37 ล้านคน และผู้โดยสาร ภายในประเทศ 44.45 ล้านคน  

            อย่างไรก็ตามเมื่อดูอัตราการใช้สนามบินและจำนวนผู้โดยสารแต่ละสนามบินกลับพบว่าในรอบ 8 เดือน (ม.ค.- ส.ค. )  โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมีปริมาณจำนวนเที่ยวบิน   331,463 เที่ยว เพิ่มขึ้น  5.81% มีจำนวนผู้โดยสาร 57.63 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.21 %   

           สวนทางกับภายในประเทศที่ตัวเลขลดลงทั้ง 6สนามบิน  โดยมีปริมาณจำนวนเที่ยวบิน   267,813  เที่ยว ลดลง  3.84 % มีจำนวนผู้โดยสาร 38.68 ล้านคน ลดลง 3.33 %  ซึ่งสนามบินหลักอย่างสุวรรณภูมิ และดอนเมือง มีปริมาณจำนวนเที่ยวบินภายในประเทศรวม   168,549เที่ยว ลดลง 3.91 % มีจำนวนผู้โดยสารรวม  28.89 ล้านคน ลดลง 3.15 %

          หากต้องหวนมาดูจุดเด่นของ AOT คือการทำธุรกิจบนสัมปทานแบบไร้คู่แข่งจึงทำให้แม้จะเผชิญข่าวลบจากภาวะตลาดท่องเที่ยวในประเทศชะลอตัวแต่ไม่มีคู่แข่งที่จะเข้ามากดดันเในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น  ยิ่งธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นหัวใจสำคัญที่ภาครัฐต้องการกระตุ้นผ่านหลากหลายมาตรการ

           ล่าสุด ครม. อนุมัติ ‘ชิม ช้อปใช้ เฟส2 ออกมา ซึ่งเน้นกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศต่อเนื่องวงจำกัดสิทธิ 3 ล้านคน ให้ลงทะเบียนวันละ 1 ล้านคน เริ่มเปิดลงทะเบียนตั้งแต่ 24 ต.ค.2562 นอกจากนี้ ยังขยายมาตรการออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2562 จากเดิมที่จะสิ้นสุดวันที่ 30 พ.ย.2562  และยังมีการคืนเงิน ( cash back )เท่ากับ 15% ของยอดการชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน (ภายใต้วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทคน)

           

นอกจากนี้ AOT ยังมีการเตรียมเปิดประมูลงานรับงานสิทธิการประกอบกิจการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.2562 หรืออย่างช้าในเดือน ม.ค.2563  จากสัญญาเดิมของกลุ่มคิงเพาเวอร์หมดอายุสัมปทาน 2565

โดยจะสอดคล้องกับแผนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 เพื่อให้สามารถขยายการรองรับจำนวนผู้โดยสารเพิ่มเป็น 40 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันรองรับได้ 30 ล้านคนต่อปี แต่ปัจจุบันเกินขีดความสามารถไปแล้ว  ซึ่งแน่นอนว่าการประมูลรอบใหม่ย่อมหมายถึงผลตอบแทนที่ AOT จะได้รับเพิ่มมากขึ้น หากเปรียบเทียบกับการแข่งขันประมูลดิวตี้ฟรี สนามบินสุวรรณภูมิที่ผ่านมา

         ดังนั้นผลกระทบระยะสั้นด้านตลาดท่องเที่ยวในประเทศชะลตัว จึงกลายเป็นช่วงจังหวะให้ราคาหุ้นย่อตัวพักฐาน ก่อนที่จะประเมินตัวเลขกำไรงวดปี 2563 จะมีทิศทางอย่างไรต่อไป